คดีร้อนเขย่าเก้าอี้ ‘แพทองธาร’ ปั่นกระแส ‘นายกฯคนละครึ่ง’

คดีร้อนเขย่าเก้าอี้ ‘แพทองธาร’  ปั่นกระแส ‘นายกฯคนละครึ่ง’

คอการเมืองต่างวิเคราะห์ "รัฐบาลแพทองธาร "อาจอายุสั้นกว่า"รัฐบาลเศรษฐา" กับคดีประเดประดังเข้ามา แน่นอนว่า หากหล่อแหลมเสี่ยงไม่รอด "ทักษิณ-พจมาน ดามาพงศ์"อาจตัดไฟแน่ต้นลม

KEY

POINTS

  • เพียง 56 วัน นั่งเก้าอี้นายกฯ แพทองธาร กำลังเผชิญศัตรูการเมืองเก่า-ใหม่ ในรูปแบบนิติสงคราม
  • ข้อกล่าวหา แพทองธาร-พรรคเพื่อไทย ล้วนเป็นคดีที่ศาลเคยมีคำวินิจฉัยเดิมอยู่แล้วทั้งสิ้น ส่งผลให้กระบวนการสั้นลง ตัดขั้นตอนการไต่สวนออกไป

ศัตรูการเมืองพรรคเพื่อไทย และผู้ที่เคยเป็นปรปักษ์ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ มีการทำงานเคลื่อนไหวสอดผสาน 

กลุ่มหนึ่งใช้องค์กรอิสระทำนิติสงคราม ส่วนอีกกลุ่มใช้โซเชียลมีเดียสร้างกระแส หวังผลในด้านจิตวิทยาสั่นคลอนการบริหารงานนายกฯแพทองธาร ชินวัตร

เพียง 56 วัน (รับตำแหน่ง 16 ส.ค.2567) ในการทำหน้าที่  “แพทองธาร” ถูก“เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ร้องเรียนไปแล้วหลายประเด็น เช่น การลาออกจากกรรมการ 21 บริษัท ก่อนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

การถือหุ้นใน บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ การตรวจสอบเรื่องจริยธรรมปมยินยอมให้ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดามาครอบครองตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ การแต่งตั้ง สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

ล่าสุด “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการให้ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ใน ล้วนเป็นเรื่องที่สอดคล้องกันทั้งสิ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทุกประเด็นที่เป็นข้อกล่าวหา หวังจัดการรัฐบาลแพทองธาร และพรรคเพื่อไทย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ศาลเคยมีคำวินิจฉัยเดิมเป็นฐานอยู่แล้วทั้งสิ้น ซึ่งส่งผลให้กระบวนการสั้นลง โดยตัดขั้นตอนการไต่สวนออกไป

เช่นเดียวกับ กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับพิจารณาคำร้องผู้ร้องเรียนเอาผิดกระบวน

การเอื้อประโยชน์ทักษิณ เข้าพักรักษาตัวที่ห้องพิเศษชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ปลายทางก็ไม่ต่างกัน ใช้พื้นฐานคำวินิฉัยศาลรัฐธรรมนูญคำพิพากษาศาลปกครอง ศาลยุติธรรม เป็นตัวตั้ง ชี้มูลได้ทันที รัฐบาลจะมีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น

ส่วน สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ กับอดีตแกนนำ นปช. จตุพร พรหมพันธุ์ ใช้โซเชียลมีเดีย ปฏิบัติการดิสเครดิต สร้างกระแสดึงความสนใจคนในสังคม ชี้ให้เห็นจุดอ่อน-ข้อบกพร่องการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลแพทองธาร พร้อมขนม็อบลงถนนขับไล่

เช่น ด้านกระบวนการยุติธรรม คดีตากใบ จะสิ้นสุดคดี 25 ต.ค.2567 คดี ทักษิณ พักชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ การถือหุ้นสนามกอล์ฟอัลไพน์ ของแพทองธาร รวมถึงนโยบายเอื้อประโยชน์ที่มีวาระซ่อนเร้น เช่น ร่าง พ.ร.บ. เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ โครงการแลนด์บริดจ์ ผลประโยชน์ทับซ้อนไทย-กัมพูชา และเกาะกูด กฎหมายให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี และให้ถือครองคอนโด 75%

ประเด็นเหล่านี้ หวังเพิ่มแรงกดดันไปยังองค์กรอิสระให้เร่งรัดคดี เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และหากข้อมูล พยานหลักฐานชี้ชัดจะเป็นจุดจบของรัฐบาลแพทองธาร

คอการเมืองต่างวิเคราะห์ รัฐบาลแพทองธารอาจอายุสั้นกว่ารัฐบาลเศรษฐา กับคดีที่ประเดประดังเข้ามา แน่นอนว่า หากล่อแหลม เสี่ยงจะไม่รอด “ทักษิณ-พจมาน ดามาพงศ์” อาจตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ให้ซ้ำรอยพ่อ และอา(ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)

แต่ประเด็นที่ยังขบไม่แตก หากแพทองธารลงจากเก้าอี้นายกฯ จะส่งไม้ต่อให้ “ชัยเกษม นิติสิริ”แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทยที่เหลืออยู่เพียงคนเดียว หรือยุบสภา เลือกตั้งใหม่ 

สิ่งที่นักการเมืองกังวลที่สุด หากยังจัดการ“พรรคประชาชน”ไม่เบ็ดเสร็จ โอกาสแพ้เลือกตั้งสูงลิบลิ่ว

“อนุทิน ชาญวีรกุล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อาจเป็นทางเลือกหนึ่ง หลังมีสิ่งบอกเหตุ กรณีพรรคภูมิใจไทย รับเงินบริจาคจากห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ถือหุ้น ไม่นำไปสู่การยุบพรรค ต่างจากกระแสข่าวก่อนหน้านี้

อีกทั้ง อนุทิน ยังควงครูใหญ่ “เนวิน ชิดชอบ” เข้าพบ “ทักษิณ” ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เป็นข่าวครึกโครม เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา จนถูกโยงเรื่องนายกฯคนใหม่ หากแพทองธาร จำต้องลงจากเก้าอี้กลางคัน

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมือง “อนุทิน”คือตัวเลือกสุดท้าย ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมเหลืออยู่ ดังนั้นกระแสนายกฯคนละครึ่ง ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว