'หน่วยความมั่นคง'ชงรัฐบาลต่ออายุ พรก.ฉุกเฉิน จว.ชายแดนใต้
"หน่วยความมั่นคง"ชงรัฐบาลต่ออายุ พรก.ฉุกเฉิน จว.ชายแดนใต้ ยังประเมินไม่ได้ ผลดี-ผลเสีย หลังยกเลิกบางพื้นที่ ยันช่วงเปลี่ยนไม่ส่งผลการทำงาน
19 กันยายน 2567 ที่กองกำลังตำรวจตระเวนชายแดน จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา พลตำรวจตรี นิตินัย หลังยาหน่าย รองผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา ภายหลังมีการประกาศยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ในบางพื้นที่ ว่าปัจจุบันมีการยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 15 อำเภอ และยังมีผลบังคับอยู่ 18 อำเภอ โดยในเดือนหน้าก็จะครบกำหนดที่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติขยาย พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 78 ทั้งนี้ ยอมรับว่าประเมินได้ยาก ว่าในพื้นที่ที่ไม่มี พรก.ฉุกเฉินแล้ว จะส่งผลอย่างไร ซึ่งบางพื้นที่ การก่อเหตุก็ลดลง ในทางกลับกันบางพื้นที่ก็มีการก่อเหตุเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องนำไปสู่การกลับมาใช้ พรก.ฉุกเฉิน ใหม่ เช่น ที่อำเภอศรีสาคร จ.นราธิวาส
และปัจจุบัน เตรียมที่จะมีการยกร่างกฎหมายฉบับใหม่เกี่ยวกับเรื่องการก่อการร้าย เพื่อบังคับใช้ทั่วไป เนื่องจาก พรก.ฉุกเฉิน จะต้องต่ออายุทุก 3 เดือน
"เจ้าหน้าที่ไม่อยากจะให้ยกเลิกเพราะถือเป็นเครื่องมือเดียวในการทำงาน แต่เหตุผลที่ต้องยกเลิกในบางพื้นที่ เพราะกระแสสังคมพยายามกดดัน จึงเป็นที่มาของความพยายามในการยกร่างกฎหมายตัวใหม่ขึ้นมาบังคับใช้ และจากการสำรวจ 80% ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้เดือดร้อนจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของเจ้าหน้าที่รัฐ มีเพียง 20% เท่านั้นที่อยากให้ยกเลิก เช่นเดียวกับกรณีที่ผู้ทรงเกียรติ ต้องการให้ยกเลิกด่านตรวจ ถามว่ามีผลกระทบหรือไม่ และความเข้าใจในเรื่องการตั้งด่านก็ต่างกัน ซึ่ง กอ.รมน. ก็รับทราบปัญหา ก็พยายามแจ้งหน่วยกองกำลัง หากไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติ ก็ให้เอาเครื่องกีดขวางออกจากพื้นที่ ไม่ใช่กีดขวางการจราจร แต่ยืนยันว่าการตั้งด่านมีความจำเป็น ซึ่งเป็นหน่วยสกัดกั้นและตรวจสอบ"
ด้าน พันเอก สุทธิพงษ์ พืชมงคล ผู้อำนวยการส่วนงานบริหารและพัฒนาศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กล่าวเสริมว่า ในฐานะที่ตนเองเคยทำงานที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาก่อน ซึ่งแผนงานในการปรับลดพื้นที่มีความละเอียดมาก ในขณะที่ระดับนโยบายมองภาพกว้าง แต่ในระดับพื้นที่ จะต้องใช้ความรอบคอบ ทำให้สุดท้ายแล้ว สมช. จะต้องมารับฟังในพื้นที่คือทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ในขณะที่บางอำเภอที่ยกเลิกไปแล้ว แต่มีสถิติการก่อเหตุเพิ่มขึ้น เมื่อจะนำ พรก.ฉุกเฉิน มาประกาศใช้อีกครั้ง กลับดำเนินการได้ยากมาก
ส่วนการเตรียมรับมือในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองทัพ พลตำรวจตรี นิตินัย กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นอุปสรรค แต่บางครั้งเราก็ต้องดูทิศทางบ้างเล็กน้อย และระหว่างนี้ก็ไม่ได้เกียร์ว่าง เพราะไม่ว่าทีมบริหารจะเป็นรัฐบาลชุดใด เราก็คงดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้มา ซึ่งโดยหลักการแล้วก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก โดยจะให้ความสำคัญกับการระงับเหตุร้ายรายวัน และไม่สร้างเงื่อนไขเพิ่มเติม เนื่องจากการต่อสู้ของผู้เห็นต่างในปัจจุบันนั้นมีภาคสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีการรวมกลุ่มกันของเยาวชน เช่นที่เกิดในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2565 ซึ่งเราก็ต้องพิจารณาโดยละเอียด ว่าจะเข้าข้อกฎหมายอะไร เพราะมีบางคำพูดที่เคยมีบรรทัดฐานคำตัดสินของศาลว่าขัดต่อกฎหมาย รวมถึงสัญลักษณ์ต่าง ๆ