ผ่าเกม‘ประชามติ’ศึกวัดพลัง ‘พท.-ภท.’ ดีลจบที่ ‘ไม่จบ’ ?

ผ่าเกม‘ประชามติ’ศึกวัดพลัง  ‘พท.-ภท.’ ดีลจบที่ ‘ไม่จบ’ ?

จับตาเกม"ประชามติ"ศึกวัดพลัง "เพื่อไทย-ภูมิใจไทย" ดีลจบที่ ‘ไม่จบ’ ?

KEY

POINTS

  • 65เสียงที่โหวต “งดออกเสียง” เป็นในส่วนของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งอภิปรายเห็นพ้องกับการแก้ไขของสว.ที่ปรับเกณฑ์ประชามติ2ชั้น
  • ในวาระ 2 กมธ.เสียงข้างมากแก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว มีงดออกเสียงแค่ 1 คน ส่วนส.ส.ภูมิใจไทย ที่มาประชุม ลงมติเห็นชอบทุกคน

  • ผลการลงมติที่ออกมาเป็นการสะท้อนให้เห็นถึง“เกมวัดพลัง”ในขั้วรัฐบาลระหว่าง“เพื่อไทย”และ“ภูมิใจไทย”ภายใต้อำนาจต่อรองที่ต่างฝ่ายต่างมี 
  • จับตากมธ.ร่วม หาก“เพื่อไทย” และ “ภูมิใจไทย” ที่อาจหมายรวมไปถึง “สว.สีน้ำเงิน” เคลียร์จบลงตัว โอกาสกลับไปยึดร่างเดิม คือ “ประชามติชขั้นเดียว” ก็ย่อมมีสูง แต่หากเคลียร์ไม่ลงตัวโอกาเกิดเกมหักซ้อนหักอีกรอบก็มีเช่นกัน 

มติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... 348 เสียง “ไม่เห็นด้วย” กับ “วุฒิสภา” ที่มีการปรับเกณฑ์ประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จาก “เสียงข้างมากชั้นเดียว” ซึ่งใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง ตามที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้านี้

เป็น “เสียงข้างมาก 2 ชั้น” หรือ “Double Majority” ซึ่งนอกจากจะใช้ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินหนึ่งของผู้มีสิทธิ และผลการลงมติเห็นชอบต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ

มติสภาผู้แทนที่ออกมาส่งผลให้กระบวนการต่อไปจะต้องมีการตั้งกมธ.ร่วม จำนวน 28 คน แน่นอนว่าย่อมส่งผลให้กระบวนการประชามติ ซึ่งแต่เดิมรัฐบาลหมายมั่นไว้ว่า จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการเลือกตั้งนายกอบจ.ต้นปีหน้า เป็นอันต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาเพิ่มอีก 2-3 เดือนนับจากนี้ 

เหนือไปกว่านั้นเมื่อไล่ลึกไปที่มติที่ออกมา นอกเหนือจาก 348 ต่อ 0 เสียงที่“ไม่เห็นด้วย”กับการปรับแก้ของ “วุฒิสภา”แล้ว  ยังมี 65 เสียงที่ “งดออกเสียง” 

ซึ่งไม่ต้องเดาให้ยุ่งยากเพราะทั้ง65เสียงที่โหวต “งดออกเสียง” เป็นในส่วนของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งอภิปรายเห็นพ้องกับการแก้ไขของสว.ที่ปรับเกณฑ์ประชามติ2ชั้น

ส่วนอีก6คนที่เหลือคือ ภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ไม่ลงคะแนนเสียง กรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง, เจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี, ชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี, สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล สส.พระนครศรีอยุธยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ เอกราช ช่างเหลา สส.ขอนแก่น ซึ่งมีข่าวว่าจะย้ายไปพรรคเพื่อไทย ไม่ปรากฏว่ามีการลงมติใดๆ

ผ่าเกม‘ประชามติ’ศึกวัดพลัง  ‘พท.-ภท.’ ดีลจบที่ ‘ไม่จบ’ ?

เช็กท่าทีพรรคการเมือง ฝั่ง “เพื่อไทย” เห็นพ้องกับ “ประชาชน” ที่เป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน มองว่า ประเด็นการปรับเกณฑ์ใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้นจะเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะทำให้แก้ยากขึ้น 

อาทิ “จาตุรนต์ ฉายแสง” ที่เปรียบเปรย การกำหนดเกณฑ์เสียงข้างมาก2 ชั้นที่นับผู้คนไม่เห็นชอบกับคนที่ไม่ออกมาใช้สิทธิรวมกัน

ว่าเป็นการ “ปิดประตูตอกฝาโลง” การแก้รัฐธรรมนูญ หากจะเปิดประตู ต้องทำประชามติอย่างเดียวกันกับประชามติรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา

ต่างจาก “ภูมิใจไทย” ที่เห็นพ้องกับการแก้ไขของสภาสูงซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วว่าเวลานี้ถูกปกคลุมโดยสีน้ำเงิน

 อาทิ  “แนน บุณย์ธิดา สมชัย”  สส.อุบลราชธานี ที่สวมหมวกอีกใบในฐานะ โฆษกพรรคภูมิใจไทย มองว่า  การกำหนดเกณฑ์2ชั้น เป็นหนทางที่สง่างาม และได้ผลการทำประชามติที่มากพอ หากไม่เซ็ตอะไรไว้ จะใช้สิทธิอะไรอ้างว่าสมควรแล้วจะแก้รัฐธรรมนูญย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผู้คนออกมาใช้สิทธิ์ถึง 29 ล้านคน มีผู้เห็นด้วย 16 ล้านคน ไม่เห็นด้วย 10 ล้านคน ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญต้องมีความง่างาม

หรืออย่าง “มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช” สส.ลพบุรี พรรคภูมิใจไทยที่บอกว่า การใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก2ชั้นนั้น คล้ายกับร่างของพรรคภูมิใจไทยที่เสนอต่อสภาฯ

แน่นอนว่า ผลการลงมติที่ออกมาเป็นการสะท้อนให้เห็นถึง“เกมวัดพลัง”ในขั้วรัฐบาลระหว่าง“เพื่อไทย”และ“ภูมิใจไทย”อีกระลอก

เป็นที่รู้กันว่าในทาง“ดุลอำนาจ”นั้น เวลานี้มีการคานกันระหว่าง“สภาล่าง”ซึ่งพรรคเพื่อไทยถือเสียงส่วนใหญ่ และ“สภาสูง”ที่ถูกปกคลุมโดยเครือข่ายสีน้ำเงิน 

ผ่าเกม‘ประชามติ’ศึกวัดพลัง  ‘พท.-ภท.’ ดีลจบที่ ‘ไม่จบ’ ?

ปริศนาการพบกันระหว่าง “2ผู้มากบารมี” ระหว่างทักษิณ ชินวัตร นายใหญ่เพื่อไทย และ “เนวิน ชิดชอบ”  ครูใหญ่สีน้ำเงิน เมื่อช่วงค่ำวันที่6ต.ค. ที่ว่ากันว่า มีีการพูดคุยเคลียร์ปัญหาในพรรคร่วมรัฐบาล

คำถามคือ มีการลงลึกใปที่ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นเรือธงของพรรคเพื่อไทยหรือไม่อย่างไร หรือต่างฝ่ายต่างเล่นหน้าไหนกันแน่ 

ไล่ย้อนไปก่อนหน้าที่มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในประเด็นจริยธรรม เวลานั้นพรรคเพื่อไทยมีการซัดทอดว่า 

“หัวหน้าพรรคใหญ่”ในพรรคร่วมรัฐบาล ที่เป็นต้นเรื่องความคิดดังกล่าว แต่เมื่อเจอแรงต้านจากสังคม และพรรคร่วมรัฐบาล จนส่งสัญญาณถอย

จนมีกระแสข่าวว่า มีแนวโน้มที่พรรคเพื่อไทยจะแก้เกม โดยใช้แนวทางเดิมคือ“ยืมมือ ส.ส.ร.”ชิงจังหวะแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูกทั้งหมด ซึ่งรวมถึงกฎหมายพรรคการเมืองและ ป.ป.ช.ต่อไป เพื่อลดแรงกระเพื่อมทางการเมือง

ทว่าภายหลัง เกิด“เกมพลิกมติ” โดยสภาสูง จนมีการมองว่าไม่เพียงแต่จะส่งผลไปถึงกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ยังอาจรวมไปถึงการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราในอนาคต ที่จะยากตามไปด้วย

ขณะที่ฝั่ง “ภูมิใจไทย” เป็นที่น่าสังเกตว่า มีการส่งบทให้กลุ่มสส.ซึ่งเป็นกลุ่มหน้าเดิมๆ เปิดหน้าเล่น

ทั้งการแก้ไขรายมาตรา  ซึ่งก่อนหน้า ส่งบทให้“กลุ่มยังบลัดภูมิใจไทย”นำโดย “ไชยชนก ชิดชอบ”สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรค กรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง ในฐานะกรรมการบริหารพรรค แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี โฆษกพรรค ร่วมแถลงจุดยืนของพรรคว่า“เห็นด้วย”กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เดินหน้าไปสู่การทำประชามติเสมือนเป็นการ“คัดค้าน”การเสนอแก้ไขรายมาตราแบบกลายๆ

ไม่ต่างจาก ประเด็นประชามติซึ่งเป็นที่ถกเถียงในเรื่องเกณฑ์ชั้นเดียว อีกทั้งยังพบว่า จากบันทึกการลงมติของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา

ในระหว่างการประชุมร่างดังกล่าว ในวาระ 2 มาตรา 6 แก้ไขมาตรา 13 ว่าด้วยเกณฑ์ออกเสียง ที่กมธ.เสียงข้างมากแก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากเพียงชั้นเดียวนั้น

มติที่ประชุมเห็นชอบด้วยคะแนน 406 ต่อ 1 งดออกเสียง 1 นั้น พบว่า ส.ส.ภูมิใจไทย ที่มาประชุม ลงมติเห็นชอบทุกคน

หรือในวาระแรก "ภราดร ปริศนานันทกุล" รองประธานสภาฯ ที่เวลานั้นสวมหมวกเป็นสส.เพียงใบเดียว เคยชี้แจงยืนยันต่อที่ประชุมสภา เมื่อวันที่18มิ.ย.ว่า 

"มีเพื่อนสมาชิกทั้งหลายท่านได้อภิปรายทั้ง 4 ร่าง ผมบอกตั้งแต่แรกว่า ผมไม่ขัดข้องและเห็นด้วยกับการที่จะต้องมาแก้ไขร่างในเรื่องของกฎหมายประชามติที่เป็น Double Majority อยู่ในขณะนี้ แต่มีเพื่อนสมาชิกหลายท่านไม่เข้าใจในตัวร่างของผม ยังบอกว่าร่างของพรรคภูมิใจไทย เป็น Double Majority หรือมีเกณฑ์สองชั้นอยู่ 

ซึ่งจริงๆแล้วเป็นเกณฑ์ชั้นเดียวคือเกณฑ์ชั้นบนส่วนเกณฑ์ชั้นล่างไม่มีแล้ว ส่วนเกณฑ์ชั้นบนได้อธิบายไปในตั้งแต่ตอนแรกว่า ตั้งเอาไว้เพื่อต้องการให้เกิดความชอบธรรมในการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น เราเห็นถึงปัญหาเหมือนกันและตั้งใจที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560" 

ต่างจากการอภิปรายของ “มัลลิกา” ที่อภิปรายว่าการใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก2ชั้นนั้น คล้ายกับร่างของพรรคภูมิใจไทยที่เสนอต่อสภาฯ

ผ่าเกม‘ประชามติ’ศึกวัดพลัง  ‘พท.-ภท.’ ดีลจบที่ ‘ไม่จบ’ ?

จึงเกิดคำถามว่า จะเป็นเกมหักซ้อนหักต่อจากประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกระลอกหรือไม่ หรือที่สุดแล้วภูมิใจไทยเล่นหน้าไหนกันแน่? 

เช็กเสียงในกมธ.ร่วม 28คน ในส่วนของสส.มี14คนแบ่งเป็น ได้แก่ ประชาชน 4 คน  เพื่อไทย 4 คน ภูมิใจไทย 2 คน พลังประชารัฐ 1คน รวมไทยสร้างชาติ 1คน ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนา1คน ส่วนอีกสว.14คน  

นับเสียงคร่าวๆ ฝั่งเพื่อไทยและพรรคการเมือง ที่สนับสนุนประชามติชั้นเดียว มี 12เสียง ขณะที่ภูมิใจไทย และสว. ซึ่งสนับสนุนประชามติ2ชั้นมี16 เสียง 

เป็นเช่นนี้ย่อมต้องจับตาท่ามกลางอำนาจต่อรองที่ต่างฝ่ายต่างมีในมือ หาก “เพื่อไทย” และ “ภูมิใจไทย” ที่อาจหมายรวมไปถึง “สว.สีน้ำเงิน” เคลียร์จบลงตัว โอกาสกลับไปยึดร่างเดิมที่ผ่านมาสภา คือให้มี “ประชามติชขั้นเดียว” ก็ย่อมมีสูง แต่หากเคลียร์ไม่ลงตัวโอกาเกิดเกมหักซ้อนหักอีกรอบก็มีเช่นกัน 

จับตา “เกมวัดพลัง” ภายใต้อำนาจต่อรอง-ถ่วงดุล ที่ต่างฝ่ายต่างถืออยู่ในมือเมื่อเพื่อไทยถือไพ่สภาล่าง ขณะที่ภูมิใจไทยถือไพ่สภาสูง

วลี “มันจบแล้วคับนาย” ที่ถูกมองว่าถูกปิดฉากไปตั้งแต่ตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จริงอยู่ถึงเวลานี้ดุลอำนาจยังอยู่ในโหมดรอมชอม ต่างฝ่ายต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แต่การรอมชอมที่ว่าก็ยังซ่อนไว้ซึ่งอำนาจต่อรองมากมาย