'คนตุลา' หลับใหล สิ้นยุคทอง 'ตุลาชิน'
51 ปี 14 ตุลา เงียบเหงา “คนเดือนตุลา” หลับใหล ปมขัดแย้งขั้วสี เพื่อนพ้องน้องพี่ต่างวิถีต่างอุดมการณ์ กลายสภาพเป็นงานเช็งเม้ง
ย้อนอดีตสมัยไทยรักไทย คือ ยุคทองคนเดือนตุลา สู่เพื่อไทยในบริบทการเมืองข้ามขั้ว “ภูมิธรรม-พรหมินทร์” ตกเป็นเป้าโจมตีจากมิตรสหายสายสีส้ม
การจัดงานรำลึก 51 ปี 14 ตุลา ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ จัดโดยมูลนิธิ 14 ตุลา ในปีนี้ ดูเงียบเหงากว่าทุกปี
นักการเมืองที่เรียกกันว่า “คนเดือนตุลา” ไม่โผล่มาร่วมงานเหมือนปีที่ผ่านมา รวมถึงรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีเพียงตัวแทนของพรรคการเมืองมาวางพวงมาลา
สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยพูดถึงการจัดงานรำลึก 14 ตุลา ว่า “มันไม่ใช่เพียงแค่การจัดงานรำลึกไปเรื่อยๆ ไม่เช่นนั้นคงไม่ต่างจากงานเช็งเม้ง กินข้าวกัน ไหว้กัน แล้วก็แยกย้าย”
4-5 ปีหลังมานี้ การจัดงานรำลึก 6 ตุลา กลับมีความคึกคัก และเข้มข้นในเนื้อหา ขณะที่งานรำลึก 14 ตุลา มีแต่เรียวลง และไม่ต่างจากงานเช็งเม้งของฝ่ายซ้ายไทย
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะความขัดแย้งแตกแยกของ “คนเดือนตุลา” ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
มีบทศึกษาว่าด้วยเรื่องของ “คนเดือนตุลา” ที่น่าสนใจ และถูกอ้างอิงมากที่สุดคือ The Rise of the Octobrists in Contemporary Thailand: Power and Conflict Among Former Left-Wing Student Activists in Thai Politics (2016) ของ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอธิบายความเป็นคนเดือนตุลา ภายใต้บริบทการเมืองไทยไว้ได้อย่างน่าสนใจ
กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ให้คำนิยาม “คนเดือนตุลา” หมายถึง “นิสิต นักศึกษา นักกิจกรรม ที่มีบทบาทและมีส่วนร่วมกับการสนับสนุนการต่อต้านระบอบเผด็จการถนอม-ประภาส ในช่วงก่อน และระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลา...จนถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ วันที่ 6 ตุลาคม 2519 และรวมถึงนิสิต นักศึกษา และนักกิจกรรมอื่นๆ ที่เข้าร่วมรบทั้งในป่ากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และทำงานอยู่ในเมือง”
ความขัดแย้งทางการเมืองช่วงปี 2548-2557 “คนเดือนตุลา” ต่างกระจัดกระจายไปอยู่คนละขั้วสี ต่างฝ่ายต่างก็ยกความเป็นคนเดือนตุลาขึ้นมาอ้าง และโจมตีอีกฝ่ายว่าทรยศต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย
สู่ยุคทองคนเดือนตุลา
ต้นทศวรรษ 2530 หลังสิ้นสุดสงครามประชาชนในเขตป่าเขา คนป่าคืนเมืองภายใต้คำสั่ง 66/2523 ของรัฐบาลเปรม คนเดือนตุลา เริ่มมีบทบาททางการเมือง หลังสิ้นยุคเปรมาธิปไตย และก้าวเข้าสู่ยุคน้าชาติ แปรสนามรบเป็นสนามการค้า
คนรุ่น 14 ตุลา กลุ่มหนึ่ง จึงจัดงานเพื่อนพ้องน้องพี่ รวมพลคนเดือนตุลา ในฐานะนักธุรกิจใหญ่ เซียนหุ้นตัวยง นักวิชาการรุ่นใหม่ นักหนังสือพิมพ์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ นักร้องเพื่อชีวิต นักพัฒนาเอกชน ฯลฯ
คนเดือนตุลา สายการเมือง กลายเป็นดาวเด่นของงานเพื่อนพ้องน้องพี่ ไม่ว่าจะเป็น จาตุรนต์ ฉายแสง, พินิจ จารุสมบัติ, ชำนิ ศักดิเศรษฐ, สุธรรม แสงประทุม, วิทยา แก้วภราดัย และอดิศร เพียงเกษ
ช่วงเดือนพ.ค.2535 คนเดือนตุลา มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ขับไล่เผด็จการ รสช. และหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 พวกเขาได้ลงสู่สนามเลือกตั้งในสีเสื้อพรรคพลังธรรม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีธรรม และพรรคความหวังใหม่
กิจกรรมทางการเมืองของคนเดือนตุลา เริ่มขยายตัวมากขึ้น และนำไปสู่ขบวนการธงเขียว สนับสนุนรัฐธรรมนูญ 2540
คนตุลา ต่างขั้วสี
รัฐธรรมนูญ 2540 ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน แต่การเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทย และรัฐบาลพรรคเดียว กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเดือนตุลา เกิดความขัดแย้งกันเองอย่างรุนแรง
“คนเดือนตุลา ไม่สามารถจัดการกับความขัดแย้งระลอกใหม่ ที่ปะทุท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองแบบสีเสื้อได้” กนกรัตน์ วิเคราะห์สถานการณ์ และความขัดแย้งภายในกลุ่มคนเดือนตุลา
กนกรัตน์ ยังชี้ว่า ช่วงกลางทศวรรษ 2540 นับเป็นจุดสูงสุดของคนเดือนตุลา “รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้เกิดชนชั้นนำกลุ่มใหม่คือ กลุ่มคนทักษิณ พร้อมกับสร้างพันธมิตรทางการเมืองใหม่ๆ...พวกเขาเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ถูกเชื้อเชิญให้เข้าไปในพรรคไทยรักไทย”
คนเดือนตุลา ที่ทักษิณเชื้อเชิญให้มาร่วมสร้างพรรคการเมืองประกอบด้วย ภูมิธรรม เวชยชัย ,เกรียงกมล เลาหไพโรจน์, อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ และ วริษ มงคลศรี
ภูมิธรรม และเพื่อน ได้ใช้ชั้น 30 อาคารชินวัตร 1 เป็นหน่วยศึกษาการสร้างพรรคการเมืองมาตั้งแต่ปี 2538 และเมื่อวันที่ 14 ก.ค.2541 จึงมีการยื่นจดทะเบียนก่อตั้งพรรคไทยรักไทย
ดังที่กนกรัตน์ วิเคราะห์ไว้ว่า รัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่เข้มแข็ง ทำให้คนเดือนตุลา ที่เคยสมานฉันท์ชั่วคราว กลายเป็นการเผชิญหน้าอีกครั้ง
ปี 2548 สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ชักธงรบกับทักษิณ ชินวัตร และได้จัดตั้ง “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ซึ่งมีคนเดือนตุลา เข้าร่วมเป็นแกนนำหลายคน อาทิ พิภพ ธงไชย, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และสมศักดิ์ โกศัยสุข
หลังรัฐประหาร 2549 จึงเกิดวิกฤติการเมืองสีเสื้อ ‘เหลือง-แดง’ และเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่ในกลุ่มคนเดือนตุลา
จากเหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 ยิ่งทำให้คนเดือนตุลา 2 ขั้วสี ยิ่งขัดแย้งกันหนักขึ้น ลามไปถึงม็อบนกหวีดที่คนเดือนตุลา เสื้อเหลือง กระโจนเข้าร่วมเป็นแกนนำ กปปส.ด้วย
กำเนิดตุลา สายสีส้ม
ปัจจุบัน พรรคเพื่อไทยหรือพรรคของทักษิณตกอยู่ในบริบทการเมืองแบบพิเศษ แตกต่างจากยุคไทยรักไทย
คนเดือนตุลา 2 คน ที่มีบทบาทสำคัญในรัฐบาลแพทองธาร คือ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กำลังตกเป็นเป้าโจมตีจากเพื่อนคนเดือนตุลา บางกลุ่ม
สืบเนื่องจากการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคประชาชนในปัจจุบัน ทำให้คนเดือนตุลาจำนวนไม่น้อยที่หันหลังให้พรรคของทักษิณ ไปร่วมสนับสนุนพรรคสีส้ม
ขณะเดียวกัน คนเดือนตุลา ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตร และ กปปส.ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ภายใต้การนำของ คปท. เริ่มก่อการเคลื่อนไหวโค่นระบอบชินวัตร
ดังนั้น อ้วน ภูมิธรรม และหมอมิ้ง พรหมินทร์ จึงตกเป็นเป้าโจมตีว่า ทรยศอุดมการณ์ ทั้งจากมิตรสหายทั้งสายสีส้ม และสายสีเหลือง(กลุ่มเดิม)
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์