‘คดีตากใบ’ หลอน ‘พ่อ’ เขย่า ‘ลูก’ 19 ปี ตอกลิ่ม ‘เพื่อไทย’ พลาดซ้ำ ?

‘คดีตากใบ’ หลอน ‘พ่อ’ เขย่า ‘ลูก’ 19 ปี ตอกลิ่ม ‘เพื่อไทย’ พลาดซ้ำ ?

มหากาพย์คดีร้อนนี้ ย่อมเลี่ยงไม่พ้นข้อครหาการช่วยเหลือเอื้อ “พวกพ้อง” และกำลังถูกตั้งคำถามว่า ยุคนายกฯ ลูกจะซ้ำรอยยุคนายกฯ พ่อ จนส่งผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทยหรือไม่

KEY

POINTS

  • จากตราบาปในใจของ "ทักษิณ ชินวัตร" สู่บทพิสูจน์ของ "แพทองธาร ชินวัตร" จะสามารถจับกุมผู้ต้องหา "คดีตากใบ" มาดำเนินคดีได้หรือไม่
  • ภายหลังผ่านไป 19 ปี "ศาล" มีคำสั่งฟ้อง "พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี" อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อนรัก "นายใหญ่" และพวกอีก 6 คน รวมถึงอัยการสั่งฟ้องอีก 8 ผู้ต้องหา
  • จากยุคนายกฯ พ่อ สู่ยุคนายกฯ ลูก ต้องวนเวียนกับปมปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วันนี้ "เพื่อไทย" พลาดซ้ำ ปล่อยเวลาผ่านไปนานกว่า "พิศาล" จะลาออกจาก สส. ด่านต่อไปต้องติดตามว่า "รัฐบาลเพื่อไทย" จะจับกุมผู้ต้องหาได้หรือไม่

ตราบาปในใจของ “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงนั่งเก้าอี้นายกฯ หนีไม่พ้นการแก้ไขปัญหาความสงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยิ่งแก้ยิ่งวุ่นวาย หลายเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

วลี “โจรกระจอก” ที่ออกจาก อดีตผู้นำอย่าง “ทักษิณ” ทำให้การเผชิญหน้ากันระหว่าง “กลุ่มก่อความไม่สงบ” กับ “เจ้าหน้าที่รัฐ” เขม็งเกลียว เปิดหน้าห้ำหั่นกัน มาจนถึงทุกวันนี้

โดยเฉพาะเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 84 คน เสมือนเป็นปฐมบททำให้ความรุนแรงในพื้นที่ขยายวงกว้างมากขึ้น

ย้อนเหตุการณ์เมื่อ 19 ต.ค.2547 เมื่อตำรวจ สภ.ตากใบ จับกุม “กามา อาลี” กับพวกรวม 6 คน ผู้ต้องหา อาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) กรณีนำอาวุธลูกซองของราชการที่ใช้คุ้มครองหมู่บ้านไปมอบให้แก่คนร้าย แล้วแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่าอาวุธปืนดังกล่าวถูกคนร้ายปล้นไป จึงถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จ และยักยอกทรัพย์

ต่อมาวันที่ 25 ต.ค.2547 มวลชนมาชุมนุมเรียกร้องหน้า สภ.ตากใบ ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา และนำไปสู่คำสั่งสลายการชุมนุมในเวลาต่อมา

เวลา 10.00 น. ประชาชนประมาณ 300-400 คน ชุมนุมกันที่หน้า สภ.ตากใบ เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และมีมวลชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เวลา 13.00 น. “พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี” แม่ทัพภาคที่ 4 สั่งให้เลิกการชุมนุม ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว อ.ตากใบ เป็นพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก รวมทั้งได้ตามกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บิดา มารดาของผู้ต้องหาทั้ง 6 คนมาร่วมเจรจา แต่ไม่เป็นผล ผู้ชุมนุมยืนยันเงื่อนไขเดิม พร้อมโห่ร้อง ขับไล่ ยั่วยุเจ้าหน้าที่

ต่อมาเหตุการณ์วุ่นวายได้ทวีความรุนแรง “พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร” ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 (ผบ.พล.ร. 5) ได้เรียกกำลังจากหน่วยต่างๆ และจัดรถยนต์บรรทุก 25 คันมาเตรียมพร้อมสลายการชุมนุม

เวลา 16.00.น. เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม และจับกุมกลุ่มผู้ประท้วงขึ้นรถบรรทุกทั้ง 25 คัน เฉลี่ยคันละ 40-50 คน โดยในเวลา 19.00 น. รถบรรทุกออกเดินทาง นำผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

และเวลา 21.00 น. ถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อนำตัวผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุกปรากฏว่า ได้ถึงแก่ความตายทั้งหมด 78 คน ส่วนอีก 7 คน เสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุม รวม 85 คน

อย่างไรก็ตาม ในชั้นไต่สวนของศาลจังหวัดสงขลาว่าเป็นเพราะ “ขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่”

จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านไป 19 ปี ศาลรับฟ้อง “คดีตากใบ” ล็อตแรกไปเมื่อวันที่ 23 ส.ค.67 มีผู้ต้องหา 7 คน ประกอบด้วย 

พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 พล.ต.ท.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า และอดีต สว. พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 อดีต สว. พ.ต.อ.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีต ผกก.สภ.ตากใบ

นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายวิชม ทองสงค์ ในเวลานั้น เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส

ล็อตสอง “อัยการสูงสุด” มีความเห็นสั่งฟ้องเมื่อ 12 ก.ย.67 มีผู้ต้องหา 8 คน ประกอบด้วย พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ผู้ต้องหาที่ 1(ซึ่งเป็นคนเดียวที่มีรายชื่อถูกสั่งฟ้องทั้งสองชุด) ร.ต.ณัฐวุฒิ เลื่อมใส

นายวิษณุ เลิศสงคราม ร.ท.วิสนุกรณ์ ชัยสาร นายปิติ ญาณแก้ว พ.จ.ต.รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ ร.ท.ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์

โดยผู้ต้องหาล็อตสองเกี่ยวข้องกับการขนย้ายผู้เสียชีวิต ไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี นำโดยผู้บัญชาการ และพลขับ

ถึงวันนี้เหลือเวลาอีก 9 วันคดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.67 กว่า “ผู้ต้องหา” จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จนถูกมองว่ามีกระบวนการ “ดองคดี” เนื่องจากมี “อดีตนายทหาร” ระดับสูงตกเป็นผู้ต้องหา

อย่างไรก็ตาม เมื่อ “ศาล” รับฟ้องผู้ต้องหาล็อตแรก ซึ่งมีชื่อของ “พล.อ.พิศาล” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย รวมอยู่ด้วย ทำให้ “นายใหญ่-เพื่อไทย” กลับมาอยู่ในโฟกัสปม “ไฟใต้” อีกครั้ง

ว่ากันว่า “พล.อ.พิศาล” จัดอยู่ในสาย “เพื่อนนายใหญ่” จึงได้ปูนบำเหน็จให้อยู่ในลิสต์ของ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และเมื่อ “ศาล” รับฟ้อง “คดีตากใบ” กลับขบวนการประวิงเวลาให้กระแสจางหาย แต่กลับโดนแรงกดดันอย่างหนัก ให้ “อดีตแม่ทัพภาค 4” ออกมาแสดงความรับผิดชอบ

ทว่า “พล.อ.พิศาล” กลับหายตัวเข้ากลีบเมฆ เหยียบหิมะไร้ร่องรอย เปิดช่องให้ “ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น” โหมแรงไฟถล่ม “รัฐบาลเพื่อไทย”

เมื่อติดยี่ห้อ “เพื่อนนายใหญ่” จึงทำให้ “พรรคเพื่อไทย” ที่มี “นายกฯ อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค ออกแอคชั่นล่าช้า ปล่อยให้โดนเขย่าแรมเดือน จนทนแรงเสียดทานไม่ไหว ยอมถอยเปิดทางให้ “พล.อ.พิศาล” ลาออกจากตำแหน่ง สส.บัญชีรายชื่อ

จากวันนั้นถึงวันนี้ ใช้เวลา 19 ปี “คดี 78 ศพตากใบ” ปมไฟใต้จากที่เคยหลอกหลอน “ทักษิณ” กลับมาหลอนหลอก “แพทองธาร” 

มหากาพย์คดีร้อนนี้ ย่อมเลี่ยงไม่พ้นข้อครหาการช่วยเหลือเอื้อ “พวกพ้อง” และกำลังถูกตั้งคำถามว่า ยุคนายกฯ ลูก จะซ้ำรอยยุคนายกฯ พ่อ จนส่งผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทยหรือไม่

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์