เจาะทีมกุนซือ ‘นายกฯ อุ๊งอิ๊ง’ ขุนพลนักคิดข้างกาย ‘ทักษิณ’
คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี นำโดย "พันศักดิ์ วิญญรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษา ถือเป็นทีมกุนซือนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ที่เป็นขุนพลนักคิดข้างกาย "ทักษิณ ชินวัตร" มาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย
KEY
POINTS
- คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี นำโดย "พันศักดิ์ วิญญรัตน์" ถือเป็นกุนซือที่เป็นนักคิดข้างกาย "ทักษิณ" มาตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย
- "พันศักดิ์" เคยเป็นทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกในยุครัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2531ผ่านผลงาน "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า"
- องค์ประกอบทีมนโยบายของนายกฯ ที่แต่งตั้งโดย "แพทองธาร" จะมาช่วยให้คำปรึกษาผลักดันเรือธงนโยบายหลักของรัฐบาลเพื่อไทย
- ทีมกุนซือนโยบายนายกฯ มี "นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" เป็นมือประสานและทำงานให้กับ "แพทองธาร"
- "พันศักดิ์" และ "นพ.สุรพงษ์" เคยเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติในห้วงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มี "แพทองธาร" เป็นรองประธาน
คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 317/2567 เรื่องแต่งตั้งคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่นำโดย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษา รวมทั้งมีที่ปรึกษาประกอบด้วย ศุภวุฒิ สายเชื้อ , ธงทอง จันทรางศุ และ พงศ์เทพ เทพกาญจนา
คณะที่ปรึกษาชุดดังกล่าวเกิดขึ้น เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาพิจารณาเสนอความเห็นข้อเสนอแนะต่างๆ ตามที่นายกฯ มอบหมายที่เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ
สอดรับกับคำแถลงของ “แพทองธาร ชินวัตร” เมื่อครั้งได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 โดยเธอระบุว่า มายด์เซตที่เข้ามาทำงานทางการเมือง ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนที่ดีที่สุด เก่งที่สุดในห้อง มีแต่คิดเสมอว่าเรามีแรงผลักดันที่ชัดเจน และมีทีมที่ดี มีความเข้มแข็ง
“ถือว่าเรามีความโชคดีตรงนี้ และคิดว่าไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งตรงไหนก็ตาม เมื่อเรามีทีมที่ดีเราก็จะประสบความสำเร็จได้”
ทันทีที่ ครม.แพทองธาร เริ่มเดินหน้านับหนึ่งจากวันแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12-13 ก.ย. 2567 ประชุม ครม.นัดแรกเป็นทางการ 17 ก.ย.2567 ลงนามแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี คนนั่งประธาน ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นบุคคลที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ให้ความไว้วางใจ และขอคำปรึกษาอยู่เสมอ
แม้กระทั่งการจัดรายการ แคร์ทอล์ก ในช่วงที่อดีตนายกฯ ต้องอยู่ต่างประเทศ ก็มีบางครั้งที่ “พันศักดิ์” ต้องเข้ารายการมาสนทนากับ “ทักษิณ” อยู่บ้าง
“แพทองธาร” เล็งเห็นว่าการใช้ทีมที่ปรึกษาชุดนี้ เพราะต้องการให้ “ทีมที่ปรึกษาของนายกฯ” ให้ความเห็นในเชิงยุทธศาสตร์ของการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ โดยจะมี “พันศักดิ์” คอยดูภาพรวมนโยบายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ส่วนองค์ประชุมทีมที่ปรึกษาในชุดนี้ ล้วนเป็นขุนพลที่มีประสบการณ์ในด้านต่างๆ ทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย อดีตข้าราชการ ซึ่งเคยทำงานใกล้ชิด และข้างกายกับ “ทักษิณ” และ “แพทองธาร”
ไล่ตั้งแต่ “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ ในช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 “หมอเลี้ยบ” คือหัวหอกในการผลักดันกลุ่มแคร์ ภายใต้คำขวัญ “คิด เคลื่อน ไทย” จนนำไปสู่การจัดรายการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองผ่าน คลับเฮาส์ โดยมี “ทักษิณ” เป็นวิทยากรหลัก และช่วงหลังก็ให้คำปรึกษากับ “แพทองธาร” ในห้วงที่เข้ามาเป็นประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วม และนวัตกรรมของพรรคเพื่อไทย
“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ก่อนตั้งรัฐบาลเศรษฐา ก็เคยมีชื่อติดโผนั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจที่พรรคเพื่อไทยชูธงเอาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งยังเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยด้วย
“ธงทอง จันทรางศุ” อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เคยอยู่ในตำแหน่งช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่ปี 2554-2557
“พงศ์เทพ เทพกาญจนา” อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีจุดแข็งในมุมกฎหมาย เคยผ่านตำแหน่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 เคยร่วมงานกับ "ทักษิณ" ตั้งแต่สมัยพรรคพลังธรรม จนกระทั่งมาร่วมงานที่พรรคไทยรักไทย ซึ่งน่าจะมาช่วยขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ ของรัฐบาลได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า โมเดลทีมที่ปรึกษานายกฯ อุ๊งอิ๊ง ครั้งนี้ ถูกมองว่าเป็นการปัดฝุ่น ย้อนรอยตำนาน “ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” ที่ครั้งหนึ่ง “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” นายกรัฐมนตรีคนที่ 17 เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ได้แต่งตั้งทีมที่ปรึกษานโยบาย ซึ่งประกอบด้วย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ณรงค์ชัย อัครเศรณี ชวนชัย อัชนันท์ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย
เป้าประสงค์ของ “น้าชาติ” ต้องการให้ทีมที่ปรึกษาชุดนี้ที่มาจากนักคิดปัญญาชน และนักวิชาการคนรุ่นใหม่เมื่อปี 2531 นั้น ได้ช่วยกลั่นกรองนโยบายของรัฐบาล โดยมี “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” บุตรชายของ พล.อ.ชาติชาย เป็นคีย์แมน ทีมที่ปรึกษา
ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ปี 2531 ไม่ต่างจาก คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ อุ๊งอิ๊ง ในปี 2567 เพราะเป็นทีมนักคิด ที่อยู่ในสภาพที่รัฐบาลเป็น “รัฐบาลผสม” หลายพรรคการเมือง
ปี 2531 เป็นรัฐบาลผสมที่นำโดย พรรคชาติไทย ส่วนปี 2567 เป็นรัฐบาลผสมที่นำโดย “พรรคเพื่อไทย”
ผลงานโดดเด่นที่ถูกพูดถึงมาจนถึงปัจจุบัน ของทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ครั้งนั้น มี “พันศักดิ์” เป็นประธานที่ปรึกษา คือ "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" ยุติความขัดแย้งภายในกัมพูชา รวมถึงพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม จนทำให้เศรษฐกิจของไทยและเพื่อนบ้านเติบโตแบบก้าวกระโดด
เมื่อปี 2564 “พันศักดิ์” เคยให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดทางการเมืองของเขาผ่าน “วอยซ์ทีวี” โดยเอ่ยถึง “ทักษิณ” ว่า “ผมไปหาเสียงกับคุณทักษิณสองหน แล้วผมบอกไม่ไปแล้ว ขี้เกียจ เหนื่อย แล้วหนหนึ่งที่ไปหาเสียงแถวเชียงใหม่ นั่งรถกับแก ผมก็บอก เฮ้ย!คุณทักษิณ คนเชียงใหม่ เนี่ยต้องอย่าให้ฉลาดมากนะ ถ้าเชียงใหม่ฉลาดมากจะวุ่นวาย ก็ให้น่ารักๆ อย่างนี้แกมองหน้าผม เอ๊ะ ไอ้ที่ปรึกษาผมมันบ้ารึไงวะ”
ขณะเดียวกัน “พันศักดิ์” ยังพูดถึงสมัยทำงานให้กับนายกฯ ชาติชาย ว่า “รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐ มาบอกผม พันศักดิ์ ช่วยบอมบ์ภูเขาอันนี้ที่เขมรให้หน่อยสิ เราคิดว่าพล พตแอบอยู่ตรงนั้น ผมบอก มึงมาบอกกูทำไมวะ เขาบอกวุฒิสภาสหรัฐ กดดันมัน”
“เขาว่าวุฒิสภาสหรัฐ กดดันให้จัดการเรื่องเขมรแดง เห็นไหม ประชาธิปไตยมันเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่แบ่งความรับผิด ไม่ต้องชอบนะ ความรับผิดกันในองค์กรต่างๆ ของสังคม มันเป็นทางออกของสังคมที่จะปรับตัวในอนาคต อย่างสันติ อย่างมีนัยที่ชาญฉลาด”
“พันศักดิ์" สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) ประเทศอังกฤษ หลังสำเร็จการศึกษาเลือกเส้นทางเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายวัน Bangkok World จากนั้นจึงเริ่มต้นทำธุรกิจที่ปรึกษาด้านคอมพิวเตอร์ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ กฎหมายลิขสิทธิ์
หลังพ้นตำแหน่งทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก “พันศักดิ์” ได้รับการทาบทามจาก “รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร” ให้มานั่งตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษาด้านนโยบายของพรรคไทยรักไทยอีกครั้ง รวมทั้งยังเคยเป็นคณะที่ปรึกษาของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรด้วย
ขณะที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้วาง "พันศักดิ์" อยู่ชุดที่ปรึกษาของนายกฯ เพราะได้ใช้ชุดคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมี “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” เป็นประธานคณะที่ปรึกษา
โดยนายกฯ เศรษฐาได้แต่งตั้ง "พันศักดิ์" เป็นที่ปรึกษา และกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2566 ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มี "แพทองธาร" เป็นรองประธานกรรมการ และมี "นพ.สุรพงษ์" เป็นเลขานุการ ซึ่งมีหน้าที่จัดทำนโยบาย และแผนระดับชาติว่าด้วยยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ เพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
แหล่งข่าวในทำเนียบรัฐบาลเปรียบเทียบความต่างของการใช้คณะทำงานที่เป็นกุนซือของ 2 นายกฯ คือระหว่าง “เศรษฐา” และ “แพทองธาร” จะมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
นายกฯ แพทองธาร เลือกที่จะรับฟังทีมงานทั้งข้าราชการประจำข้าราชการการเมืองที่เกี่ยวข้อง โดยจะเลือกรับฟังก่อนนำไปออกเป็นข้อสั่งการ รวมทั้งยังมีบุคลิกที่ใจเย็น เลือกที่จะรับฟังผู้อื่นก่อนตัดสินใจ การแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาจึงเชื่อว่านายกฯ จะรับฟังความเห็นของทีมที่ปรึกษาด้วย
ต่างจาก “นายกฯ เศรษฐา” ที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง และมีบุคลิกในเรื่องอารมณ์ ไม่ค่อยรับฟังความเห็นจากผู้ปฏิบัติงาน และเลือกที่จะออกข้อสั่งการมากกว่า จึงทำให้ “เศรษฐา” ไม่ได้ใจข้าราชการภายในทำเนียบฯ จนส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล
แน่นอนว่า ทีมขุนพลนักคิดกุนซือด้านนโยบายของนายกฯ แพทองธาร ชุดนี้ จะมี “พันศักดิ์” เป็นผู้วางธงให้กับนายกฯ รวมทั้งจะมี “นพ.สุุรพงษ์” คอยสื่อสารกับประธานที่ปรึกษา เพื่อนำมาถ่ายทอดให้กับ “แพทองธาร” นำไปปฏิบัติอีกทางหนึ่ง เพื่อให้เรือธงนโยบายของ “เพื่อไทย” สัมฤทธิผล
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์