ผวา 'มือที่มองไม่เห็น' พิฆาต "อิ๊งค์' 'พท.' ถอยแก้ รธน. รื้อ 'จริยธรรม'
“พรรคเพื่อไทย” ชะงักปมแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราเกี่ยวกับคุณสมบัติรัฐมนตรี ว่าด้วย “จริยธรรม” เพราะมองว่าภายใต้สถานการณ์เช่นนี้สุ่มเสี่ยงได้ไม่คุ้มเสียจนอาจส่งผลต่อสถานะของนายกฯ “แพทองธาร”
KEY
POINTS
- รัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังมีสิ่งที่น่ากังวลในประเด็นร้อนเรื่องฝ่าฝืนจริยธรรมที่มีการมองว่า "แพทองธาร" อาจซ้ำรอย "เศรษฐา"
- "พรรคเพื่อไทย" ประเมินสถานการณ์มีความเสี่ยงสูงและได้ไม่คุ้มเสียหากเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็น "จริยธรรม"
- อดีตเลขาฯ สมช.วิเคราะห์สิ่งบอกเหตุ "พรรคเพื่อไทย" ชะงักประเด็น "จริยธรรม" เพราะได้สัญญาณ "มือที่มองไม่เห็น"
"เขาถอยกัน กลัวจะได้ไม่คุ้มเสีย ถ้ายังผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นคุณสมบัติรัฐมนตรีเกี่ยวกับจริยธรรม" แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย ระบุถึงเหตุที่ พรรคเพื่อไทยต้องหยุดชะงักประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี
แม้จะไม่ใช่มติพรรคอย่างเป็นทางการ แต่ "เพื่อไทย" ต้องพับเก็บประเด็นสายล่อฟ้านี้ออกไปก่อน
เป็นท่าทีที่เกิดขึ้นหลังจากพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ ยังไม่รับลูกขานรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นร้อนดังกล่าว
เพราะ "พรรคเพื่อไทย" มองว่าหากยังเดินหน้าผลักดันต่อก็เท่ากับเป็นการสร้างเงื่อนไขทางการเมืองว่าเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของตัวเองได้
แม้ในทางการเมือง การแก้ไขปมร้อนว่าด้วยเรื่อง "ไม่ซื่อสัตย์สุจริต" และ "ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง" ถือเป็นปมปัญหาใหญ่ที่อาจเป็นเครื่องประหารชีวิตนักการเมืองได้
ซึ่งเป้าใหญ่หนีไม่พ้น "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่สุ่มเสี่ยงจะถูกสอยลงจากตำแหน่งด้วย ทั้งจากศาลรัฐธรรรมนูญ หรือแม้แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซ้ำรอย "เศรษฐา ทวีสิน" อดีตนายกฯ
อย่าลืมว่า ในอดีต พรรคพลังประชาชนที่มี "สมัคร สุนทรเวช" เป็นหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2551 เคยเพลี่ยงพล้ำมาแล้ว จากการผลักดัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รายมาตรา ในประเด็นมาตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งมาตรา 309 เกี่ยวกับการนิรโทษกรรรมการรัฐประหารเมื่อปี 2549 จนถูกม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จุดกระแสโค่นล้มรัฐบาล ลามไปสู่การยึดทำเนียบฯ และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็ยุบพรรคพลังประชาชนในท้ายที่สุด
ถึงแม้เชิงลึก บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่อยากเก็บประเด็นปัญหาคุณสมบัตินี้ไว้ก็ตาม เพราะเกรงว่าจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้
ในขณะที่พรรคฝ่ายค้าน "พรรคประชาชน" ยังคงยืนยันจุดยืนผลักดันร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม รายมาตราในประเด็นคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรม เพราะบรรดาผู้แทนพรรคเฉดส้มมองเห็นกรณี "พรรณิการ์ วานิช" อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ก็ถูกประเด็นมาตรฐานทางจริยธรรม ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตมาแล้ว
ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) วิเคราะห์ถึงการกลับลำของ "พรรคเพื่อไทย" ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นฝ่าฝืนจริยธรรม ว่า นี่คือสิ่งบอกเหตุ ถึง “มือที่มองไม่เห็น” ที่กำลังจะกลับมา ขณะเดียวกันก็เป็นความอ่อนด้อยของพรรคเพื่อไทยด้วย เพราะก่อนที่พรรคร่วมรัฐบาลจะตลบหลังนั้น ต้องมีการพูดคุยกันในหมู่พรรคร่วมรัฐบาลกันก่อนอยู่แล้ว และที่สำคัญพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็รู้อยู่ใครอยู่ข้างหลัง
“จริงๆ กระบวนการแก้ไขมาตรานี้ ควรต้องถูกแก้ไขเพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งอาจเป็นการแก้ไขทั้งฉบับเพื่อให้ มีการเลือกตั้ง สสร. แล้วให้ สสร.ว่าไปก็ได้ แต่ตอนนี้ ถ้ามองในเชิงยุทธศาสตร์ คือมีความพยายามจะใช้เครื่องมือเรื่องคุณสมบัติจัดการกับ แพทองธาร และทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพราะถ้าจัดการท่านทักษิณได้ นายกฯก็ไม่มีพลังที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้"
"ถ้าสมมติ ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.เกิดรับประเด็นเรื่องไม่ซื่อสัตย์สุจริต กับฝ่าฝืนจริยธรรม ก็มีผลเล่นงาน นายกฯ อิ๊งค์ ได้ซึ่งนายกฯ คนต่อไปอาจเป็นของพรรคภูมิใจไทยหรือเป็นของ นายชัยเกษม นิติสิริ หรืออาจจะยุบสภาฯก็ได้” พล.ท.ภราดร ระบุ
รัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังมีสิ่งที่น่ากังวลในประเด็นร้อนเรื่องฝ่าฝืนจริยธรรมที่มีการมองว่า "แพทองธาร" อาจซ้ำรอย "เศรษฐา"
โดยเฉพาะประเด็นการแต่งตั้ง "สุรพงษ์ ปิยะโชติ" เป็น รมช.คมนาคม ซึ่งเคยถูกศาลจังหวัดกาญจนบุรี ได้มีคำพิพากษาในความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษให้มีกำหนด 1 ปี
แน่นอนว่า การเก็บเครื่องมือตรงนี้ แม้พรรคร่วมรัฐบาลจะไม่ได้เต็มใจก็ตาม แต่ก็เป็นอีกเครื่องมือสำหรับ "ล็อกคอ" และจัดการกับ "พรรคเพื่อไทย" ได้ในอนาคต ในกรณีถึงจุดเปราะบาง หรือเพลี่ยงพล้ำทางการเมือง และเชื่อกันว่ามี "อำนาจ" ของ "มือที่มองไม่เห็น" คอยให้สัญญาณอยู่เบื้องหลัง