'ชินวัตร' กู้ภัยการเมือง ทวงคืนเชียงใหม่-เชียงราย

'ชินวัตร' กู้ภัยการเมือง ทวงคืนเชียงใหม่-เชียงราย

ทั้งสนาม “เชียงใหม่-เชียงราย” เป็นเป้าหมายของ “ทักษิณ-เพื่อไทย” ศึกครั้งนี้แพ้ไม่ได้ ยิ่งสนาม “เชียงใหม่” ตระกูลชินวัตรเคยพลาดท่า แพ้คาบ้าน มาเที่ยวนี้ทุ่มทุกสรรพกำลังป้องพื้นที่ “ไข่แดง” ของตระกูลชินวัตร

KEY

POINTS

  • สนามเลือกตั้ง นายก อบจ. เชียงใหม่ - เชียงราย เป็นโจทย์ใหญ่ของ "ทักษิณ ชินวัตร" ที่ต้องยึดเมืองคืนจาก "กระแสสีส้ม" หลังพ่ายแพ้คาบ้านในการเลือกตั้งปี 2566
  • เมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วม "ครอบครัวชินวัตร" ตั้งโรงทาน แจกอาหารให้กับผู้ประสบภัย พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ "หัวคะแนนสีแดง" ทำแต้มอย่างเร่งด่วน
  • พื้นที่เชียงใหม่ ยังไม่แน่ว่าจะใช้บริการ "สว.ก็อง" ต่ออีกหรือไม่ ขณะที่พื้นที่เชียงราย มีสัญญาณบวก เมื่อสองตระกูล "บ้านใหญ่" หันมาจับมือกัน

น้ำท่วมเชียงใหม่-เชียงราย แฝงศึกรบการเมืองสนามเลือกตั้ง นายก อบจ. สองหัวเมืองภาคเหนือ รอบนี้สีอื่นหลบไป “สีแดง” เปิดแนวรบฟัด “สีส้ม” หวังล้างตาศึกเลือกตั้ง สส. หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ พ่ายคาบ้าน

ผลการเลือกตั้งสนามใหญ่ปี 2566 จ.เชียงใหม่ มีสส. 10 ที่นั่ง พรรคประชาชน (เดิมพรรคก้าวไกล) กวาด 7 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทย 2 ที่นั่ง และพรรคพลังประชารัฐ 1 ที่นั่ง ที่น่าเจ็บใจสุด คือพื้นที่เขต 3 อ.สันกำแพง บ้านเกิด “ทักษิณ” แต่กลับพ่ายให้ “ขุนพลสีส้ม”

ส่วน จ.เชียงราย มีสส. 7 ที่นั่ง แม้พรรคเพื่อไทย จะครองแชมป์มี 4 ที่นั่ง แต่การโดนพรรคประชาชน เจาะไข่แดงไปได้ 3 ที่นั่ง ทำให้เสียรังวัดพอสมควร โดยเฉพาะเขต 1 เขตเมืองที่ไม่น่าจะพลาดชัย

การเลือกตั้ง นายก อบจ. เชียงใหม่-เชียงราย ใกล้จะถึง “ทักษิณ-ตระกูลชินวัตร” หมายมั่นจะยึดหัวเมืองคืน ด้วยการบริหารจัดการ “บ้านใหญ่” หลายบ้าน ให้กลับมาผนึกกำลังกัน เพื่อต่อยอดไปยังการเลือกตั้ง สส. ในปี 2570

ล่าสุด “ทักษิณ-ครอบครัวชินวัตร” อาศัยจังหวะสถานการณ์น้ำท่วม จ.เชียงใหม่ เปิดโรงครัว “ครัวปันรัก จากใจ ทักษิณ” บริเวณตลาดแปดเก้าพลาซ่า ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อทำข้าวกล่องแจกจ่ายให้กับประชาชนชาวเชียงใหม่

เช่นเดียวกับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ สนับสนุนข้าวกล่อง พร้อมอุปกรณ์เครื่องครัว เต็นท์ และเรือลำเลียง เพื่อกระจายอาหาร และข้าวกล่องไปแจกจ่ายให้กับประชาชนชาวเชียงใหม่ โดยใช้พื้นที่ “กาดต้นพะยอม” บริเวณหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สนามเชียงใหม่ ก่อนถึงศึกชิงเก้าอี้ นายก อบจ. จะมีสมรภูมิชิงนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาตระกูลบูรณุปกรณ์ผูกขาดมาร่วม 2 ทศวรรษ

โดยพรรคเพื่อไทยสนับสนุน “หยก” ปนันรัตน์ วิริยกุลศานต์ ชิงนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ในช่วงที่ “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ลงพื้นที่ได้พบปะกับ “ปนันรัตน์” ไปแล้ว

ผู้อยู่เบื้องหลัง “ปนันรัตน์” คือ “เจ้ปุ้ย” วิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ รองนายก อบจ.เชียงใหม่ ที่ลงทำงานในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่อย่างต่อเนื่องมาได้ 2 ปีกว่าแล้ว ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า “วิภาวัลย์” จะชิงด้วยตัวเอง แต่กลับส่ง “ปนันรัตน์” ลงสนามแทน

โดยจะ “นายกหน่อย” อัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เป็นคู่แข่งคนสำคัญ ซึ่งต้องยอมรับว่าพื้นที่เขตเมืองได้รับคำชมจากชาวบ้านผู้ประสบภัยอย่างมาก

สำหรับสนาม นายก อบจ. เชียงใหม่ แม้จะมีชื่อ “สว.ก๊อง” พิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายก อบจ. เชียงใหม่ ลงสนามอีกคำรบ แต่เจ้าตัวมีคดี “บอส อยู่วิทยา” จนมีกระแสข่าว “ทักษิณ” ต้องการเปลี่ยนตัวผู้สมัคร

ว่ากันว่า “เจ้ปุ้ย” วิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ รองนายก อบจ.เชียงใหม่ ที่ไม่ลงชิงเก้าอี้นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ อาจจะได้รับภารกิจใหม่มาชิงเก้าอี้ นายก อบจ. เชียงใหม่ แทน จึงต้องรอ “บ้านชินวัตร” เคาะนาทีสุดท้าย

ส่วน “พรรคสีส้ม” เปิดตัว “พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ไปก่อนหน้านี้ หักอก “ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์” อดีต สส.เชียงใหม่ แต่ “ทัศนีย์” ไม่ทิ้งสีส้มไปไหน ยังช่วยงานอยู่เบื้องหลัง

การเลือกตั้ง นายก อบจ. เชียงใหม่ “ทักษิณ” ต้องชนะสถานเดียว แม้จะมีจุดอ่อนอยู่พื้นที่เขตเมือง แต่พื้นที่เขตนอกเมือง “ทักษิณ-เพื่อไทย” วางกองกำลังไว้อย่างแข็งแกร่ง ส่วน “พรรคประชาชน-กระแสสีส้ม” ทำการบ้านอย่างหนักเช่นกัน

ข้ามฟากมาที่สนาม นายก อบจ. เชียราย “ทักษิณ” ประสาน “บ้านใหญ่” ตระกูลติยะไพรัช และ ตระกูลจงสุทธานามณี ให้จับมือกับสู้กระแสสีส้ม

แม้ตัวของ “ทักษิณ” จะไม่ได้เดินทางไปเชียงราย แต่ชาวบ้านก็ได้รับแจกข้าวสารหอมมะลิ ซึ่งเป็นน้ำใจจากอดีตนายกฯทักษิณ

มีการเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคประชาชน นำโดย “ทักษิณ” ร่วมด้วย “ยงยุทธ ติยะไพรัช” “มิตติ ติยะไพรัช” ประธานสโมสรสิงห์เชียงรายยูไนเต็ด

หากยังจำกันได้ วันที่ 27 ส.ค.2567 ทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปให้กำลังใจผู้ ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ อ.เทิง โดยมี “ยงยุทธ” เป็นผู้ประสานงาน ในนามภาคประชาชน วันนั้น “สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช” ภรรยายงยุทธ ในฐานะที่ปรึกษาอาวุโส สโมสรสิงห์เชียงรายยูไนเต็ด นำกลุ่มสตรีเจียงฮายมาต้อนรับทักษิณที่สนามบินแม่ฟ้าหลวงด้วย

การขยับหมากเกมของ “ตระกูลติยะไพรัช” ทำให้คอการเมืองเชียงราย เริ่มพูดถึงสนามเลือกตั้ง นายก อบจ.เชียงราย เนื่องจากพรรคเพื่อไทยยังไม่มีการเปิดตัวว่า จะส่งใครลงสนาม แต่มีกระแสข่าวว่า “สลักจฤฎดิ์” อาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

ปัจจุบัน ตระกูลติยะไพรัช มี สส.2 คนคือ “โฮม” ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย เขต 2 และ ละออง ติยะไพรัช สส.บัญชีรายชื่อ น้องสาวยงยุทธ

ขณะเดียวกันในระยะหลัง “ต้นน้ำ” ร.ต.อ.ธนรัช จงสุทธานามณี อดีตผู้สมัคร สส.เชียงราย เขต 1 พรรคเพื่อไทย ได้ร่วมกับตระกูลติยะไพรัช ลงพื้นที่ช่วยเหลือน้ำท่วมด้วย

อย่างไรก็ตามปลายปี 2555 สลักจฤฏดิ์ ติยะไพรัช ได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.เชียงราย และต้นปี 2557 เจอวิบากกรรม ต้องพ้นจากตำแหน่ง และถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 10 ปี

ช่วงที่เว้นวรรคทางการเมือง “สลักจฤฏดิ์” ยังทำงานเพื่อสังคมอยู่ตลอดเวลา ในฐานะประธานสภาวัฒนธรรมฯ และคณะกรรมการพัฒนาสตรีเชียงราย

ทุกวันนี้ “รัตนา จงสุทธนามณี” อดีตนายก อบจ.เชียงราย ที่เคยเป็นคู่ต่อสู้ของ “สลักจฤฏดิ์” ได้วางมือจากสนาม อบจ. แถม 2 ตระกูลคือ ติยะไพรัช และ จงสุทธนามณี อยู่ในขั้วสีเดียวกัน

หาก “สลักจฤฏดิ์” ภรรยายงยุทธ สวมเสื้อเพื่อไทยลงสนาม อบจ.เชียงราย จะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของ อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย

สงครามท้องถิ่นเจียงฮายสมัยหน้า จึงเหมือนมวยไทยไฟต์ ระหว่างบ้านใหญ่ “ติยะไพรัช” สายสีแดง ปะทะบ้านใหญ่ “วันไชยธนวงศ์” สายสีน้ำเงิน

ทั้งสนาม “เชียงใหม่-เชียงราย” เป็นเป้าหมายของ “ทักษิณ-เพื่อไทย” ศึกครั้งนี้แพ้ไม่ได้ ยิ่งสนาม “เชียงใหม่” ตระกูลชินวัตรเคยพลาดท่า แพ้คาบ้าน มาเที่ยวนี้ทุ่มทุกสรรพกำลังป้องพื้นที่ “ไข่แดง” ของตระกูลชินวัตร