20+5 ‘กล้าธรรม(นัส)’ ทฤษฎี ‘ฤาษีเลี้ยงลิง’
2 สส.พรรคเล็กข้าสู่ชายคา “พรรคกล้าธรรม” ถือว่าไม่ได้เหนือความคาดหมาย แต่ไหนแต่ไร ทั้งมวลถูก “รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ” โดย“ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า” สส.พะเยา ที่เวลานี้อยู่สังกัดพลังประชารัฐ แค่โดยนิตินัย
KEY
POINTS
- 2 สส.พรรคเล็กข้าสู่ชายคา “พรรคกล้าธรรม” ถือว่าไม่ได้เหนือความคาดหมาย แต่ไหนแต่ไร 5เสียงพรรคเล็กทั้งมวลถูก “รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ” โดย“ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า” สส.พะเยา ที่เวลานี้อยู่สังกัดพลังประชารัฐ แค่โดยนิตินัย
- ทฤษฎี“ฤาษีเลี้ยงลิง” ในสารบบการเมือง ถูกพูดถึงหนาหูมาตั้งแต่ในรัฐบาลชุดที่แล้ว
- จับตา“พรรคกล้าธรรม” ซึ่งมีหัวหน้าพรรคตัวจริงชื่อธรรมนัส ภายใต้สูตร 20+5
ข่าวคราวการย้ายพรรคของ 2 สส.พรรคเล็ก คือ“กฤดิทัช แสงธนโยธิน” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคใหม่ และ“เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังสังคมใหม่ เข้าสู่ชายคา “พรรคกล้าธรรม” ถือว่าไม่ได้เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด
แม้ตัว “กฤดิทัช” จะอ้างถึงเหตุผลการย้ายพรรคครั้งนี้ เนื่องจากการทำงานในพรรคใหม่ ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่มีบทบาท ไม่มีที่ยืน และทำงานร่วมกันไม่ได้ ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว และเมื่อมีหลายพรรคที่รัฐบาลชวนไปอยู่ด้วย จึงได้ตัดสินใจร่วมงานกับพรรคกล้าธรรม
อย่างที่รู้กันว่า ภายใต้ตัวเลขรัฐบาลพรรคเพื่อไทย 320 + เวลานี้ ในส่วนของพรรคเล็ก 1 เสียง ประกอบด้วย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคใหม่ พรรคท้องที่ไทย และพรรคพลังสังคมใหม่ รวม 5 เสียง
แต่ไหนแต่ไร ทั้งมวลถูก “รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ” โดย“ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า” สส.พะเยา ที่เวลานี้อยู่สังกัดพลังประชารัฐ แค่โดยนิตินัย แต่ในทางพฤตินัยถือว่า “20 สส.” พลังประชารัฐสายผู้กอง ได้ขาดจาก “ลุงบ้านป่าฯ” ที่เวลานี้อยู่ในสถานะฝ่ายค้าน เป็นที่่เรียบร้อย
ตอกย้ำจากผลโหวตในสภาฯ ในช่วงที่ผ่านมา ทั้ง 5 เสียงพรรคเล็ก ลงมติไปในทิศทางเดียวกัน ตามสัญญาณผู้นำ
ไม่ต่างจากสังกัดใหม่ของ 2 สส.คือ “พรรคกล้าธรรม” ที่มี “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าพรรค เป็นที่รู้กันโดยทั่วว่า เป็นการรีแบรนด์มาจาก “พรรคเศรษฐกิจไทย” ซึ่งมีกลุ่ม “ผู้กองธรรมนัส” เป็นกรรมการบริหารอยู่แต่เดิม มีการเปรียบเปรยว่า เป็นพรรคกล้าธรรม(นัส) เสียด้วยซ้ำ
ฉะนั้นการย้ายพรรคของ 2 สส.พรรคเล็กในครั้งนี้ ซึ่งมีการปล่อยข่าวมาตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงเป็นเพียงดำเนินการเพื่อให้กระบวนการทางนิตินัย ครบถ้วนสมบูรณ์เท่านั้น
ทฤษฎี“ฤาษีเลี้ยงลิง” ในสารบบการเมือง ถูกพูดถึงหนาหูมาตั้งแต่ในรัฐบาลชุดที่แล้ว เวลานั้น “สส.พรรคเล็ก” ถูกแบ่งเป็นสาย “ลุงเบอร์1-ลุงเบอร์2” เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง สำหรับการกดปุ่มโหวตวาระต่างๆ ในสภาฯ รวมไปถึงการต่อรอง แลกเปลี่ยนตำแหน่งต่างๆ
โดยเฉพาะวาระใดที่ “เสียงปริ่มน้ำ ” ต่อให้เป็นเสียงพรรคเล็กก็ถือว่ามีส่วนสำคัญ
อันที่จริงในช่วงก่อนเกิดอุบัติเหตุการเมือง ทั้งการยุบพรรคก้าวไกล และกรณีศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี
ท่ามกลางฝุ่นควันการเมืองที่ตลบภายใต้ข่าวคราวการปรับ ครม.สูตรรวมชาติ เวลานั้น มีข่าวมาตั้งแต่ต้นว่า “นายใหญ่” เพื่อไทยจะเขี่ยลุงบ้านป่าฯ และพรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล คงไว้เฉพาะ“พลังประชารัฐสายผู้กอง”
แถมเวลานั้นมีกระแสข่าวว่า “ลุงบ้านป่าฯ” เตรียมไล่ซื้อส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึง งูเห่า หาก พรรคก้าวไกลหากถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค
จนเป็นเหตุให้ “นายใหญ่” พรรคเพื่อไทย และ มีความแนบแน่น กับ “ผู้กองธรรมนัส” เกิดความไม่พอใจ พร้อมความหวาดระแวง ถึงประกาศผ่านสื่อว่า “คนบ้านป่าทำการเมืองวุ่นว่าย”
เป็นที่มาของการโยนชื่อ “พรรคกล้าธรรม” เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับ “ลุงบ้านป่าฯ” แถมยังเป็นปลายทางในการย้ายเข้าสังกัดใหม่ของผู้กองธรรมนัส แต่ติดเงื่อนไขที่ว่า หากจะย้ายพรรคโดยที่ยังคงสถานะสส.เอาไว้เช่นเดิม จะต้องเกิดขึ้นใน2กรณีคือ มติกรรมการบริหารพรรค “ขับออก” หรือ มีการ “ยุบพรรค” กรณีใดกรณีหนึ่งเท่านั้น
ฉะนั้น การที่ปรากฎภาพ “ผู้กองธรรมนัส” ไปนั่งที่บริเวณที่นั่ง สส.พรรคกล้าธรรม ร่วมกับ 2 สส.ใหม่ จึงเป็นเสมือนการตอกย้ำว่า แท้ที่จริงแล้ว หัวหน้าพรรคตัวจริงคือใครกันแน่?
เมื่อพลังประชารัฐสายลุงบ้านป่าฯ เลือกที่จะแก้เผ็ดสายผู้กอง ด้วยการไม่ใช้วิธีขับออก
ก่อนหน้านี้ “ธรรมนัส” จึงให้สัมภาษณ์ว่า กำลังดูข้อกฎหมายว่า จะออกจากพรรคอย่างไร แบบถูกกฎหมาย แต่ยังคงสถานภาพเป็นสส.เอาไว้
เป็นเช่นนี้ย่อมต้องจับตา“พรรคกล้าธรรม” ซึ่งมีหัวหน้าพรรคตัวจริงชื่อธรรมนัส ภายใต้สูตร 20+5 ในเชิงดุลอำนาจการเมือง ย่อมมีผลในการสร้างแรงต่อรอง ทั้งการกดปุ่มโหวต รวมถึงการเปิดดีลตำแหน่งต่างๆ ต่อจากนี้อย่างไร