‘มาริษ’ ร่วมเวทียูเอ็นต่อยอดท่องเที่ยว เผยนายกฯ หวัง ปชช.เป็นศูนย์กลาง
รมว.ต่างประเทศ หารือผู้นำ ตปท.-ภาคเอกชนระหว่างร่วมเวทียูเอ็นต่อยอดการท่องเที่ยว-แก้ปัญหาเกษตร-ชลประทาน เผยโรมาเนีย พร้อมช่วยดันไทยร่วมวีซ่าเชงเก้น ย้ำนายกฯ ต้องการประชาชนเป็นศูนย์กลาง
วันที่ 23 กันยายน 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ภายหลังเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเพื่ออนาคต ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า วันนี้ได้กล่าวในที่ประชุมสุดยอดเพื่ออนาคต (Summit of the Future) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้มีอนาคตที่ดียิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นในเป้าหมาย 3 ด้าน ได้แก่ (1) การปกป้อง (Protection) ความมั่นคงของมนุษย์ การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และการประกาศคำมั่นเพื่ออนาคต (Pact for the Future) ประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองที่จะดำเนินการทุกอย่างเพื่ออนาคตที่ดียิ่งขึ้น (2) ความเจริญรุ่งเรือง (Prosperity) ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติสำหรับอนาคตที่ดียิ่งขึ้น การศึกษาที่ยั่งยืน รวมถึงคำมั่นด้านดิจิทัลระดับโลก (Global Digital Compact) ปิดช่องว่างทางดิจิทัลของประเทศต่าง ๆ และช่องว่างภายในประเทศด้วย (3) การให้คำมั่น (Promising) ที่จะสร้างให้อนาคตอนุชนรุ่นหลังให้ดียิ่งขึ้น วางแผนเพื่อให้อนุชนเกิดขึ้นและเติบโตในสภาพแวดล้อมที่มีความสร้างสรรค์ เพื่อให้มีชีวิตที่ดีกว่า ไม่สร้างปัญหาปัจจุบันตกทอดไปถึงอนุชนรุ่นหลังในอนาคต
นายมาริษ กล่าวถึงการหารือทวิภาคีกับทั้งภาคเอกชน โดยบริษัทแรกที่มีโอกาสพูดคุยกันคือ บริษัท Oracle Corporation ที่มีการลงทุนร่วมกับบริษัท AIS ด้วยปริมาณเงินสูงถึง 8 พันล้านบาท สร้าง Cloud Data Center เพื่อใช้ประโยชน์ในการหาแนวทางดำเนินธุรกิจของบริษัทเอกชน ตลอดจนให้ภาครัฐได้ใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา เช่น การบริการจัดการเกษตรกรรมอย่างแม่นยำ สร้างประโยชน์อย่างเหมาะสม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาภาคการท่องเที่ยวไม่ให้บุคคลที่มีปัญหาสร้างปัญหาเข้ามาในประเทศ รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
นายมาริษ ยังกล่าวถึงการหารือกับประเทศต่าง ๆ โดยได้หารือกับ นางลูมีนีซา-เตโอโดรา โอโดเบสกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโรมาเนีย ซึ่งรับตามคำขอให้ช่วยผลักดันอนุมัติวีซ่าเชงเก้น และให้ผลักดันการทำความตกลงว่าด้วยการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ซึ่งล้วนได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงย้ำว่า รัฐสภาไทยให้ความเห็นขอบความตกลงแบบรอบด้าน (PCA) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปด้วย เรียกว่าเป็นการพัฒนามากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน นายมาริษยังได้หารือกับ นางจูลี บิชอป ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา ซึ่งได้แลกเปลี่ยนข้อมูลถึงพัฒนาการของสถานการณ์ภาพรวมในเมียนมา จึงได้เล่าถึงความริเริ่มของไทยในการหารือ 3 ฝ่าย ได้แก่ ไทย อินเดีย และเมียนมา ในห้วงการประชุมรัฐมนตรีบิมสเทคอย่างไม่เป็นทางการ ณ ประเทศอินเดีย ซึ่งอินเดียสะท้อนความห่วงกังวลต่อการเชื่อมโยงถนนสายเอเชีย 1 กับถนนเชื่อม 3 ฝ่าย ตลอดจนข้อริเริ่มของไทยในการหารือ 4 ฝ่าย ได้แก่ ไทย จีน ลาว และเมียนมา ในห้วงการประชุมรัฐมนตรีแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามแดนระหว่างประเทศ ทั้งยาเสพติด การค้ามนุษย์ ฝุ่นควัน PM2.5 และการหลอกลวงทางออนไลน์ ซึ่งการประชุมทั้งสองนั้นล้วนได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงเป็นพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้นในสถานการณ์เมียนมา นางจูลี แสดงความตั้งใจสนับสนุนแนวทางแก้ไขปัญหาของไทยได้ดี
สุดท้ายคือการหารือกับ นายทอม ซัลลิแวน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งตนได้ยื่นสัตยาบันสาร ที่ไทยได้ลงนามกับประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ไปแล้ว ถือเป็นเอกสารสำคัญที่เห็นความตั้งใจของประเทศไทยในการร่วมมือกับประเทศสมาชิก IPEF และได้เล่าถึงพัฒนาการสถานการณ์ประเทศเมียนมาด้วยเช่นกัน นายทอม ซัลลิแวน เข้าใจในความพยายามของประเทศไทยที่จะร่วมกับประเทศที่มีบทบาททั้งหมดในการแก้ไขเมียนมาได้โดยเร็ว สหรัฐฯ ก็เห็นความสำคัญของไทย และรับทราบว่าไทยต้องการร่วมมือกับทุกประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาเมียนมาให้ลุล่วงไปได้โดยเร็ว
นอกจากนี้ นายมาริษ ยังตอบสื่อมวลชนเกี่ยวกับการมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีสำหรับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 79 ซึ่งเป็นครั้งแรกในสมัยรัฐบาลใหม่ว่า มีการประชุมในหลายเรื่อง เช่น การประชุมสุดยอดเพื่ออนาคต ซึ่งประเทศไทยแสดงความตั้งใจในการร่วมมือกับประเทศสมาชิกในกรอบองค์การสหประชาชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาทุกด้าน
“สิ่งที่ท่านแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องการเห็นก็คือ นโยบายต่างประเทศที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ต้องการเห็นนโยบายต่างประเทศที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ประชาชนสามารถเข้าถึงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศได้อย่างชัดเจน”
นายมาริษ ย้ำว่า ได้กล่าวถึงความตั้งใจของรัฐบาล เพราะการเพิ่มประสิทธิภาพของสหประชาชาติก็มีความสำคัญ เพราะโลกปัจจุบัน บทบาทของสหประชาชาติถูกลดความสำคัญไปเยอะ ในฐานะประเทศเล็ก เราต้องการเห็นบทบาทสหประชาชาติที่มากขึ้น ไม่ใช่แค่สมัชชาสหประชาชาติ แต่ต้องการเห็นบทบาทของคณะมนตรีทั้งหลายอย่างคณะมนตรีความมั่นคง ในการแก้ปัญหาประเทศเล็ก ๆ และประเทศกำลังพัฒนาด้วย ซึ่งเป็นนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลไทยมาโดยตลอด ตลอดจนเน้นความร่วมมือของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น นี่คือเป้าหมายสำคัญของประเทศไทยอยู่แล้วในฐานะประเทศเล็ก
“อยากเห็นประเทศเรามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการกำหนดทิศทางของประชาคมโลกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว