สงครามครั้งสุดท้าย 'เพื่อไทย-พลังประชารัฐ

สงครามครั้งสุดท้าย 'เพื่อไทย-พลังประชารัฐ

เกมยุบพรรค ปิดฉากการเมือง “ทักษิณ-ประวิตร” ส่องประเด็น 6 ประเด็นคำร้องของ "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร" ที่ยื่นต่อศาล ขอให้วินิจฉัย ปม "ทักษิณ-เพื่อไทย" กระทำการล้มล้างการปกครอง โดยซีกรัฐบาลเตรียมพร้อมงัดข้อกฎหมายหักล้าง

KEY

POINTS

  • ฝ่ายกฎหมายหลังฉากรัฐบาลมอง "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร"ที่ยื่นร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ "ทักษิณ" และ "เพื่อไทย" เลิกการกระทำใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองฯ ปลายทางหวังสานฝันให้ "ลุงบ้านป่าฯ"
  • 6 ประเด็นข้อกล่าวหาในคำร้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ถูกมองจากมือกฎหมายซีกรัฐบาลนั้น ไม่เข้าข่ายตามมาตรา 49 และเป็นคนละประเด็นกับคดียุบพรรคก้าวไกล กรณีล้มล้างการปกครอง
  • คำร้องของ "ธีรยุทธ" เป็นเรื่องกระบวนการทางการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นอำนาจ กกต.ต้องพิจารณากรณี "ทักษิณ" ครอบงำพรรคเพื่อไทยหรือไม่
  • กรณีข้อกล่าวหา ชั้น 14 รพ.ตำรวจเป็นข้อกล่าวหาตามมาตรา 157 ของ ป.อาญา ต้องส่งตรงไปที่ ป.ป.ช.
  • ซีกรัฐบาลมองหัวขบวนองครักษ์พิทักษ์บ้านป่าเดินเกมผ่าน “ธีรยุทธ” ดีเดย์วันที่ 10 เดือน 10 เป็นเพียงการเร่งผลิตผลงานหวังสานฝันให้ พล.อ.ประวิตร มีโอกาสเข้าสู่เส้นทางชิงตำแหน่งนายกฯ 

ประกาศตั้งแต่เข้าสู่เดือนตุลาอาถรรพ์ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ส่งสัญญาณผ่านสื่อมวลชนดีเดย์ 10 ตุลาคม 2567 เป็นวัน “ล่มสลาย” ของ “รัฐบาลพรรคเพื่อไทย”

เช้าวันที่ 10 ตุลาคม 2567 “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ผู้เคยฝากผลงานยุบพรรคก้าวไกลผ่านศาลรัฐธรรมนูญ เป็นคนเดิมในฐานะผู้ร้องยื่นคำร้องตรงขอ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยสั่งการให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้ถูกร้องที่ 1

และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

เป็นการยื่นคำร้องหลังจากเคยยื่นร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 แต่ครบกำหนด 15 วัน แล้วไม่ปรากฏว่าอัยการสูงสุดได้ดำเนินการส่งคำร้องขอของผู้ร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญตามที่ร้องขอ

ทำให้ “มือยุบพรรคก้าวไกล” ต้องเดินเกมทางลัด ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสาม ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ พ่วงด้วยเอกสารคำร้องประกอบด้วยคำร้อง 65 หน้า และเอกสารประกอบอีกจำนวน 443 แผ่น รวมคำร้องและเอกสารประกอบชุดละ 508 แผ่น จำนวน 10 ชุด รวมเอกสารทั้งสิ้น 5,080 แผ่น​

เป้าหมายวาระแฝงของ “ธีรยุทธ” ถูกอ่านเกมจากกุนซือมือกฎหมายในซีกรัฐบาลว่ามีเป้าหมายปลายทางคือ “ล้มนายใหญ่” แห่ง “เพื่อไทย” และเป็นการสร้างบันไดปูทางให้ “ลุงบ้านป่าฯ” มีโอกาสที่จะเข้าสู่เส้นทางชิงเก้าอี้นายกฯ อีกครั้ง หลังผิดหวังจากเกมล้ม “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน”

สาระสำคัญที่ “ธีรยุทธ” พุ่งเป้าล้ม “เพื่อไทย” และ “ทักษิณ” มี 6 ประเด็น ไล่ตั้งแต่ “ทักษิณ” ใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเอื้อประโยชน์ระหว่างต้องโทษจำคุกอยู่ชั้น14 เพื่อไม่ให้รับโทษ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์

รวมทั้งยังมีประเด็นที่ฝักใฝ่ร่วมคิดกับ สมเด็จฯ ฮุน เซน เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฯฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย

ประเด็นข้อกล่าวหาที่สำคัญคือ “ทักษิณ” เป็นเจ้าของพรรค เป็นผู้ครอบงำ สั่งการแทนพรรคเพื่อไทยในการเจรจาแกนนำพรรคการเมืองเพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลที่บ้านจันทร์ส่องหล้า

ประเด็นเหล่านี้ ถูกมองจากคนในซีกรัฐบาลที่เป็นมือกฎหมายของรัฐบาลเพื่อไทยว่า เป็นคำร้องที่สะเปะสะปะ และ ลุกลี้ลุกลน เร่งรีบจัดทำคำร้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งที่กระบวนการเกี่ยวกับ “ทักษิณ” ยังมีการพิจารณาอยู่ในชั้นไต่สวนของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณี ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ควรร้องไปตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และเป็นเรื่องที่ต้องส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณา

สงครามครั้งสุดท้าย \'เพื่อไทย-พลังประชารัฐ

คำร้องของ “ธีรยุทธ” ทำให้ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลมองว่า คำร้องนี้ไม่เข้าองค์ประกอบที่จะยื่นคำร้องตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ และ มาตรา 28 มาตรา 29 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กรณี “ทักษิณ” ครอบงำพรรคเพื่อไทย ดังนั้น ศาลต้องสั่งไม่รับคำร้อง

ส่วนเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่ก็เป็นการยื่นคำร้องที่ข้ามหน้ากระทรวงการต่างประเทศของไทย หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาก็อาจเป็นการกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้

ประเด็นการตั้งรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่มีการหารือที่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” นั้น ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะพิจารณาว่ามีการครอบงำจริงหรือไม่

“คำร้องของนายธีรยุทธเป็นเรื่องกระบวนการทางการบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นอำนาจ กกต.ต้องพิจารณาเรื่องครอบงำ การยื่นคำร้องโดยใช้เวาเพียงแค่15 วันก็ยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น จึงไม่อยู่ในกระบวนการ เพราะในเนื้อหาทั้งหมดไม่เข้ามาตรา 49 ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคำร้องไว้วินิจฉัยได้”

การเดินเกมของ “ไพบูลย์” ผ่าน“ธีรยุทธ” ทำให้ถูกฝั่งรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยมองว่า เป็นการยื่นคำร้องแก้เกี้ยวหวังสานฝันให้กับ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เท่านั้น

สงครามครั้งสุดท้าย \'เพื่อไทย-พลังประชารัฐ

“หลอกลวงลุงป้อม ขายฝันลุงป้อม ถ้ารัฐบาลเพื่อไทยพัง ลุงจะได้เป็นนายกฯ เรื่องนี้ลุงป้อมถูกต้มจนเปื่อย ใน 6 ประเด็น เป็นไปไม่ได้เลยที่ศาลจะรับคำร้อง คือใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือทางการเมือง ดังนั้น ควรให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตรวจสอบ” แหล่งข่าวในซีกรัฐบาลระบุ

ทั้งนี้ “พรรคเพื่อไทย”ยังมองว่า ถ้าเป็นการยื่นเรื่องในกระบวนการตามกฎหมายก็ต้องดูที่อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเรื่องชั้น 14 ที่เป็นข้อกล่าวหาตามมาตรา 157 เท่านั้น จึงเป็นคนละกรณีกับที่ “พรรคก้าวไกล” เคยถูกยุบพรรค ในข้อหา “ล้มล้างการปกครอง” จากการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบัน

สงครามครั้งสุดท้าย \'เพื่อไทย-พลังประชารัฐ

ฉะนั้น การดีเดย์ตามคำประกาศของ หัวหน้านักรบ องครักษ์ลุงบ้านป่าฯ ในวันที่ 10 เดือน 10 จึงไม่ใช่วันล่มสลาย ของ “รัฐบาลเพื่อไทย” แต่อย่างใด

มือกฎหมายในรัฐบาลเพื่อไทยยังมองว่าคำดีเดย์ที่ว่านี้ ไม่สมราคาคุยของ “ไพบูลย์” เพียงแต่เป็นการเร่งผลิตผลงานเพื่อสานฝันให้ “ลุงบ้านป่าฯ” เท่านั้น

แม้“ทักษิณ” จะเป็นทั้งจุดแข็ง และจุดอ่อนของ“เพื่อไทย” ที่ฝ่ายแค้น ฝ่ายค้าน จ้องหาช่องเล่นงาน แต่คดีล่าสุด ที่มีเป้าหมายนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทย และเก้าอี้นายกรัฐมนตรี อาจจะเป็น “นิติสงคราม”ครั้งสุดท้ายระหว่าง "นายพลบ้านป่าฯ" และ"นายใหญ่บ้านจันทร์ฯ" ที่ตัดขาดเส้นทางการเมืองทั้งสองพรรค จนยากจะบรรจบกันได้อีกต่อไป