เรตติ้ง ค้ำคอ ‘อุ๊งอิ๊ง’ เกมซื้อใจ แจกเงิน เลี้ยงกระแส
“แพทองธาร” ยืน 1 นิด้าโพล แต่เรตติ้ง “พรรคเพื่อไทย” ตามหลัง “พรรคประชาชน” ความนิยมตัวบุคคลกับพรรคสวนทางกัน สะท้อนว่ากระแส “พรรคส้ม” ยังเข้มแข็ง หรือเนื้อใน “เพื่อไทย” มีปัญหาบางอย่างหรือไม่
KEY
POINTS
- การแจกเงินหมื่นถูกมองช่วยอัพความนิยมให้แพทองธารอย่างมีนัยสำคัญ
- เกมประชานิยม ที่ง่ายและคลาสสิคที่สุด ให้เงินกันดื้อๆ ดูจะได้ผลในทางการเมือง โดยเฉพาะยุคข้าวยากหมากแพง คนชักหน้าไม่ถึงหลัง
- ความนิยมทางการเมืองในตัวผู้นำ มีแนวโน้มจะผูกโยงกับการแจกเงินมากขึ้น เพื่อเลี้ยงเรตติ้งให้อยู่ในจุดที่น่าพอใจ
- หาเสียงเลือกตั้งในอนาคต ไม่ต้องแปลกใจถ้าพรรคการเมืองจะเกทับกันมากขึ้น ยืนพื้นที่หมื่นบาท
ออกอาการดี๊ด๊ากันยกใหญ่ สำหรับคนเพื่อไทย เมื่อได้เห็นความนิยมของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ผ่านนิด้าโพล
ทั้งที่ตัวเลขผลสำรวจ ตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 67 เรตติ้ง นายกฯอิ๊งค์ อยู่ระดับ 6%
ไตรมาส 2 ลดลงเหลือแค่ 4.85% ก่อนที่ไตรมาส 3 ตัวเลขพุ่งพรวด มาอยู่ที่ 31.35% เพิ่มสูงขึ้นถึง 26.5%
น่าสนใจว่า จังหวะเวลาที่โพลนำเสนอผลสำรวจ เป็นช่วงที่แพทองธาร เพิ่งรับตำแหน่งไม่นาน ใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่นโยบายเรือธงรัฐบาล เริ่มคิกออฟ แจกเงินสด 1 หมื่น ประเดิมให้กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน
ในอารมณ์ที่ผู้คนหน้าชื่นตาบาน ได้ 10 ใบเทาเข้ากระเป๋า ตรงนี้อาจเป็นข้อสังเกตสำคัญ ที่หนุนนำความนิยมให้แพทองธาร รวมถึงยี่ห้อชินวัตร ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีส่วนช่วยปั้มเรตติ้งครั้งนี้ไม่มากก็น้อย
ความเคลื่อนไหวของทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพ่อนายกฯ ตอนนี้เก็บตัวเงียบ เปิดทางให้ลูกได้เฉิดฉาย พิสูจน์ฝีมือ
หลังขึ้นเวที Diner Talk : Vision for Thailand 2024 ของเครือเนชั่น ปล่อยของสร้างอิมแพ็ค ทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมเรียกเสียงฮือฮาวงกว้าง จนผู้คนแซวกันไปทั่วว่า คนนี้แหละคือนายกฯ ตัวจริง
ผลสัมฤทธิ์ในนโยบายรัฐบาล ไม่ว่าใครจุดพลุก็ตาม แต่เมื่อไหร่ที่เป็นรูปเป็นร่าง คนจะจดจำผู้นำที่อยู่ในตำแหน่ง
อานุภาพของนโยบายแจกเงิน ดูจะสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนได้ในทันตา
ต่างจากช่วงเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ความนิยมแทบไม่กระเตื้อง ทั้งที่เป็นคนเปิดหัวโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ก็เต็มไปด้วยเงื่อนไขข้อจำกัด และความสุ่มเสี่ยงทางกฎหมายมากมาย จนมีเสียงท้วงติงจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ทำเอาคนในสังคมไม่น้อย อยู่ในขั้นต้องทำใจ โอกาสจะได้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 1หมื่น ตอนนั้นริบหรี่
กระทั่งเปลี่ยนผู้นำ ปรับเงื่อนไข ใช้วิธีที่ง่ายที่สุดคือแจกเงินสด เอาไปใช้จ่ายอะไรก็ได้ แทบไม่มีหน่วยงานไหนขัดขวาง
การขึ้นมามีอำนาจของแพทองธาร เจ้าของสโลแกน“คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี” ประเดิมนโยบายแจกเงินหมื่น ก็นับว่าตอบโจทย์มอตโต้ดังกล่าวอยู่ระดับหนึ่ง
เมื่อคนได้เงิน ซื้อข้าวปลายาไส้ มีกำลังใช้จ่าย มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ชั่วครู่ จนกว่าเงินหมื่นจะหมด จากนั้นชีวิตก็อาจกลับสู่วังวนเดิม
เกมแจกเงินของรัฐบาล ที่ผูกโยงกับความนิยมในตัวผู้นำ กำลังค้ำคอนายกฯ อิ๊งค์ ให้ต้องเพิ่มเพดานบินแจกต่อเนื่องและมากขึ้นหรือไม่ เพื่อแลกความนิยม
ต่อไปหาเสียงเลือกตั้งทุกพรรคคงเกทับกันแหลกลาญ แย่งโหวต ซื้อใจฐานเสียง
แพทองธาร ที่ยืน 1 นิด้าโพล แต่เรตติ้งพรรคเพื่อไทย ตามหลังพรรคประชาชน รายละเอียดตรงนี้น่าสนใจ
ความนิยมตัวบุคคลกับพรรคสวนทางกัน สะท้อนว่ากระแสพรรคส้มยังเข้มแข็ง หรือเนื้อในเพื่อไทย มีปัญหาบางอย่างหรือไม่