‘อัศวเหม’ เฮือกสุดท้าย ผ่าสังเวียน ‘นายก อบจ.ปากน้ำ’

‘อัศวเหม’ เฮือกสุดท้าย ผ่าสังเวียน ‘นายก อบจ.ปากน้ำ’

แนวโน้มสมรภูมินายก อบจ.ปากน้ำ ปี 2568 จะเป็นการต่อสู้กันระหว่างกระแสสีส้ม กับเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่ของบ้านใหญ่ม้าทองคำ

KEY

POINTS

  • สัญญาณการปกป้องที่มั่นการเมืองท้องถิ่น 2 แห่ง ของตระกูลอัศวเหม ในวันที่ภูมิทัศน์การเมืองปากน้ำเปลี่ยนไป

  • มิ.ย.2567 วัฒนา อัศวเหม เปิดบ้านพักในประเทศเพื่อนบ้านต้อนรับกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น เปิดตัว สุนทร ปานแสงทอง เป็นผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรปราการ และ สัมพันธ์ เตชะเจริญกุล เป็นผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ

  • แนวโน้มสมรภูมินายก อบจ.ปากน้ำ ปี 2568 จะเป็นการต่อสู้กันระหว่างกระแสสีส้ม กับเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่ของบ้านใหญ่ม้าทองคำ เป็นสงครามครั้งสุดท้ายของตระกูลอัศวเหม หากพ่าย ก็อาจถึงกาลอวสานของบ้านใหญ่ปากน้ำ  

สมรภูมิการเมืองท้องถิ่นชายขอบเมืองหลวง “นายก อบจ.สมุทรปราการ” ในชั่วโมงนี้ มีความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า” ตระกูลอัศวเหม และพรรคประชาชน 

“สุนทร ปานแสงทอง” ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรปราการ ค่ายบ้านใหญ่ม้าทองคำ เปิดหน้าหาเสียงมาตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา 

ส่วน “นพดล สมยานนทนากุล” ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรปราการ ค่ายสีส้ม เริ่มลงพื้นที่มาได้ 2 เดือนกว่า แต่พรรคยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ

ย้อนไปต้นเดือน มิ.ย.2567 วัฒนา อัศวเหม เปิดบ้านพักในประเทศเพื่อนบ้านต้อนรับกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น สายบ้านใหญ่อัศวเหม เปิดตัว  สุนทร ปานแสงทอง เป็นผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรปราการ และ สัมพันธ์ เตชะเจริญกุล เป็นผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ

นี่คือสัญญาณการปกป้องที่มั่นการเมืองท้องถิ่น 2 แห่ง ของตระกูลอัศวเหม ในวันที่ภูมิทัศน์การเมืองปากน้ำเปลี่ยนไป

‘อัศวเหม’ เฮือกสุดท้าย ผ่าสังเวียน ‘นายก อบจ.ปากน้ำ’

สำหรับการเมืองระดับชาติ บ้านใหญ่ม้าทองคำ ยังภักดีต่อ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ “ลุงป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ

ดังนั้น คณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐชุดใหม่ จึงมีชื่อ อัครวัฒน์ อัศวเหม อดีต สส.สมุทรปราการ และยงยุทธ สุวรรณบุตร อดีต สส.สมุทรปราการ เป็นกรรมการบริหารพรรค

พูดง่ายๆ กลุ่มปากน้ำในยุคพลังประชารัฐรุ่งเรือง เป็นที่รู้กันว่า ผู้ดูแลตัวจริงชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท ไม่ใช่ พล.อ.ประวิตร

หลายคนคงจำได้ สส.กลุ่มปากน้ำ เคยแสดงอิทธิฤทธิ์งดออกเสียง ในกรณีซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2565

หลังค่าย 3 ป.แตกเป็น 2 ขั้วคือ พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ ในการเลือกตั้งปี 2566 คนเสื้อเหลืองและนกหวีดในปากน้ำที่เคยเลือก สส.สายบ้านใหญ่ ก็ไม่เลือก เพราะกลุ่มอัศวเหมเลือกข้างลุงป้อม

จากปี 2562 กลุ่มบ้านใหญ่เคยได้ สส.ปากน้ำ 6 ที่นั่ง ก็สอบตกทุกเขต แถมคะแนนบัญชีรายชื่อ พลังประชารัฐ ได้แค่ 24,746 คะแนน

พรรคก้าวไกลจึงชนะยกจังหวัด กวาด สส.เขต 8 ที่นั่ง และอันดับ 1 คะแนน สส.บัญชีรายชื่อ ได้ 447,751 คะแนน

ตระกูลอัศวเหม เคยปราชัยในสนามการเมืองระดับชาติมาหลายสมัย อย่างสมัยกระแสทักษิณ และเสื้อแดงเฟื่องฟู แต่บ้านใหญ่ยังเอาตัวรอดได้ในสนามการเมืองท้องถิ่น 

สมรภูมิท้องถิ่นปากน้ำปี 2563 นันทิดา แก้วบัวสาย สะใภ้ม้าทองคำ เอาชนะผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า ได้นั่งนายก อบจ.สมุทรปราการ 

สะใภ้ม้าทองคำอย่าง ประภาพร อัศวเหม ก็ได้นั่งเก้าอี้นายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ

‘อัศวเหม’ เฮือกสุดท้าย ผ่าสังเวียน ‘นายก อบจ.ปากน้ำ’

หลังสิ้น เอ๋-ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม มีความเปลี่ยนแปลงในบ้านม้าทองคำ เมื่อเจ้าพ่อปากน้ำ วัฒนาจะกลับมาจัดทัพเลือกตั้งท้องถิ่น จึงส่งผลให้นันทิดา และประภาพร ต้องวางมือ 

นับจากนี้ไป บ้านใหญ่บางโฉลง คือศูนย์รวมใจกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า และมีการทำแฟนเพจเฟซบุ๊ค “สมุทรปราการก้าวหน้า” ขึ้นใหม่ ที่มีภาพปกสุนทร ปานแสงทอง ชูกำปั้น พร้อมคำขวัญ “มาร่วมสร้างสมุทรปราการให้ก้าวหน้าไปด้วยกัน” 

‘อัศวเหม’ เฮือกสุดท้าย ผ่าสังเวียน ‘นายก อบจ.ปากน้ำ’

บ้านใหญบางโฉลง หรือบ้าน “ปานแสงทอง” หมู่ 9 ชุมชนบ้านไม้ท้ายซอย ต.บางโฉลง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ได้มีการทำบุญขึ้นบ้านใหม่เมื่อ 30 พ.ค. 2567 และในวันดังกล่าว วัฒนาได้โฟนอินเข้ามาอวยพรให้เจ้าของบ้าน และทักทายนักการเมืองท้องถิ่น

สุนทร ปานแสงทอง เคยเป็นผู้ช่วย สส.ประจำตัว วัฒนา อัศวเหม มานานกว่า 40 ปี และเปรียบเสมือนพ่อบ้านม้าทองคำ

ช่วงรุ่งเรืองของเจ้าพ่อปากน้ำ วัฒนามีมือขวาผู้ช่ำชองกลยุทธ์การเมืองชื่อ มั่น พัธโนทัย ลูกชาย สังข์ พัธโนทัย อดีตคนสนิทจอมพล ป.พิบูลสงคราม

มั่น พัธโนทัย เป็น สส.สมุทรปราการ อยู่หลายสมัย ช่วงหลัง มั่นได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีไอซีที ในรัฐบาลสมัคร รวมถึงเป็น รมช.คลัง รัฐบาลอภิสิทธิ์

หลังจากมั่น พัธโนทัย วางมือการเมือง เพราะปัญหาสุขภาพ วัฒนามอบความไว้วางใจให้สุนทร ปานแสงทอง จึงได้เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ รัฐบาลประยุทธ์

วันที่บ้านใหญ่ม้าทองคำ อยู่ในช่วงขาลง วัฒนาเข็นพ่อบ้านอัศวเหมอย่าง สุนทร ปานแสงทอง ลงสนามท้องถิ่น จะสู้กระแสสีส้มได้หรือไม่ 

เมื่อตกเป็นรองเรื่องกระแส กลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า จึงชิงเดินเกมรุกโดย “อัศวเหมรุ่น 2” ทั้ง อัครวัฒน์ อัศวเหม อดีต สส.สมุทรปราการ ต่อศักดิ์ อัศวเหม อดีต สส.บัญชีรายชื่อ และวรพร อัศวเหม อดีตประธานสภาเทศบาลเมืองบางปู โดยสามคนนี้เป็นหลานชายวัฒนา

รวมถึงอดีต สส.สมุทรปราการ 3 คนคือ ฐาปกรณ์ กุลเจริญ ยงยุทธ สุวรรณบุตร และกรุงศรีวิไล สุทินเผือก

ส่วนทัพท้องถิ่น นำโดย สมควร ชูไสว ประธานสภา อบจ.สมุทรปราการ และ ชนะ หงวนงามศรี รองประธานสภาฯ ซึ่งเป็นคนสนิทประมุขม้าทองคำ

จุดแข็งของบ้านใหญ่ปากน้ำคือ ส.อบจ. นายกเทศมนตรี นายก อบต. และผู้ใหญ่บ้าน-กำนัน ฐานการเมืองท้องถิ่น-ท้องที่ ร้อยละ 80 ยังภักดีต่อวัฒนา 

‘อัศวเหม’ เฮือกสุดท้าย ผ่าสังเวียน ‘นายก อบจ.ปากน้ำ’

สำหรับคู่แข่งตระกูลอัศวเหม อย่างพรรคประชาชน ที่มีสส.สมุทรปราการทั้ง 8 เขต คนปากน้ำก็ได้เห็น “หมอเอ๊กซ์” นพดล สมยานนทนากุล ลงพื้นที่พบปะชาวบ้านแถว อ.บางพลี อ.บางบ่อ และ อ.เมืองสมุทรปราการ ในฐานะว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรปราการ

ส่วนพรรคเพื่อไทย ต้องลุ้นว่า สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ จะส่งลูกชาย ภิญโญ กิจเลิศไพโรจน์ อดีตผู้สมัคร สส.สมุทรปราการ ลงสู้บ้านใหญ่ และพรรคประชาชนหรือไม่ 

แนวโน้มสมรภูมินายก อบจ.ปากน้ำ ปี 2568 จะเป็นการต่อสู้กันระหว่างกระแสสีส้ม กับเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่ของบ้านใหญ่ม้าทองคำ 

ต้นปี 2568 สมรภูมินายก อบจ.สมุทรปราการ เป็นสงครามครั้งสุดท้ายของตระกูลอัศวเหม หาก สุนทร ปานแสงทอง พ่ายค่ายสีส้ม ก็อาจถึงกาลอวสานของบ้านใหญ่ปากน้ำ