'เลขาสภาฯ' พาตรวจอาคาร ยันน้ำไม่รั่ว ชี้ปัญหาอยู่ที่ระบบ-ออกแบบ
"อาพัทธ์" ควง "สาธิต" พาตรวจอาคารรัฐสภา จุดเกิดเหตุน้ำรั่ววานนี้ ยันไม่มีน้ำร่วม แต่น้ำที่พบมาจากลืมเปิดจุดระบายน้ำ มองปัญหาอยู่ที่ระบบ-ออกแบบ
จากกรณีเมื่อวันที่ 10 ต.ค. มีฝนหระหน่ำตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่ กทม. และอาคารรัฐสภาได้รับผลกระทบ พบน้ำรั่วหลายจุดภายในอาคาร ที่บริเวณชั้น8 และชั้น4 โดยเฉพาะบริเวณชั้น 4 โซนกลาง พบว่ามีน้ำรั่วจนเปียกชุดโซฟาด้านหน้าห้องประชุมกรรมาธิการ
โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เดินผ่านไปเห็นพอดีถึงกับตกใจที่พบสภาพเปียก พร้อมพูดว่า "เพิ่งอยู่ได้กี่วันโซฟาเน่าหมดแล้ว คงโดนมาหลายครั้งแล้ว" พร้อมพยายามมองไปหาจุดที่น้ำรั่วว่ามาจากไหน
ทำให้เมื่อช่วงเช้า ของวันนี้ (11 ต.ค.) ว่าที่ ร.ต.ต. อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรพร้อมด้วย นายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ฐานะกำกับดูแลอาคารสถานที่ของอาคารรัฐสภา นำคณะสื่อมวลชนตรวจสอบบริเวณชั้น 8 ของอาคารรัฐสภา
โดยนายสาธิตกล่าวว่า จากข่าวที่ว่า มีน้ำรั่วจากชั้น 8 และชั้น 4 ของอาคารรัฐสภา ทำให้โซฟาเสียหายนั้น ขอชี้แจงว่า ตามรูปแบบที่สร้างอาคาร มีจุดรองรับน้ำตั้งแต่ชั้น 11 ที่มีเครื่องยอด และมีสระมรกต ซึ่งสระดังกล่าว หากมีน้ำปริมาณมากจะไหลลง ตะแกรงระบายน้ำทิ้ง ทำให้มีการระบายน้ำจากสระมรกตมาชั้น 8 ซึ่งมีถังรับน้ำ โดยหากน้ำมากก็จะมีตัวระบาย ไปที่ชั้น 7 ซึ่งเหมือนเป็นสะดืออ่างน้ำ ที่จะปล่อยระบายลงไป และบริเวณชั้น 8 จะมีปั๊มน้ำอยู่ 3 ตัวที่สามารถปั๊มน้ำเพื่อระบายออกนอกอาคารได้ แล้วปรากฏว่าเมื่อวานนี้(10ต.ค.) มีฝนตกลงมากะทันหัน ในขณะที่เป็นเวลาเลิกงานแล้ว ข้าราชการเดินทางออกไปหมด ทำให้ปริมาณน้ำฝนที่มีจำนวนมาก ล้นสระมรกต แล้วเข้ามาที่แท้งค์น้ำ ชั้น 8 แต่ไม่ได้มีการระบายน้ำออกไปข้างนอก ทำให้น้ำล้นไหลออกมาจากห้องควบคุมแล้วลงไปที่ชั้น 4 โดยยืนยันไม่ใช่อาคารรั่ว แต่เกิดจากเป็นระบบ ที่ออกแบบไว้
"ตอนนี้มีมาตรการป้องกันแล้วโดยในช่วงฤดูฝน จะเปิดจุดระบายน้ำ เพื่อให้น้ำที่ถูกกักไว้ระบายออกไป ดังนั้นต่อไปในช่วงฤดู ไม่ว่าฝนจะตกมาอย่างไร เมื่อน้ำมาอยู่ที่ชั้น 8 น้ำก็จะไหลออกข้างนอก จะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นที่ผ่านมาอีก พร้อมย้ำว่าเหตุการณ์เมื่อวานนี้(10ต.ค.)ไม่ใช่น้ำรั่วแต่เกิดจากระบบน้ำที่เราผิดพลาดเอง ที่ไม่ได้เปิดจุดระบายน้ำให้น้ำระบายไหลออกไป ดังนั้นเมื่อสะดือน้ำ ไม่ได้เปิดก็ทำให้ปริมาณน้ำมากขึ้น จึงล้นออกมา ทำให้เกิดความเสียหาย" นายสาธิต กล่าว
นายสาธิตกล่าวด้วยว่า ได้เรียกทีมช่างเข้ามาเพื่อตรวจสอบ โดยช่างบอกว่าต่อไปนี้ในช่วงฤดูฝนให้เปิดสะดือ ระบายน้ำ เพื่อให้น้ำระบายออกไป เพราะในช่วงฤดูฝนสระมรกตน้ำ ไม่แห้งแน่นอน แต่พอถึงฤดูร้อนจะปิดสะดือระบายน้ำไว้เพื่อให้มีน้ำเลี้ยงสระ ดังนั้นไม่ใช่เหตุน้ำรั่ว ตนยืนยันว่า โครงสร้างของอาคารรัฐสภาไม่ได้มีปัญหา แต่เป็นปัญหาของระบบ ที่ทางแบบเขามีมา
เมื่อถามถึงกรณีที่นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตสส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุะถึงสภาพอาคารรัฐสภาที่ชำรุดเสียหายหลายจุด แต่ไม่ซ่อมแซม นายสาธิต กล่าวว่า ที่ห้องสัมมนา ชั้น B2 เป็นห้องที่ไม่เคยใช้งาน แต่เปิดแอร์ ไว้ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นแอร์รวม หากปิดต้องปิดทั้งระบบ ทำให้เกิดการสะสมความชื้น จนทำให้ฝ้าถล่มลงมา เนื่องจากไม่ได้มีการเปิดประตูระบายอากาศ เมื่อรับทราบปัญหา จะให้ฝ่ายบริษัทผู้รับจ้างเข้ามาแก้ปัญหา
"ยืนยันว่าเราไม่ได้ละเลย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ฝ้าถล่ม แต่เกิดจากการที่เราไม่ได้ดูแลรักษาเอง เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีการเซ็นต์รับมอบอาคาร รัฐสภา และหลังจากนี้จะมีการตรวจสอบทั่วทั้งอาคารรัฐสภาว่ามีจุดใดที่มีปัญหา เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในระยะเวลารับประกัน 2 ปีและจะหมดอายุในปี 2569 โดยบริษัทซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่นจำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบ" นายสาธิต กล่าว
นายสาธิต กล่าวอีกว่านายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ทราบเรื่องดังกล่าวแล้วและให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อพิจารณาของงบประมาณปี 2569 เพื่อซ่อมแซมทั้งอาคาร รวมถึงเสาด้านหน้าอาคาร ที่ไม่สวยงาม เนื่องจากเป็นสีไม้ธรรมชาติ นายพิเชษฐ์ต้องการให้ทาสี ซึ่งต้องพิจารณาให้ดี พูดคุยกันหลายฝ่าย รวมทั้งสมาชิกด้วย เพราะต้องหาผู้รับจ้างมาดำเนินการ.