'ปกรณ์วุฒิ' แนะ สภาฯเปิดวิสามัญ เร่งถก กม.ประชามติ ให้ทันไทม์ไลน์แก้รธน.

'ปกรณ์วุฒิ' แนะ สภาฯเปิดวิสามัญ เร่งถก กม.ประชามติ ให้ทันไทม์ไลน์แก้รธน.

"ปธ.วิปฝ่ายค้าน" มองโอกาส แก้กม.ประชามติ ทันประชามติแก้รธน. ต้นปี 68 สภาฯ เปิดประชุมวิสามัญ เร่งพิจารณา ชี้ใช้กม.ฉบับใหม่ เพื่อความชอบธรรม

ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒนสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ว่าในการประชุมสภาฯ วันที่ 9 ต.ค. สภาฯ จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งวุฒิสภาแก้ไขเนื้อหา และส่งกลับมาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติ ทั้งนี้จากการหารือกับวิปรัฐบาล เห็นตรงกันว่าจะยืนยันหลักการที่สภาฯ ส่งไป และตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันพิจารณา ซึ่งกรณีดังกล่าวยอมรับต่อความกังวลที่จะกระทบต่อไทม์ไลน์ของการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ที่กำหนดจะทำพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ช่วงก.พ.68  ดังนั้นในการทำงานร่วมกันของกมธ.ร่วมต้องพิจารณาด้วยความรวดเร็วและรอบคอบเพื่อให้ทันต่อไทม์ไลน์ดังกล่าว 

“หากจำเป็นต้องใช้เวลาและเป็นช่วงที่คาบเกี่ยวกับช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ ผมคิดว่าสภาฯ ควรพิจารณาเปิดสมัยประชุมวิสามัญ เพื่อให้การประชามติสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงต้นปีหน้า” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

เมื่อถามว่า มีการประสานไปยังพรรครัฐบาลหรือประธานสภาฯ เปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญแล้วหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า หลังวันที่ 9 ต.ค. ต้องมีการพูดคุยกับ กมธ.ร่วมก่อน หากการวางแผนเป็นไปได้ด้วยดี วางแผนได้ว่าจะเสร็จสิ้นช่วงไหน ก็สามารถพูดคุยกับประธานสภาฯ ต่อได้ โดยเชื่อว่าไม่มีตนคิดว่าไม่น่ามีปัญหา และสส.ทั้งสภาฯ น่าจะเห็นพ้องต้องกัน

เมื่อถามถึง กรณีที่ สว. มองว่าหาก สส.อยากแก้ สามารถใช้กฎหมายประชามติฉบับปัจจุบันดำเนินการได้เลย นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ตนมองว่าอยากให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์พร้อม น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ยืนยันว่ายังเป็นไปได้อยู่

เมื่อถามต่อว่า การไม่ใช้กฎหมายประชามติปี 64 เพราะกังวลว่าอาจจะไม่ผ่านใช่หรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า หากเราใช้ฉบับใหม่น่าจะมีความชอบธรรมกว่า เพราะมีหลายประเด็นที่ สส.ได้แก้ไข และยืนยันว่ายังมั่นใจว่าประเด็นที่ สว.แก้ไขมานั้น ไม่ต้องใช้เวลานาน

เมื่อถามว่า หากท้ายที่สุดแล้ว การมาตั้ง กมธ.ร่วม แล้วนำกฎหมายกลับไปที่แต่ละสภาฯ แต่ยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ทำให้กฎหมายฉบับนี้ต้องพักไป 6 เดือน นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องพิสูจน์ความจริงใจ เพราะที่ผ่านมาก็มีคนครหาว่าเป็นการถ่วงเวลาหรือไม่ เพื่อไม่ให้มีการประชามติ ไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ซึ่งต้องตั้งเป็นข้อสังเกตว่าแต่ละฝ่ายมีความจริงใจเรื่องนี้อย่างไรบ้าง.