เวที‘นโยบาย’ อลหม่านการเมือง เดิมพัน 'นายกฯอิ๊งค์' ครบเทอม?

เวที‘นโยบาย’ อลหม่านการเมือง  เดิมพัน 'นายกฯอิ๊งค์' ครบเทอม?

เวทีแถลงนโยบายรัฐบาล เห็นชัดถึงการเมืองที่กำลังสับสนอลหม่าน จับตา "แพทองธาร" นำทัพฝ่าสารพัดเสี้ยนหนามอยู่ครบเทอม หรือจะมีอุบัติเหตุอะไรระหว่างทางหลังจากนี้อีกหรือไม่?

KEY

POINTS

  • เวทีแถลงนโยบายรัฐบาล เห็นชัดถึงการเมืองที่กำลังสับสนอลหม่าน
  • “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”  ปมทับซ้อน “กลุ่มทุน” 2 พรรคร่วมรัฐบาล
  • ไฟใต้หลอนเพื่อไทย“ปฏิปักษ์ชินวัตร” จ้องสางแค้น
  • จับตา "แพทองธาร" นำทัพฝ่าสารพัดเสี้ยนหนามอยู่ครบเทอม หรือจะมีอุบัติเหตุอะไรระหว่างทางหลังจากนี้อีกหรือไม่?

ผ่านพ้นการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา รัฐบาลเพื่อไทย 2 ภายใต้การนำของ “แพทองธาร ชินวัตร” เข้าสู่โหมดบริหารราชการแบบ100% ช็อตต่อไปต้องจับตาการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) แบบเป็นทางการ นัดแรกในวันวันที่ 17ก.ย.นี้

“เจาะลึก” วาระสำคัญ ทั้งโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะมีการอนุมัติงบประมาณก้อนแรก 14 แสนล้านบาทให้กับกลุ่มเปราะบาง และคนพิการจำนวน 14 ล้านคน ไม่ต่างไปจากนโยบาย “ลด-ตรึง” ราคาพลังงาน 1 ใน 10 นโยบายเร่งด่วนที่นายกฯแพทองธารได้แถลงต่อรัฐสภา ที่จะมีการพิจารณาในวันเดียวกัน 

โฟกัส “10 นโยบายเร่งด่วน” ที่แถลงต่อรัฐสภา มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีหลายข้อถอดแบบมาจาก วิสัยทัศน์ของ “ทักษิณ ชินวัตร”อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นบิดา ผ่านเวทีDinner Talk : Vision for Thailand 2024เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา

เปรียบเปรยว่า เป็นนโยบาย “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ส่วนจะเป็นการ “ครอบงำ” หรือ “ครอบครอง” ก็แล้วแต่วิจารณญาณแต่ละบุคคล 

แต่ที่แน่ๆ คือ ประเด็นดังกล่าวอาจเข้าทาง “ฝ่ายแค้น-ฝ่ายค้าน”ในการขุดสารพัด“เกมนิติสงคราม”  ชิงจังหวะเอาคืน หลังจากนี้  ไม่ต่างจากอำนาจต่อรองในซีกรัฐบาล ผ่านบรรดา “เรือธง” สีต่างๆ ที่รอจังหวะเปิดดีล ยื่นเงื่อนไขต่อรองเช่นเดียวกัน

“ผ่าลึก” ปมร้อนผ่านเวทีแถลงนโยบายรัฐบาล เห็นชัดถึงการเมืองที่กำลังสับสนอลหม่าน ทั้งนโยบายในหมวดเศรษฐกิจ อาทิ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ถูกฝ่ายค้านทิ่มแทงไปที่ประเด็น “วน-เลท”

อาทิ “ศิริกัญญา ตันสกุล” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ซึ่งตั้งข้อสังเกตถึงการจางหายไปของนโยบาย ขณะที่สิ่งที่เป็นนโยบายเพิ่มเติมขึ้นมา รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย แปลงร่างเป็นค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสาย“ไม่ตรงปก” กับที่เคยหาเสียงไว้

เวที‘นโยบาย’ อลหม่านการเมือง  เดิมพัน \'นายกฯอิ๊งค์\' ครบเทอม?

ไ่ม่ต่างจาก “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” หัวหน้าพรรคประชาชน ว่าที่ผู้นำฝ่ายค้านคนใหม่ ให้ฉายา นโยบายเรือธง “3 นาย”  คือ นายใหญ่ นายหน้า และนายทุน 

ทั้งนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่เป็นนโยบายเรือธงให้นายใหญ่ได้ขึ้นนโยบาย “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”  ที่มีข้อสงสัยถึงการเปิดกว้าง หรือล็อกการประมูลเพื่อเอื้อนายทุน

ย้อนปฐมบท ก่อนมาเป็นนโยบาย “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” เมื่อครั้งที่สภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษาในเรื่องดังกล่าว

เวลานั้น“สส.พรรคก้าวไกล” ที่เวลานี้แปรสภาพมาเป็นพรรคประชาชน ชำแหละไปที่ปมล็อกสเปค “นายทุนยักษ์ใหญ่” ในการเข้าประมูลแบ่งเค้ก ทำเลทอง แถมนายทุนรายดังกล่าวยังเป็น“นายทุนพรรคร่วมรัฐบาล” ในเวลานี้อีกด้วย 

ไม่ต่างจากสัญญาณ “พรรคร่วมรัฐบาล” โดยเฉพาะ “พรรคภูมิใจไทย” ซึ่งก่อนหน้านี้ออกมาแถลงจุดยืน 1 วันก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี ระบุ 4 ข้อคัดค้าน พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ 

ทว่า คล้อยหลัง 1 เดือน  ในจังหวะเปลี่ยนตัวผู้นำ ขณะที่นโยบาย "เอนเตอร์เทนเมนต์ฯ"ถูกบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาล

ไม่ต่างจาก “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ประกาศพร้อมสนับสนุนประเด็นดังกล่าวหากไม่ขัดกฎหมาย

เวที‘นโยบาย’ อลหม่านการเมือง  เดิมพัน \'นายกฯอิ๊งค์\' ครบเทอม?

ดูเผินๆ เหมือน “พรรคเพื่อไทย” และ “ภูมิใจไทย” จะเคลียร์จบลงตัว แต่ลึกๆแล้วยังซ่อนไว้ภายใต้เงื่อนไขต่อรองระหว่าง 2 พรรค โดยเฉพาะ “กลุ่มทุน” ที่อาจมีความทับซ้อนกันระหว่าง“กลุ่มทุน” 2 พรรคร่วมรัฐบาล และจนถึงเวลานี้อาจยังรอการแบ่งสรรปันส่วนที่ลงตัว

จับสัญญาณ “ค่ายสีน้ำเงิน” ส่งบทให้ “ลูกแชมป์”  กรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้อภิปรายนโยบาย ยืนยันภูมิใจไทยไม่ขัดข้องเรื่องดังกล่าว สิ่งที่อยากจะเห็นคือการควบรวมเอาสถานบันเทิงทั้งหลายเอาสิ่งที่หลบๆซ่อนๆ ขึ้นมารวมกันบนดินโดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุม

ทว่าลึกๆ แล้ว การอภิปรายดังกล่าวยังซ่อนไว้ภายใต้เงื่อนไขบางประการ ทั้งการ “ติดดาบ”  กระทรวงมหาดไทย ที่อยู่ในความดูแลของพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะการแก้กฎหมายการพนัน เปิดทางสู่พนันออนไลน์ถูกกฎหมาย รวมถึงอำนาจในการกำกับดูแลหลังจากนี้ 

หรืออีกนโยบายซึ่งถูกมองว่า เป็นเสมือนเกมต่อรองยื่นหมูยื่นแมว นั่นคือนโยบายกัญชาซึ่งเป็นเรือธงพรรคภูมิใจไทย รอบนี้ถูกบรรจุอยู่ใน นโยบาย“ระยะกลาง”และ“ระยะยาว” ระบุชัดถึงการควบคุม “โดยการตรากฎหมาย”

โดย “กรวีร์” อภิปรายประเด็นกัญชา "ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ไม่สร้างปัญหาให้กัญชาโดยการนำกลับไปเป็นยาเสพติด แต่มองเห็นถึงการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์โดยการออกกฎหมาย"  

แถม “ไชยชนก ชิดชอบ” สส.บุรีรัมย์ เลือดแท้ “นายใหญ่สีน้ำเงิน” ยังออกกล่าวขอบคุณพรรคเพื่อไทยแบบ "สคริปต์เดียวกัน" 

ลึกๆ อาจเป็นการส่งสัญญาณไปถึงพรรคเพื่อไทย “ดักทาง” เพื่อไม่ให้เกิดเกมหักดิบเหมือนในรัฐบาลเศรษฐาหรือไม่ จึงเป็นประเด็นที่ชวนคิด! 

จับจังหวะ “สส.ค่ายสีน้ำเงิน” ดูเผินๆ เหมือนจะสนับสนุนนโยบาย “เอนเตอร์เทนเมนต์ฯ” ทว่าท่าทีดังกล่าว กลับสวนทางกับ “สว.” ที่ส่วนใหญ่ล้วนมีความใกล้ชิดกลุ่มการเมืองสีน้ำเงิน โดยเฉพาะกลุ่มบ้านใหญ่ 

ทั้ง “ขวัญชัย แสนหิรัณย์” สว.สายบ้านใหญ่อ่างทอง เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เนื่องจากมองว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ไม่เว้นแม้แต่สว.ในสายสีน้ำเงิน ที่ยังคงรอสัญญาณในเรื่องดังกล่าว 

จับสัญญาณ “เพื่อไทย” และ “ภูมิใจไทย” ในการเข็นเรือธง ทั้งนโยบาย“เอนเตอร์เทนเมนต์ฯ” และ “นโยบายกัญชา” จะผ่านหรือไม่ผ่าน ทำไปทำมาอาจอยู่ที่เงื่อนไขต่อรองยื่นหมู-ยื่นแมวหลังจากนี้ 

เวที‘นโยบาย’ อลหม่านการเมือง  เดิมพัน \'นายกฯอิ๊งค์\' ครบเทอม?

อีกหนึ่งนโยบายที่เป็นยังคงตามหลอนรัฐบาลเพื่อไทย และ “ตระกูลชินวัตร” มาเนิ่นนาน หนีไม่พ้นนโยบายดับไฟใต้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ซึ่งถูกฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น หยิบมาเป็นประเด็นขยายแผลแทบทุกยุคทุกสมัย

ตอกย้ำจากการอภิปรายของฝ่ายค้านทั้ง “รอมฎอน ปันจอร์”  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ขยี้ไปที่ความรับผิดชอบจากบาดแผลในคดีดังกล่าว 

โดยเฉพาะวันที่ 12 ก.ย.2567 ศาลได้พิจารณาสำคัญในคดีสำคัญของภาคใต้ และเหลืออีก 44 วัน คือ 25 ต.ค.2567 จะสิ้นสุดอายุความ แต่กลับพบว่า หนึ่งใน “6 จำเลย” คือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จำเลยที่ 1 ยังไม่ถูกส่งตัวดำเนินคดี จึงกังวลว่า ผู้ถูกกล่าวหาอาจใช้ “เอกสิทธิ์สส.” เป็นเกราะคุ้มกัน จนกระทั่งคดีหมดอายุความในอีก 44 วันข้างหน้า 

ยิ่งไปกว่านั้น หากย้อนที่มาที่ไปของ “บิ๊กอ๊อด” หรือ พล.อ.พิศาลผู้นี้  เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 โลดแล่นในยุครัฐบาลไทยรักไทย  ต่อเนื่องมาจากจนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ในฐานะปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ ถือว่ามีความใกล้ชิดกับ “นายใหญ่เพื่อไทย” เป็นอย่างดี 

แถมห้วงนี้ ยังมีข่าวแพร่สะพัด ถึงงการปรับครม.เศรษฐา 1/2  ต่อเนื่องมาถึงยุคเปลี่ยนผ่านสู่ ครม.แพทองธาร ในช่วงฟอร์มทีม ชื่อของ “บิ๊กอ๊อด” ยังถูกโยนออกมาเป็นหนึ่งในแคนดิเดตรมว.กลาโหม เบียดกับ "บิ๊กแป๊ะ" พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมถึง  "บิ๊กเล็ก" พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ อดีตเลขาธิการ สมช. มาโดยตลอด

แต่ด้วยแรงต้านจากคดีตากใบนี้เอง ที่กลายเป็นจุดดับฝัน “บิ๊กอ๊อด” ในการนั่งรมว.กลาโหมในท้ายที่สุด  

แน่นอนว่า ประเด็นไฟใต้ถือเป็นอีกหนึ่งปมหลอนรัฐบาลเพื่อไทย รวมถึงตระกูลชินวัตร มาหลายยุคหลายสมัย ไม่ใช่แค่พรรคประชาชน ที่เป็นฝ่ายค้านในปัจจุบัน  แต่ยังรวมไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้เวลานี้จะแปรสภาพเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ยังคงมีกลุ่มที่เป็น “ปฏิปักษ์ชินวัตร” ที่คานอำนาจอยู่

เวที‘นโยบาย’ อลหม่านการเมือง  เดิมพัน \'นายกฯอิ๊งค์\' ครบเทอม?

 โดยเฉพาะ “ปฏิปักษ์เบอร์ต้นๆ”อย่าง “ชวน หลีกภัย” อดีตนายกฯและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แม้รอบนี้จะใช้สิทธิในฐานะสส.บัญชีรายชื่อ พรรคร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นครั้งแรก แต่ยังคงทิ้งไว้ซึ่งรอยกรีดลึก ตามฉายา “มีดโกนอาบน้ำผึ้ง” ทั้งประเด็นการเลือกปฏิบัติกับประชาชนภาคใต้ หรือ เหตุการณ์ 8 เม.ย.2544 จากนโยบาย “เก็บฆ่าทิ้ง” ที่จนถึงเวลานี้ยังไร้การเยียวยา

แถมยังทิ้งท้ายด้วยวลี  “ยึดสุจริต ไม่ติดคุก” ย่อมเป็นการสะท้อนถึงเสี้ยนหนามรัฐบาลเพื่อไทยและตระกูล “ชินวัตร” ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในรัฐบาลแพทองธารเวลานี้ 

หรือแม้แต่“พรรคพลังประชารัฐ” ที่เวลานี้มีสภาพเป็นปลา 2 น้ำ ฝั่ง “ลุงบ้านป่า” ตกอยู่ในสถานะฝ่ายค้าน ขณะที่สายผู้กองคงสถานะเป็น“พรรคร่วมรัฐบาล” ตอกย้ำชัดถึงเวทีแถลงนโยบายที่เกิดเกมวัดพลังกันเองภายในพรรคระหว่าง 2 สาย ไม่ต่างจากเกมล้างแค้นจาก “ลุงบ้านป่า” หลังล่าสุดมีการปล่อยคลิปเสียง “ขอเป็นเบอร์ 1 ”

ย่อมเป็นการตอกย้ำถึงการเมืองที่อลหม่านปั่นป่วน และยังไม่มีทีท่าจะสงบลงง่ายๆ อย่างแน่นอน เป็นเช่นนี้จึงถือเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และนายกฯ แพทองธาร

ต้องจับตาว่า จะนำทัพฝ่าสารพัดเสี้ยนหนามอยู่ครบเทอม หรือจะมีอุบัติเหตุอะไรระหว่างทางหลังจากนี้อีกหรือไม่?