‘พท.-ปชน.’รวมการเฉพาะกิจ อีเวนต์ ‘นิรโทษกรรม’ฉลุย ?

‘พท.-ปชน.’รวมการเฉพาะกิจ  อีเวนต์ ‘นิรโทษกรรม’ฉลุย ?

"พท." แตะมือ "ปชน." ร่วมกำหนดอีเวนต์การเมือง ถกรายงานนิรโทษกรรม สัปดาห์หน้า หวังให้เป็นพลังดัน "กม.นิรโทษกรรม" ผ่านสภา แม้พรรคร่วมรัฐบาล4พรรคไม่เอาด้วย

KEY

POINTS

Key Point

  • วิปรัฐบาล เคาะวันให้สภาฯ ถกรายงานของ กมธ.นิรโทษกรรม ในวันนี้ (19ก.ย.) เพื่อหวังให้ทุกฝ่ายเลิกแล้วต่อกัน ในวาระครบรอบ18ปีการรัฐประหาร
  • ทว่ามีการร้องขอจาก "พรรคประชาชน" ให้เลื่อนออกไปก่อน อ้างเหตุผลว่า กมธ.บางคนลา และวาระพิจารณาที่อยู่ลำดับ3อาจจบดึกเกินไป
  • แท้จริงแล้ว คือ การตั้งใจให้ "นิรโทษกรรม" ที่วางเป็นอีเวนต์การเมือง ประจักษ์ต่อสายตา "ด้อมส้ม-ฐานเสียง" ที่มีปม 112 ในใจ
  • เพราะรายงานฉบับนี้ ถูกโฟกัสไปที่กลุ่มนักโทษการเมือง-คดี112 ว่า จะมีเนื้อหาอย่างไร
  • แม้เนื้อหา ที่กมธ.นิรโทษกรรม เสนอในประเด็น 112 ซึ่งจัดในคดีอ่อนไหวทางการเมือง จะไม่มีข้อสรุปแบบฟันธง
  • แต่การนำเสนอจะกลายเป็นธงนำที่หยิบไปใช้เพื่อตราเป็นกฎหมายต่อไป
  • เรื่องนี้ "เพื่อไทย" ไม่ขัดข้อง ที่จะให้เลื่อนการพิจารณา เพราะปลายทางมีเป้าหมายเดียวกันกับ "พรรคประชาชน" ที่จะเข็น กฎหมายนิรโทษกรรมให้ผ่านสภา  แม้ พรรคร่วมรัฐบาล "พปชร.-ภท.-รทสช.-ปชป." ไม่เอาด้วย

วิปรัฐบาล หรือ คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ไฟเขียวให้ สภาผู้แทนราษฎรถก "รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม" ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” เป็นประธาน พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งนอนรอในวาระประชุมมาตั้งแต่ 29 ส.ค.2567 ที่ผ่านมา

 โดยวางเรื่อง ไว้ในวันที่ 19 ก.ย.2567 นี้ ซึ่งจะตรงกับวันครบรอบ 18 ปี ที่ “รัฐบาล-ทักษิณ ชินวัตร” ถูกรัฐประหาร เพื่อให้สังคมเห็นว่า อะไรที่เคยกระทำกันมาก่อน ขอให้เลิกแล้วต่อกัน ด้วยการให้เสียงสนับสนุนรายงานนิรโทษกรรมฯฉบับนี้

ทว่า เรื่องนี้เป็นอีเวนต์ใหญ่ของ “พรรคประชาชน” เช่นกัน เพราะเนื้อหามีความเกี่ยวข้องกับ “ฐานเสียง-ด้อมส้ม” ที่ “นักรบแถวหน้า” โดนคดีมาตรา 112 จำนวนไม่น้อยเป็นนักโทษการเมือง 

ดังนั้น จึงมีการร้องขอให้เลื่อนการพิจารณา โดยให้เหตุผลกับวิปรัฐบาลว่า “มีกรรมาธิการหลายคนติดธุระ” และอีกเหตุผลคือ "การพิจารณารายงานฉบับนี้ ที่วางไว้เป็นลำดับ 3 อาจใช้เวลานาน และพิจารณาจบดึกจนเกินไป”

เพื่อรักษาน้ำใจกัน “ชูศักดิ์ ศิรินิล” จึงแจ้งไปยังวิปรัฐบาล ให้สภาฯ พิจารณารายงานฉบับนี้ในคราวประชุมครั้งถัดไป ซึ่งเร็วที่สุดจะเป็นวันที่ 26 ก.ย.นี้

สำหรับเนื้อหาของรายงานฯ มีจุดที่เป็นความน่าสนใจและจับตา ต่อการดำเนินการขั้นตอนไปของสภาฯ ที่ต้องพิจารณาในขั้นตอนของการเสนอร่างกฎหมาย และตราเป็นกฎหมายในชั้น “กรรมาธิการ”

กำหนดห้วงเวลาของการนิรโทษกรรม ตั้งแต่ 1 ม.ค.2548 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งคำว่า “ปัจจุบัน” หมายถึงวันที่ กมธ.เสนอรายงานต่อสภาฯ ทำให้ครอบคลุมการชุมนุมใน 4 ครั้ง คือ 

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 2548-2551 การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. 2550 -2553 การชุมนุมของ กปปส. 2556-2557 และการชุมนุมกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เยาวชนและประชาชน 2563 - ปัจจุบัน

โดยโฟกัส “คดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง” ซึ่งกำหนดเป็นคำนิยามได้ว่า “การกระทำที่มีพื้นฐานความคิดที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง ในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือความไม่สงบทางการเมือง”

ทั้งนี้กมธ.นิรโทษกรรมฯ ได้เสนอให้มีบัญชีแนบท้าย เพื่อ “ล้างผิด” ในคดีที่ถูกแบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ 

“คดีหลัก” เช่น ความผิดต่อความมั่นคง การก่อการร้าย ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมที่สาธาณะ ความคิดตามคำสั่ง คสช. และ ความผิดว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 

“คดีรอง” เช่น หมิ่นเจ้าพนักงาน แจ้งความเท็จ ขัดขืนหมายศาล หลบหนีระหว่างคุมขัง ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร มั่วสุมทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และ “คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง” คือ มาตรา 110 มาตรา 112

โดยผลการศึกษาของกมธ.นิรโทษกรรม ได้แยกแยะ ข้อดี ข้อเสีย ของคดีลักษณะต่างๆ ไว้ รวมถึงนำเสนอเหตุ หาก “ไม่นิรโทษกรรม” ในคดีลักษณะต่างๆ นั้น จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ความน่าสนใจอยู่ที่ “ลักษณะคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง” โดย รายงาน กมธ.ฯ ระบุ ถึงข้อดีหากนิรโทษกรรมให้ คือ เพื่อความเชื่อมั่นใจสถาบัน เพราะบางคดีถูกนำมาใช้เพื่อกลั่นแกล้งประชาชน รวมถึงสร้างบรรยากาศที่สังคมหันหน้าคุยกัน

ขณะที่ ข้อเสีย ระบุไว้ว่า ทำให้ประชาชนบางส่วนที่ต้องการปกป้องสถาบันไม่เห็นด้วยและออกมาเคลื่อนไหว กลายเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ รวมถึงส่อว่าการปกป้องสถาบันอาจใช้ความรุนแรง แทนกฎหมาย

ส่วนข้อเสนอที่ว่า “การไม่นิรโทษกรรม” คดีอ่อนไหว ระบุเป็นข้อดีไว้ ในสาระสำคัญ คือ ลดเงื่อนไขที่ฝ่ายสนับสนุนสถาบันออกมาเคลื่อนไหว รวมถึงไม่ใช้ความรุนแรงนอกกฎหมายเพื่อปกป้องสถาบัน 

ขณะที่ ข้อเสีย ในหัวข้อนี้ ระบุว่า “เป็นการสะสมเชื้อให้เกิดการระดมมวลชนเพื่อต่อต้านรัฐในอนาคต รวมถึงจะเป็นการสร้างความขัดแย้งแนวระนาบ ลดขันติธรรมระหว่างกลุ่มที่เห็นต่าง และสร้างความแตกแยกในสังคมมากขึ้น”

นอกจากนั้น ในประเด็นคดีอ่อนไหวทางการเมือง ยังระบุความเห็นของ “กมธ.” เป็นรายบุคคล แน่นอนว่า มีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย 

โดยตัวแทนของพรรคพลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ นั้นไม่เห็นด้วย 

ส่วนตัวแทนพรรคประชาชน หรือเดิมพรรคก้าวไกล นั้นแสดงความเห็นด้วย ซึ่งรวมถึง กมธ.ที่ “คณะรัฐมนตรี” ส่งมาให้ทำงาน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า หากพิจารณาในนาม “พรรคเพื่อไทย” กลับมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน

ดังนั้นในแนวทางหลังจากที่ “สภาฯ” เห็นชอบรายงานฉบับนี้แล้ว จะถูกส่งไปยัง หน่วยงานต่างๆ ให้พิจารณา เช่นเดียวกับ “พรรคการเมือง” ที่แสดงเจตนาจะเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งขณะนี้มีการรอบรรจุวาระไว้แล้ว 3 ฉบับ คือ ของกลุ่มพรรคเล็ก พรรครวมไทยสร้างชาติ และ พรรคประชาชน (ก้าวไกล)

ขณะที่ “พรรคเพื่อไทย” นั้น ยังรอที่จะเสนอต่อสภาฯ หลังจากที่รายงาน กมธ.นิรโทษกรรมผ่านการพิจารณา ซึ่งแนวทางขณะนี้ พรรคเพื่อไทยอาจจะเสนอเพียงพรรคเดียว ไม่ใช่ผนึกความเห็นร่วม ฐานะ “พรรคร่วมรัฐบาล”

เนื่องจากปลายทางของ “การออกกฎหมายนิรโทษกรรม” นั้น ยังเต็มไปด้วยข้อสงสัยว่า จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของบางคน บางกลุ่ม แทนที่จะใช้เป็นเครื่องมือ แสวงหาความสันติสุข สามัคคี ปรองดอง ของ “คู่ขัดแย้งเก่า” ในสังคม ตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการตรากฎหมาย

ท้ายสุดของเรื่องนี้ แม้ “พรรคร่วมรัฐบาล” อื่นๆ ไม่เอาด้วย แต่ด้วยพลังของ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งแตะมือกับ “พรรคประชาชน” ไว้แล้ว ไม่ว่าอย่างไร “อีเวนต์นิรโทษกรรม” ครั้งนี้ ย่อมได้เสียงข้างมาก ผ่านสภาฯฉลุยแน่นอน.