'270 ที่นั่ง' ส้มฝันไกล โจทย์แรกฝ่าด่าน 'บ้านใหญ่'
ฝันใหญ่ 270 แลนด์สไลด์ “เท้ง ณัฐพงษ์” โจทย์แรกฝ่าด่าน “บ้านใหญ่” สมรภูมิ อบจ. “พรรคประชาชน” ตั้งเป้าลุย 20 จังหวัด
กลเกม “นายก อบจ.” ซุ้มบ้านใหญ่ ทยอยลาออกก่อนครบวาระ 19 ธ.ค.2567 เพื่อจัดแถว สจ. และชิงความได้เปรียบเหนือค่ายสีส้ม
สัปดาห์ที่แล้ว “เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และ “ติ่ง” ศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชน เดินสายพบสื่อสำนักใหญ่ๆ แถลงโครงการ “เท้ง ทั่ว ไทย” เพื่อการเข้าถึงโหวตเตอร์ให้มากที่สุด
พรรคประชาชน ต้องการได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น รวมแล้วประมาณ 20 ล้านเสียง เพื่อเป้าหมาย 270 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งปี 2570
โจทย์ยากของพรรคสีส้มคือ “สส.เขต” ที่ต้องการได้ 220 เขต จากปีที่แล้วได้ 112 เขต หมายความว่า หัวหน้าเท้งต้องหาเพิ่ม 100 กว่าเขต และเป็นที่ทราบกันดีว่า สส.เขตนั้นเป็นจุดแข็งของ “พรรคบ้านใหญ่”
โครงการ “เท้ง ทั่ว ไทย” จะเริ่มต้นกลางเดือน พ.ย.นี้ โดยภูเก็ต เป็นจังหวัดแรก และก่อนสิ้นปี หัวหน้าเท้งจะไปให้ได้ 20 จังหวัด ซึ่งเป็นจังหวัดเป้าหมายที่พรรคประชาชนส่งผู้สมัครนายก อบจ.
“ติ่ง” ศรายุทธิ์ ใจหลัก สรุปบทเรียนคณะก้าวหน้า ที่ส่งผู้สมัครนายก อบจ. 42 จังหวัดเมื่อปี 2563 และพ่ายแพ้ทุกสนาม เพราะความไม่พร้อม และขาดผู้สมัครคุณภาพ
การเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งใหม่ พรรคประชาชน จึงเลือกส่งเฉพาะจังหวัดที่มีความพร้อม ทั้งตัวผู้สมัคร และทีมงาน ประมาณ 20 จังหวัด
เบื้องต้น แกนนำพรรคสีส้ม เปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.อย่างเป็นทางการไปแล้ว 5 จังหวัดคือ ภูเก็ต, เชียงใหม่, อุดรธานี, ลำพูน และตราด
บังเอิญ วิเชียร ขาวขำ ลาออกจากตำแหน่งนายก อบจ.อุดรธานี เมื่อ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรฯ เร็วกว่ากำหนด และเป็นไฟต์บังคับให้หัวหน้าเท้ง ลงสนามนำทัพเองเหมือนสนามราชบุรี
สนามอุดร-วัดกระแสเท้ง
สมรภูมิอุดรธานี จะเป็นการต่อสู้ระหว่าง “บ้านใหญ่” พรรคเพื่อไทยกับตัวแทนพรรคประชาชน ไม่ต่างจากสนาม อบจ.ราชบุรี
กกต.อุดรฯ กำหนดแล้ว โดยจะเปิดสมัครรับเลือกตั้ง 10-14 ต.ค. 2567 และวันเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานีคือ วันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.2567
วิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรฯ 2 สมัยวางมือ และส่งไม้ต่อให้ “ป๊อบ” ศราวุธ เพชรพนมพร อดีต สส.อุดรฯ มาลงสนามแทนในสีเสื้อเพื่อไทย
“ป๊อบ” ศราวุธ เพชรพนมพร เป็นลูกเขย “อินทรีอีสาน” พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีต ผบ.ตร. และมีสองพี่น้อง ปรีชา ชัยรัตน์ และประชา ชัยรัตน์ นายทุนใหญ่เมืองอุดรฯ เป็นสปอนเซอร์
ที่สำคัญ เสี่ยป๊อบ ศราวุธ ค่ายเพื่อไทยอุดรฯ ประกาศจับมือ “กลุ่มนครหมากแข้ง” นำโดย กิตติกร ฑีฆธนานนท์ ลงสู้ศึกหนนี้
สมัยสงครามเสื้อสีแดง-เหลือง ค่ายเพื่อไทยกับกลุ่มนครหมากแข้ง ต่อสู้กันทั้งสนามการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ
บริบทการเมืองท้องถิ่นเมืองอุดรฯเปลี่ยนไป แดง-เหลืองจึงรวมใจกันสู้ส้ม เพราะเลือกตั้ง สส.อุดรฯ ปีที่แล้ว พรรคประชาชนทะลวงเมืองหลวงเสื้อแดงสำเร็จคือ ณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ สส.อุดรฯ เขต 1
พรรคประชาชน เปิดตัว คณิศร ขุริรัง ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรฯ ของพรรคประชาชน มาตั้งแต่เดือน มี.ค.2567
“ทนายแห้ว” คณิศร ขุริรัง ไม่ใช่คนหน้าใหม่ เคยผ่านการเมืองท้องถิ่นมานานกว่า 20 ปี ทั้ง สท. , สจ. และรองนายก อบจ. ด้วยเหตุนี้ พรรคประชาชนจึงแอบหวังลึกๆว่า จะพลิกเอาชนะบ้านใหญ่เสื้อแดงได้
ชิงจัดทัพ สจ.สกัดส้ม
นายก อบจ.ทั้งประเทศ ที่มีการเลือกตั้งพร้อมกันเมื่อปลายปี 2563 จะหมดวาระในวันที่ 19 ธ.ค.2567 และทาง กกต.กำหนดให้จัดเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 2 ก.พ. 2568
นับแต่ปลายเดือน ก.พ. จนถึงต้นเดือน ต.ค.2567 มีนายก อบจ.ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ 20 จังหวัด และปลายปีนี้ จะมีนายก อบจ.ลาออกอีกหลายสิบจังหวัด อาจทำให้การเลือกตั้งต้นปีหน้า เหลือเลือกพร้อมกันไม่กี่จังหวัด
สาเหตุที่นายก อบจ.แห่ลาออกก่อน ก็เพื่อความได้เปรียบทางการเมือง และเลี่ยงเงื่อนไขกฎหมายเลือกตั้งบางประเด็น
ชัยชนะของพรรคประชาชนในการเลือกตั้ง สส.ปีที่แล้ว เป็นสาเหตุหนึ่งที่นายก อบจ.สายซุ้มบ้านใหญ่ ชิงลาออกก่อนเพื่อสกัดพรรคสีส้ม
การเลือกตั้งในระยะเวลาที่กระชั้นชิด ส่งผลต่อความตื่นตัวของประชาชน บวกกับไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า ย่อมไม่เป็นผลดีแก่พรรคสีส้มที่พึ่งกระแสเป็นหลัก
ตั้งแต่ มี.ค. จนถึง ต.ค.2567 มีการเลือกตั้งนายก อบจ. 14 จังหวัด ปรากฏว่าเป็นชัยชนะของ “บ้านใหญ่” และเครือข่ายพรรคร่วมรัฐบาล
ลัทธิบ้านใหญ่ยืนยง
สำหรับการเลือกตั้งนายก อบจ. 14 จังหวัด ที่ผ่านไป ล้วนเป็นคนหน้าเก่าหรือกลุ่มการเมืองเดิมที่ได้รับเลือกกลับเข้ามาบริหารท้องถิ่นอีกสมัย
1.ชัยธวัช เนียมศิริ นายก อบจ.เลย ตัวแทน ธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ อดีตนายก อบจ.เลย
2.พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ กลุ่มนครสวรรค์บ้านเรา และตัวแทน ชาดา ไทยเศรษฐ์ พรรคภูมิใจไทย
3.สุรเชษ นิ่มกุล นายก อบจ.อ่างทอง กลุ่มสำนึกรักบ้านเกิด และตัวแทน สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล พรรคภูมิใจไทย
4.พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กลุ่มคนรักปทุม ระยะหลัง มีความใกล้ชิดกับพรรคภูมิใจไทย
5.สมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา มารดา สุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ พรรคภูมิใจไทย
6.จิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา นายก อบจ.ชัยนาท พี่สาว อนุชา นาคาศัย สส.ชัยนาท พรรครวมไทยสร้างชาติ และอนุสรณ์ นาคาศัย อดีตนายก อบจ.ชัยนาท
7.ธวัช สุทธวงค์ นายก อบจ.พะเยา พรรคเพื่อไทย และตัวแทน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
8.สุรีวรรณ นาคาศัย นายก อบจ.ชัยภูมิ ภรรยา สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สส.ชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย
9.วิวัฒน์ นิติกาญจนา นายก อบจ.ราชบุรี กลุ่มพัฒนาราชบุรี สามีบุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.ราชบุรี กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส
10.มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ.พิษณุโลก กลุ่มพลังพิษณุโลก และพันธมิตรพรรคเพื่อไทย
11.นพพร อุสิทธิ์ นายก อบจ.ชุมพร กลุ่มพลังชุมพร และน้องเขย ชุมพล จุลใส อดีต สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ
12.เผด็จ นุ้ยปรี นายก อบจ.อุทัยธานี กลุ่มคุณธรรม ตัวแทน ชาดา ไทยเศรษฐ์
13.วิเชียร สมวงษ์ นายก อบจ.ยโสธร พรรคเพื่อไทย น้องชายบุญแก้ว สมวงษ์ สส.ยโสธร
14.ธนกร บริสุทธิญาณี หรือ สีหราช สรรพกุล ไม่ว่าใครได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.ระนอง ในวันที่ 6 ต.ค.นี้ ก็เป็นตัวแทนกลุ่มการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลชัดปัจจุบัน
หากบทสรุปการเลือกตั้งนายก อบจ.ในช่วงต้นปี พรรคประชาชน ซ้ำรอยคณะก้าวหน้า แพ้ทุกจังหวัด ความฝันของหัวหน้าเท้ง อยากเห็นตัวเลข สส. 270 ที่นั่ง คงยากที่จะบรรลุเป้า