'ปธ.สภา' สั่ง 'กมธ.' เช็ค “คนนอก” เป็นคณะทำงาน หากไม่น่าเชื่อถือให้ถอดออก
'วันนอร์' สั่ง 'กมธ.' ขันน็อต ตั้ง “คนนอก” เป็นคณะทำงาน จี้ให้ถอดชื่อ หากเป็นคนไม่น่าเชื่อถือ พร้อมสั่ง “รปภ.รัฐสภา” คุมเข้มคนนอกเข้า-ออก
ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเตรียมทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการสามัญ (กมธ.) 35 คณะ และประธานกมธ.วิสามัญ ให้ตรวจสอบบุคคลต่างๆ ที่ตั้งเป็นที่ปรึกษาหรือคณะทำงานว่าหากมีบุคคลที่ไม่น่าเชื่อถือขอให้พิจารณาถอดถอน หลังจากที่เกิดกรณีคลิปเสียงเรียกรับประโยชน์และอ้างว่าสามารถเคลียร์กับ กมธ.ไม่ให้ถูกตรวจสอบได้ อย่าไรก็ดีหากเกิดกรณีที่มีการแอบอ้างและเกิดความเสียหาย ประธานกมธ.ต้องรับผิดชอบ อย่างน้อยคือ คือตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม ของสส. และกรรมาธิการ แต่หากมีพฤติกรรมร้ายแรงต้องส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่าในส่วนของการกระทำไม่ร้ายแรงต้องดำเนินการตามขั้นตอนของสภา เช่น ตักเตือน กรณีเป็นสส. หรือ ไล่ออก กรณีไม่ใช่เป็น สส. ส่วนหากเป็นคดีอาญาต้องให้ตำรวจดำเนินตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับประชาชนที่หลงเชื่อบุคคลที่แอบอ้างว่าเกี่ยวกับสภา แม้ที่ผ่านมามีประเด็นไม่มาก แต่ต้องแก้ไข
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่าส่วนกรณีที่ก่อนหน้านั้นพบประเด็นว่ามีบุคคลภายนอกแต่งกายด้วยชุดข้าราชการและเข้ามายังสภา รวมถึงไปนั่งในห้องประชุมสภา นั้น ที่ผ่านมาสภาฯ ได้แจ้งความดำเนินคดีแล้ว 2 กรณี คือ กรณีสุภาพสตรีที่แต่งกายด้วยชุดข้าราชการ สภาฯ แจ้งความเมื่อเดือนส.ค. ล่าจุดถูกจับกุมแล้ว และอีกกรณีคือ ชายที่พบภาพถ่ายในห้องประชุมสภาฯ ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า ได้เข้าไปหลังจากที่ประชุมสภาฯปิดแล้ว และระหว่างนั้นเจ้าหน้าท่ีสำนักการประชุมได้เตรียมเอกสารให้สมาชิก โดยผู้ชายคนดังกล่าวเข้าไปไม่กี่นาทีและถ่ายรูปเพื่อให้เห็นว่าอยู่ในห้องประชุม ทางสภาฯ แจ้งความต่อสถานีตำรวจแล้ว เมื่อ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตนได้ประชุมกับเลขาธิการสภาและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแล้ว ให้เข้มงวดกรณีที่บุคคลภายนอกจะเข้ามาในรัฐสภามากขึ้น
“กรณีของคลิปเสียงที่เกิดขึ้น ได้ฟังแล้ว ในรายละเอียดไม่ระบุว่าเป็นใคร แต่อ้างกรรมาธิการ ทั้งนี้ประชาชนที่เกี่ยวข้องที่ได้รับความเสียหายจากคลิปเสียง คือ คู่สนทนา สามารถแจ้งเรื่องต่อสภา ดำเนินการได้ หรือ สามารถไปแจ้งความได้” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
เมื่อถามว่าการตรวจสอบบุคคลที่แอบอ้างสภาฯ และเรียกรับประโยชน์ จำเป็นต้องตั้งกรรมการกลางแทนใช้กลไกกมธ.หรือไม่ ประธานสภาฯ กล่าวว่า กมธ.ของสภาที่เกี่ยวข้องสามารถ ดำเนินได้ ทั้ง กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งสามารถเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องชี้แจงได้ และนอกจากกมธ.สามารถส่งให้กรรมการจริยธรรมพิจารณา เพราะกรรมการนั้นมีบุคคลภายนอก ทั้งตำรวจ อัยการ อดีตผู้พิพากษา แต่ขั้นตอนจะช้ากว่าที่ไปร้องต่อ ป.ป.ช.โดยตรง และหากมีมูล ป.ป.ช.สามารถส่งเรื่องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้
เมื่อถามว่าหากเป็นกรณีของบุคคลภายนอก สามารถสอบได้หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า“ผู้ที่แต่งตั้ง คือ ประธานกรรมาธิการ ที่แต่งตั้งเป็นคณะทำงาน เป็นที่ปรึกษา ต้องรับผิดชอบ”
ถามย้ำว่ากรณีคลิปเสียงหากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อนสภาชุดปัจจุบันจะสอบได้หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า หากคนๆ นั้นเป็นกรรมาธิการชุดปัจจุบันหรือแต่งตั้งในสมัยปัจจุบัน ซึ่งพบความเสียหายต่อบุคคลสภาสามารถสอบได้ ทั้งนี้ต้องมีการยื่นเรื่องร้องเรียนมาก่อน ส่วนกรณีคลิปเสียงนั้นไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นของใคร ต้องมีคนมาร้อง
“หากเป็นอำนาจของสภาต้องทำเพื่อประโยชน์ประชาชน และเพื่อควาเมชื่อถือในการทำงานของสภา กมธ.ต้องทำงานเพื่อช่วยประชาชนหากประชาชนไม่เชื่อถือไม่เป็นประโยชน์ต้องรักษาความเชื่อถือ เชื่อมั่นของประชาชนต่อของระบบนิติบัญญัติ ทั้งนี้อาจไม่ได้หมายความว่าต้องติดคุก แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่นของระบบฝ่ายนิติบัญญัติ” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว