‘ซูเปอร์ล็อก’บล็อกแก้รัฐธรรมนูญ เกมสภาสูง'พท.-ภท.'ศึกวัดพลัง?

‘ซูเปอร์ล็อก’บล็อกแก้รัฐธรรมนูญ เกมสภาสูง'พท.-ภท.'ศึกวัดพลัง?

‘ซูเปอร์ล็อกรธน.’วัดใจรัฐบาล จับตาสัญญาณสภาสูง-อำนาจแฝง ขวางรื้อรัฐธรรมนูญ วัดพลัง‘เพื่อไทย-ภูมิใจไทย’ ใครถือไพ่เหนือ

KEY

POINTS

  • มติสว.ส่งผลกระทบไปถึงกระบวนการประชามติ  ซึ่งพรรคเพื่อไทยหมายมั่นว่า จะให้เกิดขึ้นในช่วงเดียวกันกับการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2568 เพื่อชิงแต้มต่อทางการเมือง 
  • “เกมพลิกมติ” ที่เกิดขึ้นในสภาสูงเวลานี้ ไม่เพียงแต่จะส่งผลไปถึงกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อันเป็นเสมือน"เรือธง"พรรคเพื่อไทยแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังอาจรวมไปถึงการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราในอนาคต ที่จะยากตามไปด้วย 
  • ประเด็นจริยธรรม ซึ่งพรรคเพื่อไทยเจอแรงต้านจากสังคม  จนส่งสัญญาณถอยในเวลานี้  มีกระแสข่าวว่า มีแนวโน้มที่พรรคเพื่อไทยจะแก้เกม โดย “ยืมมือ ส.ส.ร.” เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเกมออกหน้านี้ แน่นอนว่าย่อมกระทบไปถึงแผนที่พรรคเพื่อไทยวางไว้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

  • อาจเป็น“เกมวัดใจ”ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ“พรรคเพื่อไทย” ที่ชูธงแก้รัฐธรรมนูญ เป็นนโยบายรัฐบาล และ“พรรคภูมิใจไทย”ที่เวลานี้ถูกมองว่า แผ่อำนาจไปยังสภาสูง และถูกจับตาว่าจะเล่นบทไหน หน้าไหนกันแน่ 

  • “อำนาจแฝง” ที่อยู่หลังม่าน ที่พยายามสกัดขัดขวางกระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ถือเป็นมรดก คสช. และเป็นเครื่องมือที่ “อำนาจเก่า” ใช้ค้ำอำนาจปัจจุบันอยู่อีกชั้น

จับสัญญาณ “พรรคร่วมรัฐบาล” ถอดรหัสเกมวัดพลังรื้อรัฐธรรมนูญ 2560 หลังที่ประชุมวุฒิสภา หรือ สว.วันที่ 30 ก.ย.มีมติ 164 เสียงต่อ 21 เสียง “พลิกมติสส.” เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการรออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ.. ตามที่ “กมธ.เสียงข้างมาก”ที่มีการแก้ไขมาตรา 13 กลับไปใช้หลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น หรือ“Double Majority” สำหรับการออกเสียงประชามติ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เนื้อหาสำคัญในชั้น สว.เขียนเพิ่มจากเดิม ที่ผ่านชั้นสภาผู้แทนราษฎร ระบุเพียง “เสียงข้างมากธรรมดา” (Plurality หรือ Simple Majority) คือ “เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมาก ต้องสูงกว่าคะแนนเสียง งดออกเสียง ในเรื่องที่จัดการออกเสียงประชามตินั้น ๆ”

โดยให้เพิ่มเติมความวรรคสอง กำหนดให้ การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในการจัดทำประชามติ มาตรา 9 (1) หรือ (2) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

มติที่ออกมา ได้สะท้อนถึง “เกมชิงไหวชิงพริบ” ระหว่าง 2 สภาฯ เพราะกระบวนการหลังจากนี้ จะต้องกลับมาตั้ง “กมธ.ร่วม 2 สภาฯ” ใช้เวลาอีกประมาณ 45 วัน 

เมื่อเกมเป็นเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบไปถึงกระบวนการประชามติ ซึ่งพรรคเพื่อไทยหมายมั่นว่า จะให้เกิดขึ้นในช่วงเดียวกันกับการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2568 เพื่อชิงแต้มต่อทางการเมือง แต่เวลานี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น 

‘ซูเปอร์ล็อก’บล็อกแก้รัฐธรรมนูญ เกมสภาสูง\'พท.-ภท.\'ศึกวัดพลัง?

 สว.พลิกมติ “ประชามติ”สะดุด 

ตอกย้ำจากท่าทีจาก “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย เพื่อไทย อ่านเกมวุฒิสภาที่ให้ฟื้นเกณฑ์ “เสียงข้างมากสองชั้น” ถ้าเป็นแบบนี้ การออกเสียงประชามติ ก็จะช้ากว่าไทม์ไลน์ที่เป็นอยู่ จากเดิมที่กำหนดให้ทำพร้อมกับการเลือกสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ในเดือน ก.พ.ปี 68 ซึ่งไม่สามารถทำได้

ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุด คือการหารือร่วมกับหัวหน้าพรรคการเมือง ที่ต้องคุยกันให้ชัดว่า การเดินต่อไป ควรจะเดินแบบไหน เช่น ขณะนี้มีข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เราจะทำเลยหรือไม่ โดยเสนอญัตติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ และถ้าผ่านรัฐสภาก็ไปทำประชามติเลย ซึ่งแนวทางนี้จะทำประชามติเพียง 2 ครั้ง ไม่จำเป็นต้อง 3 ครั้งเหมือนเดิม ซึ่งนักวิชาการ และใครต่อใครได้ให้แนวทางมา ตนจึงอยากให้คุยกับหัวหน้าพรรคให้ชัด เพราะเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของรัฐบาล ว่าควรจะเดินไปอย่างไร

สอดคล้องกับประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ”สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่บอกว่า คงต้องให้หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลคุยกันก่อน ให้เกิดความชัดเจนว่า จะเสนอกฎหมายอะไร เชื่อว่าทุกอย่างจะจบได้ด้วยการเจรจา แต่สิ่งสำคัญ วันนี้สภาฯ ก็ทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติไป อย่างเรื่องแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย เราไม่ทิ้ง แต่จะให้เป็นไปตามกระบวนการที่จะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในอนาคต ดำเนินการ

‘ซูเปอร์ล็อก’บล็อกแก้รัฐธรรมนูญ เกมสภาสูง\'พท.-ภท.\'ศึกวัดพลัง?

 

น่าสนใจว่า “เกมพลิกมติ” ที่เกิดขึ้นในสภาสูงเวลานี้ ไม่เพียงแต่จะส่งผลไปถึงกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อันเป็นเสมือน"เรือธง"พรรคเพื่อไทยแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังอาจรวมไปถึงการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราในอนาคต ที่จะยากตามไปด้วย 

โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในประเด็นจริยธรรม ซึ่งพรรคเพื่อไทยเจอแรงต้านจากสังคม และพรรคร่วมรัฐบาล จนส่งสัญญาณถอยในเวลานี้ 

ก่อนหน้ามีกระแสข่าวว่า มีแนวโน้มที่พรรคเพื่อไทยจะแก้เกม โดยใช้แนวทางเดิมคือ “ยืมมือ ส.ส.ร.”ชิงจังหวะแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูกทั้งหมด ซึ่งรวมถึงกฎหมายพรรคการเมืองและ ป.ป.ช.ต่อไป เพื่อลดแรงกระเพื่อมทางการเมือง

เมื่อเกมออกหน้านี้ แน่นอนว่าย่อมกระทบไปถึงแผนที่พรรคเพื่อไทยวางไว้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 เกมวัดใจ“เพื่อไทย-ภูมิใจไทย”  

ทำไปทำมา มติที่ออกมา นอกเหนือจะเป็นเกมวัดพลัง 2 สภาฯแล้ว ลึกๆ อาจเป็น“เกมวัดใจ”ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ“พรรคเพื่อไทย” ที่ชูธงแก้รัฐธรรมนูญ เป็นนโยบายรัฐบาล และ“พรรคภูมิใจไทย”ที่เวลานี้ถูกมองว่า แผ่อำนาจไปยังสภาสูง และถูกจับตาว่าจะเล่นบทไหน หน้าไหนกันแน่ 

ไล่ตั้งแต่ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ประเด็นจริยธรรม ก่อนหน้าที่จะส่งสัญญาณถอย ก็ถูกพรรคเพื่อไทยซัดทอด ว่าเป็น เป็น“หัวหน้าพรรคใหญ่”ในพรรคร่วมรัฐบาล ที่เป็นต้นเรื่องความคิดดังกล่าว

ทว่า ภูมิใจไทยกลับเล่นอีกหน้า โดยให้  “กลุ่มยังบลัดภูมิใจไทย” นำโดย “ไชยชนก ชิดชอบ”สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรค กรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง ในฐานะกรรมการบริหารพรรค  บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี โฆษกพรรค ร่วมแถลงจุดยืนของพรรค ว่า“เห็นด้วย”กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เดินหน้าไปสู่การทำประชามติ เสมือนเป็นการ“คัดค้าน”การเสนอแก้ไขรายมาตรา โดยเฉพาะประเด็นจริยธรรมแบบมีชั้นเชิง

‘ซูเปอร์ล็อก’บล็อกแก้รัฐธรรมนูญ เกมสภาสูง\'พท.-ภท.\'ศึกวัดพลัง?

ต้องจับตา "เกมต่อรอง" ในขั้วรัฐบาลเวลานี้ดูเหมือนจะส่งสัญญาณเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นในระดับ"คีย์แมนพรรคเพื่อไทย"  ที่ส่งสัญญาณกลายๆผ่านไปยังวงหารือหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล

หรือแม้แต่หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง  "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่พูดถึงข้อสังเกตมีบางพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปตามแนวทางของตัวเอง

โดยหัวหน้าพรรคประชาชาติ พูดในทำนองที่ว่า ไม่เชื่อว่าจะเป็นแบบนั้น แถมทวนความจำไปถึงจุดเริ่มต้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งอนุทิน ชาญวีรกูลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็พูดเรื่องนี้เป็นคนแรก 

เป็นเช่นนี้ย่อมต้องจับตาในยามที่พรรคสีน้ำเงินถืออำนาจในสภาสูงด้วยแล้ว ย่อมต้องจับตาจังหวะที่อาจกำลังซ่อนไพ่ลับไว้อีกหลายชั้นต่อจากนี้หรือไม่ 

ยังไม่นับรวม “อำนาจแฝง” ที่อยู่หลังม่าน ที่พยายามสกัดขัดขวางกระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ถือเป็นมรดก คสช. และเป็นเครื่องมือที่ “อำนาจเก่า” ใช้ค้ำอำนาจปัจจุบันอยู่อีกชั้น เพื่อสกัดฤทธิ์เดชพรรคเพื่อไทยไม่ให้มากไปกว่านี้

ต้องจับตาเพื่อเกมแก้รัฐธรรมนูญที่ยืดเยื้อ ย่อมหมายถึง"เกมต่อรอง" ที่มีมากขึ้นตามไปด้วย