'ธนาธร' ยกประสบการณ์ 6 ปีทำงานร่วม กอ.รมน. คุกคาม ปชช.-ตรวจสอบงบไม่ได้
'ธนาธร' ร่วมวงเสวนาเปิดตัวหนังสือ 'ในนามของความมั่นคง' ชวนอ่านเพื่อรู้เท่าทันกองทัพ ยกประสบการณ์ทำงานการเมือง 6 ปีกับ กอ.รมน. คุกคามประชาชน-แย่งงบพลเรือน ทำภารกิจซ้ำซ้อน-ตรวจสอบไม่ได้
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2567 ที่อาคารเกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงานเสวนา “ความมั่นคงภายใน : อำนาจของทหาร ภารกิจของประชาชน” เนื่องในโอกาสตีพิมพ์หนังสือ “ในนามของความมั่นคงภายใน : การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย” โดยรองศาสตราจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในวิทยากรร่วมแสดงความเห็นต่อหนังสือดังกล่าว
นายธนาธร เริ่มต้นด้วยการระบุถึงประสบการณ์การทำงานท้องถิ่นที่ผ่านมาของคณะก้าวหน้าที่เกี่ยวข้อง ว่า เมื่อครั้งที่คณะก้าวหน้าทำนโยบายน้ำประปาดื่มได้ที่เทศบาลตำบลอาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ได้สำเร็จ เพียงวันเดียวหลังการแถลงข่าว นายกเทศมนตรีก็ได้รับจดหมายจากนายอำเภอและ กอ.รมน. ซึ่งไม่ควรเกี่ยวอะไรกับน้ำประปาเลย มาขอตรวจสอบระบบน้ำประปา ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้สึกหวาดกลัวกังวล และนี่เป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้ว่าตราบที่สังคมไทยยังไม่สามารถสร้างสังคมไทยให้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ก็ยากจะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยได้
นายธนาธร กล่าวว่า ความพยายามของหนังสือเล่มนี้และผู้เขียน เป็นการนำเสนอรวบยอดทางความคิดอย่างเป็นระบบที่สุดในการศึกษา กอ.รมน. และกองทัพ ผ่านวิธีคิดเรื่องความมั่นคง ทอดผ่านระยะเวลาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500-2560 นำเอากรณีต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในงานวิชาการ หน้าหนังสือพิมพ์ บันทึกการประชุม มติ ครม. ซึ่งมีมากมายแต่ถูกเก็บอย่างกระจัดกระจาย มาร้อยรัดรวบยอดความคิด นำปรากฏการณ์ที่ดูผิวเผินไม่เกี่ยวข้องกันมาทำให้เห็นโครงการทางการเมืองของกองทัพ และทำให้ประชาชนรู้ทันกองทัพ
หนังสือเล่มนี้นำปรากฏการณ์เหล่านี้มาเชื่อมโยงหารูปแบบแล้วร้อยรัดกัน เพื่ออธิบายว่าการที่กองทัพเข้ามามีบทบาทในกิจการพลเรือนที่ไม่ควรเป็นกิจการความมั่นคงเลย เช่น การอบรมเศรษฐกิจพอเพียง การแจกที่ดินกรมธนารักษ์ แก้ปัญหาลักลอบทิ้้งของเสีย พัฒนาโครงการจัดหาแหล่งน้ำ จัดระเบียบคิวรถตู้ จัดระเบียบชายหาด ฯลฯ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นเอกเทศ แต่เกิดจากบทบาทของกองทัพตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ว่ามีการใช้กลไกอย่างละเอียดและแยบยลอย่างไรจนทำให้กิจการเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไปได้
“จากประสบการณ์การทำงานทางการเมือง 6 ปีของพวกเรา ทำให้เรายืนยันได้ว่าสิ่งที่ผู้เขียนระบุไว้เป็นเรื่องจริง ว่าการที่กองทัพใช้เรื่องความมั่นคงมาผลักดันโครงการต่างๆ ในกิจการพลเรือน เป็นการแย่งชิงทรัพยากรไปจากหน่วยงานพลเรือนที่มีหน้าที่และความรู้ความเชี่ยวชาญในปัญหานั้นโดยตรง ประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ถูกทำให้กลายเป็นปัญหาด้านความมั่นคงแบบทหารและแก้ไขด้วยกรอบและวิธีการแบบทหาร” นายธนาธร กล่าว
ประธานคณะก้าวหน้า ยกตัวอย่างจากการได้มีบทบาทตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ พบว่า งบประมาณกำลังพลภายใต้สังกัด กอ.รมน. มีปัญหาที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ แม้แต่ตัวแทนจากกรมบัญชีกลางเองยังต้องชี้แจงกับกรรมาธิการงบประมาณ ว่ากรมบัญชีกลางเองก็ไม่รู้ว่างบประมาณส่วนนี้ใช้จ่ายกันอย่างไร ทั้งที่กรมบัญชีกลางสามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณได้ทุกรายการของทุกหน่วยงาน
นายธนาธร กล่าวอีกว่าใน 15 ปีที่ผ่านมางบประมาณในภาพรวมของ กอ.รมน. แม้จะลดลงแต่ไปโผล่ที่งบประมาณกำลังพลที่เพิ่มขึ้นถึง 160% และงบประมาณดำเนินการที่เพิ่มขึ้นถึง 176% ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การเพิ่มขึ้นของงบประมาณรายจ่ายประจำปีและจีดีพีเติบโตในอัตราที่น้อยกว่า นี่คือเรื่องที่เกี่ยวพันกับประชาชน นี่คือการเบียดเบียนทรัพยากรของประเทศ แทนที่จะได้ใช้งบประมาณต่างๆ ไปในสิ่งที่เกิดประโยชน์กับประชาชนมากกว่า
อีกสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สุด คือ 22 ปีที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณไปถึง 5.64 แสนล้านในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ภายใต้การนำของ กอ.รมน. การใช้งบประมาณไปมากขนาดนี้แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ และน้อยคนมากที่จะกล้าตั้งคำถาม เป็นสิ่งที่บ่งบอกให้เห็นแล้วว่าการให้กองทัพเป็นตัวนำไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหา และทหารควรจะถอยออกไปแล้วให้พลเรือนกลับมานำการแก้ปัญหาได้แล้ว
หนังสือเล่มนี้ยังกล่าวไว้ตอนหนึ่งถึงเมื่อครั้งอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา กลับไม่ปรากฏนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารและการปฏิรูปกองทัพ จนเป็นที่น่าเสียดายที่รัฐบาลกำลังเดินซ้ำรอยรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาในการมอบภารกิจพลเรือนให้กับกองทัพใช้ขยายอำนาจของตนเอง
ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์การทำงานของเราที่ผ่านมาก็เห็นเป็นเช่นนั้น ถ้าย้อนเวลากลับไปในช่วงที่มีความพยายามจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล มีการลงนามข้อตกลงฉบับหนึ่งเกี่ยวกับวาระที่จะทำร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล และอีกฉบับหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลแต่เกี่ยวกับตำแหน่งประธานสภา ภายใต้เงื่อนไขว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะยกมือสนับสนุนกฎหมายสามฉบับที่เกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ คือร่างแก้ไขกฎอัยการศึก พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม และยกเลิก กอ.รมน.
อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเสนอกฎหมายยกเลิก กอ.รมน. เข้าไป ซึ่งต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กลั่นกรองเนื่องจากเกี่ยวข้องกับการเงิน ซึ่งก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผลเพื่อไม่ให้การออกกฎหมายมาผูกพันรัฐบาลจนประเทศมีวิกฤติด้านการคลัง แต่อดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐากลับปัดตกไป ซึ่งเป็นการกลับหัวกลับหางวัตถุประสงค์ของการให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจกลั่นกรอง เพราะการยกเลิก กอ.รมน. ไม่ได้เพิ่มงบประมาณ แต่เป็นการลดงบประมาณ
นายธนาธร กล่าวด้วยว่า หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่าปรากฏการณ์ 3 อย่างในสังคมไทย คือ
- การไม่มีนิติรัฐนิติธรรม
- การไม่มีการแต่งตั้งโยกย้ายด้วยระบบผลงาน (meritocracy )
- ปัญหาการทุจริตในหน่วยงานราชการ
ไม่ใช่ความล้มเหลวของระบบปัจจุบัน แต่เป็นสิ่งที่ระบบปัจจุบันจำเป็นต้องมีเพื่อทำให้มันดำรงอยู่ต่อไปได้ คือระบบที่มีขึ้นเพื่อการสร้างเสถียรภาพให้ระบบเศรษฐกิจและการเมืองแบบมีลำดับชั้นแบบจารีตของไทย ซึ่งการแก้ปัญหาพวกนี้ภายใต้ระบบแบบปัจจุบันเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่เริ่มจากการแก้ปัญหาในเชิงระบบ และแน่นอนที่สุดการปฏิรูปกองทัพเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการแก้ปัญหานี้