‘พริษฐ์’ ผ่าทางตัน รธน.ใหม่ ชู 2 เส้นทาง - ประชามติ 2 ยก
"พริษฐ์ วัชรสินธุ" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เปิดแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญให้ทันก่อนการเลือกตั้งปี 2570 โดยเสนอให้ประธานรัฐสภาเร่งบรรจุดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สสร.เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาทันที พร้อมเสนอแนวทางประชามติจาก 3 ครั้งเหลือเพียง 2 ครั้ง
KEY
POINTS
- ภาพความฝันในอนาคตของพรรคก้าวไกลตรงกับความคิดของ "ไอติม พริษฐ์"
- ตระกูลเวชชาชีวะ ไม่มีส่วนการตัดสินใจเข้าสู่การเมืองของ "พริษฐ์"
- “พริษฐ์” ยก 2 เส้นทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1.จัดทำฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด ผ่านยกร่าง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% และ 2.แก้ไขรายมาตรา
- พรรคประชาชนยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 7 ชุด 7 แพ็คเกจ หวังว่าจะสามารถป้องกันปัญหาได้ทันที
- ตั้ง กมธ.ร่วมสองสภา หาทางออกประชามติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ ทำให้กระบวนการจัดรัฐธรรมนูญต้องล่าช้า
- โมเดล สสร.ของพรรคประชาชน ให้ สสร. 200 คนมาจากการเลือกตั้ง 100% แบ่งเป็น 100 คนใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง อีก 100 คนให้ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง เหมือน สส.บัญชีรายชื่อ
ย้อนไปเมื่อปี 2562 "พริษฐ์ วัชรสินธุ" หรือ "ไอติม" เคยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ทว่าครั้งนั้นเขาสอบตกไม่ได้รับการเลือกตั้ง เพราะกระแส "ประชาธิปัตย์"ตกต่ำจนถึงขั้นสูญพันธุ์ในกรุงเทพฯ
"ไอติม"ได้รับเลือกตั้งเป็น สส.สมัยแรกหลังเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล รับบทบาทผู้จัดการฝ่ายรณรงค์และสื่อสารนโยบายพรรคก้าวไกล คิดแคมเปญจนทำให้ "พรรคก้าวไกล" ประสบความสำเร็จชนะเลือกตั้งแบบเหนือความคาดหมายเมื่อปี 2566
"พริษฐ์" สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน ในวัย 32 ปี และอีกบทบาทประธานกรรมาธิการ (กมธ.)การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาฯ ให้สัมภาษณ์พิเศษผ่าน "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า "ศัตรูของทุกพรรคการเมืองที่สำคัญ คือ ปัญหาของประชาชน อะไรที่ล้วนเป็นต้นตอปัญหานั้น ก็ล้วนเป็นศัตรูของพรรคการเมืองและพรรคประชาชน"
เขาเลือกเดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองเหมือนน้าชาย "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 และยังจบการศึกษาที่เดียวกับ "อภิสิทธิ์" ที่วิทยาลัยอีตัน อังกฤษ และปริญญาตรี ด้านปรัชญา การเมือง เศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง) มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford)
"พริษฐ์" เป็นบุตรชายของ ศ.พญ.อลิสา วัชรสินธุ และศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ซึ่งมารดาของไอติม ถือเป็นพี่สาวคนโตของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"
ตระกูลเวชชาชีวะเป็นครอบครัวใหญ่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพแพทย์ เพราะตาและยายของเขา คือ นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีต รมช.สาธารณสุข กับ ศ.พญ.สดใส เวชชาชีวะ
"ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยกับทุกสิ่งทุกอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์ทำมาก่อนหน้านั้น ผมไม่เห็นด้วยก็คือ การมีส่วนร่วมของพรรคเกี่ยวกับการชุมนุม กปปส. โดยเฉพาะหลังที่มีการยุบสภาฯ ที่มีการเลือกตั้งแล้ว รวมถึงการตัดสินใจของพรรคในการบอยคอตการเลือกตั้งปี 2557"
"เสมือนไปรับรองว่าการกระทำที่ผ่านมาของคณะรัฐประหาร รวมถึงความพยายามหลังจากนั้นที่พยายามจะออกแบบกติการัฐธรรมนูญ ปี 2560 เพื่อให้ฝ่ายของตนเอง ได้เปรียบทางการเมือง มันกลายเป็นไปรับรองพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งมันขัดอุดมการณ์ความเชื่อของผม"
ตระกูลเวชชาชีวะ มีนักการเมือง 2คน คือ "อภิสิทธิ์" และ "สุรนันทน์" แต่ "พริษฐ์" ยืนยันว่า มีความคิดเป็นของตัวเอง เพราะทำงานการเมืองไม่เคยเอาเรื่องว่าตนเองมาจากไหนหรือว่ามาจากครอบครัวอะไร เป็นเหตุผลในการตัดสินใจใดๆ เลย
"ผมคิดว่าเราควรตัดสินใจและรับผิดชอบทุกการตัดสินใจบนพื้นฐานของสิ่งที่เป็นประโยชน์ของประเทศ บนพื้นฐานสิ่งที่สอดคล้องอุดมการณ์ความคิดของเรา ทุกการตัดสินใจ ไม่เคยมีปัจจัยผมเป็นคนในครอบครัวไหนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเลย"
"พริษฐ์" ลาออกพรรคประชาธิปัตย์ทันทีหลังจากพรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2562 บทบาทของเขานับจากนั้นเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาด้วยการร่วมกับกลุ่ม Resolution เพื่อผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ "รื้อระบอบประยุทธ์"
ทว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวประสบความล้มเหลว เพราะมติที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อปี 2564 ได้ตีตกในชั้นรับหลักการ
อนาคตในฝันตรงกับ "ก้าวไกล"
เมื่อพรรคก้าวไกลถูกยุบพรรค "พริษฐ์" จึงตัดสินร่วมกับเพื่อน สส.อดีตพรรคก้าวไกลทั้งหมดมาสังกัดพรรคประชาชน และได้รับตำแหน่งเป็นโฆษกพรรคประชาชน
"อนาคตประเทศไทยในฝันที่ผมอยากเห็น กับอนาคตประเทศไทยในฝันที่พรรคก้าวไกลอยากเห็นมันตรงกัน มันเป็นภาพเดียวกัน เราก็เลยตัดสินใจเข้ามาที่พรรคก้าวไกล"
แม้แกนนำพรรคที่เป็น สส. สุ่มเสี่ยงที่จะถููกตัดสิทธิตลอดชีวิตในประเด็นจริยธรรมจากการเสนอนโยบายแก้ไขมาตรา 112 “พริษฐ์” มองว่า สภาวะการเมืองที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน สภาวะนิติสงครามที่เกิดขึ้นอยู่ และเราก็ไม่ประมาท ทางทีมกฎหมายก็จะทำเต็มที่ในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเรา
“ผมไม่เห็นว่าควรเอาข้อมูลดังกล่าวมาเป็นข้อจำกัดในการทำงาน ถ้าเราคิดว่ามีปัญหาอะไรของพี่น้องประชาชนที่ควรต้องมีการแก้ไข ในฐานะพรรคการเมืองมันเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเรา และนำเสนอทางออกที่เราคิดว่าสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้จริง”
ชง 2 เส้นทางแก้ไข รธน.
ภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ที่เขาเป็นหัวขบวนของพรรคประชาชน และต้องเผชิญสถาการณ์ล่าสุุด ที่มติ “วุฒิสภา” กลับลำไม่เห็นด้วยกับสภาผู้แทนราษฎรโดยให้ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กลับไปใช้เสียงข้างมากสองชั้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมติที่ประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2567 ไม่เห็นด้วยกับมติของวุฒิสภา ทำให้ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของสองสภาฯเพื่อหาทางออก
ความล่าช้าในการจัดทำกฎหมายประชามติ ส่งผลกระทบต่อการทำประชามติครั้งแรกที่รัฐบาลวางไว้ว่าจะต้องทำครั้งแรกในปี 2568 พร้อมกับการจัดเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น
“พริษฐ์” ย้ำว่า พรรคก้าวไกลและพรรคประชาชนยืนยันมาตลอดว่าทางออกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องเดินสองเส้นทางคู่ขนาน เส้นทางที่หนึ่ง จัดทำฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด โอบรับความคิดเห็นที่่แตกต่างของประชาชนทุกคนในประเทศ ผ่านการยกร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 100%
ส่วนเส้นทางที่สอง คู่ขนาน คือ การแก้ไขรายมาตรา โดยเฉพาะประเด็นที่สำคัญและเร่งด่วน เพื่อในช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญใหม่บังคับใช้ เพื่อทำให้ให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น
“วุฒิสภาเสนอให้เปลี่ยนจากกติกาเสียงข้างมากหนึ่งชั้น ที่สส.เห็นชอบ และให้กลับไปใช้กติกาเสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น (Double Majority) ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ เมื่อ สส.และ สว.ไม่สามารถหาข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับของสองสภาได้ ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิยืนยันตามร่างของสภาผู้แทนราษฎร เพียงแต่กระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลา 6 เดือนขึ้นไป พอใช้เวลา 6 เดือนขึ้นไปมันจะไปกระทบต่อกรอบเวลาโรดแมปของรัฐบาลเคยวางไว้”
รธน.ใหม่ ส่อไม่ทันเลือกตั้งปี 70
“พริษฐ์” มองว่า การตั้งกรรมาธิการร่วมกันของสองสภาในการหาข้อยุติของ พ.ร.บ.ประชามติ ส่งผลให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จทันก่อนเลือกตั้งปี 2570 อาจแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหรือเป็นศูนย์
เมื่อถามถึง ทางออกการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ทันก่อนเลือกตั้งปี 2570 “พริษฐ์” เสนอว่า ต้องพยายามลดจำนวนประชามติจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง คือการที่ประธานรัฐสภาบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเรื่อง สสร. ที่ทางพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยื่นร่างไว้ตอนต้นปี 2567 เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาทันที
“หากเราไปกางคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ไปดูลึกถึงคำวินิจฉัยรายบุคคลของตุลาการ 9 คน จะสะท้อนให้เห็นชัดว่าตุลาการเเสียงส่วนใหญ่ มองว่าไม่ได้จำเป็นต้องประชามติ 1 ครั้งก่อนบรรจุร่างดังกล่าว คำวินิจฉัยศาลเขียนไว้ ว่าต้องมีประชามติ 1 ครั้งก่อนทำฉบับใหม่และ 1 ครั้งหลัง หมายความว่า 2 ครั้งก็เพียงพอ ประธานรัฐสภาบรรจุร่างได้เลย ไม่ต้องทำประชามติเพิ่มเติมตอนต้นมา 1 ครั้ง”
ขณะเดียวกัน พรรคประชาชนก็ยังเดินหน้ายื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 7 ชุด 7 แพ็คเกจ อาทิ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน การลบล้างผลพวงรัฐประหาร ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. เพิ่มกลไกประสิทธิภาพการตรวจสอบทุจริต หรือแก้ไขหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับมาตรา 256
"ร่างแก้ไขรายมาตรา หวังว่าจะมีความเป็นไปได้ทางการเมืองแม้มีไม่กี่มาตรา แต่มันสามารถป้องกันปัญหาได้ทันที เราหวังว่าหลายร่าง ก็เป็นร่างที่น่าจะได้ฉันทามติจากซีกรัฐบาลและฝ่ายค้าน
ปลุก สส.สื่อสารประชาชน กดดัน สว.
ถามว่า วาระแฝงของวุฒิสภา ซึ่งถูกมองว่า เป็น สว.สีน้ำเงิน ต้องการเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ “พริษฐ์” ระบุว่า “ผมอาจจะสรุปแบบชัดเจนไม่ได้ว่าเจตนาของ สว.ที่ลงมติไม่เห็นชอบร่างของ สส.เป็นเพราะเหตุใด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำฉบับใหม่ หรือแก้รายมาตราต้องได้รับความเห็นชอบจาก 1 ใน 3 ของ สว. (67 เสียง)”
“หากพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านผนึกกำลังกันสื่อสารกับประชาชน เราก็หวังว่า เสียงสนับสนุนจากประชาชนในประเด็นดังกล่าว จะแปรมาเป็นแรงกดดันทำให้ สว.เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”
ชู สสร.เลือกตั้ง 100% ประชามติ 2 ยก
“พริษฐ์”ยังหวังว่า พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีสัญญาประชาคมที่ต้องรักษาไว้กับประชาชน ด้วยการทำกระบวนการดังกล่าวเดินหน้าไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็ว ทางออกแรกคือ โน้มน้าวให้ประธานรัฐสภาบรรจุร่างแก้ไขเกี่ยวกับ สสร. เพื่อลดประชามติจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง และการเดินหน้าแก้ไขรายมาตราคู่ขนานกับการจัดทำฉบับใหม่
ส่วนโมเดล สสร.ที่จะมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น “พริษฐ์” ย้ำว่า โมเดลของพรรคประชาชนที่รับไม้ต่อจากพรรคก้าวไกลนั้นต้องการให้ สสร.มาจากการเลือกตั้ง 100% โดยมีตัวแทนจากประชาชน ไปร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับกติกาสูงสุดของประเทศ ให้มี สสร.200 คน โดย 100 คนใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งตามสัดส่วนประชากร ส่วนอีก 100 คนให้ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง เหมือน สส.บัญชีรายชื่อ คือสามารถรวมสมัครเป็นทีมได้ เกิดทีมไหนได้คะแนน 5% ของทั่วประเทศก็จะได้โควตา 5% ของ สสร.แบบบัญชีรายชื่อ ว่า5 คนจาก 100 คน เป็นต้น
ถามว่าบางพรรคการเมืองกังวลโมเดล สสร.เลือกตั้ง 100% จะทำให้ฝ่ายการเมืองบางกลุ่มคุม สสร.ไม่ได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “พริษฐ์” บอกว่า “เคยมีตัวแทนของรัฐบาลคนหนึ่งที่พูดถึงข้อกังวลนี้ อย่างตรงไปตรงตอนที่สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนคู่กับผม ว่ากังวลว่าถ้าเลือกตั้ง 100% จะมีฝ่ายทางการเมืองจะมีแนวคิดที่ประชาชนขานรับมีตัวแทนเข้าไปเยอะ”
“เรามองว่าขัดต่อหลักการประชาธิปไตยว่า ถ้าเราเคารพ 1 สิทธิ 1เสียงของประชาชน ถ้าประชาชนเห็นชอบแนวทางไหนเป็นจำนวนมากก็เป็นเรื่องปกติที่ แนวทางนั้นจะมีตัวแทนเข้าไปอยู่ใน สสร.จำนวนมาก”
ขณะเดียวกัน “พริษฐ์” ยังไม่เห็นด้วยกับโมเดล สสร.ของพรรคเพื่อไทย ที่เคยเสนอไว้ในภาคผนวกรายงานคณะกรรมการการศึกษาที่มี “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ เป็นประธาน ที่เสนอสสร.สูตรผสมมี 100คน ที่เป็น 77 คนมาจากการเลือกตั้ง 1 คนต่อ 1 จังหวัด และมีอีก 23 คนมาจากการแต่งตั้งของรัฐสภาตามหมวดหมู่ต่างๆ ซึ่งจะเปิดช่องให้คนบางกลุ่มที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเข้ามาได้และอาจทำให้เข้ามากำหนดทิศทาง หรือว่าแทรกแซงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน
“พริษฐ์” ฟันธงว่าโอกาสที่เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกจัดทำโดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทันก่อนเลือกตั้งปี 2570 แทบจะเป็นศูนย์แล้ว เว้นแต่ประธานรัฐสภาทบทวนการตัดสินใจแล้วรีบบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร.เข้าสู่รัฐสภา เพื่อลดจำนวนประชามติจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง
“ถ้าเราสามารถเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกันส่งเสียงให้เห็นถึงความสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ผมคิดว่าตรงนี้จะเป็นตัวแปรที่สำคัญทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีโอกาสสำเร็จได้” พริษฐ์ ระบุ
ตอนลงอย่าท้อ ยึดคติ "พิธา"
ส่วนกรณีนิด้าโพลชี้ "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีมีความนิยมเหนือกว่า "ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ" หัวหน้าพรรคประชาชนนั้น "พริษฐ์" ระบุว่า "ถ้าจะยืนคำพูดของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตอนขึ้นอย่าลง ตอนลงอย่าท้อ ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับทิศทางแบบนั้น แน่นอนเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับเราในการกำกับทิศทางการทำงาน ในการทำให้เราประเมินการทำงานที่ผ่านมา แน่นอนตอนขึ้นอย่าลง ตอนลงอย่าท้อ"
ถามว่า เลือกตั้งปี 2570 พรรคประชาชนจะชนะเลือกตั้งหรือไม่ "พริษฐ์" ระบุว่า การคาดการณ์ผลการเลือกตั้งปี 2570 ตั้งแต่วันนี้ เป็นอะไรที่เร็วเกินไปมาก ถ้าย้อนไปแค่เดือนมกราคม กุมภาพันธ์ 3-4 เดือนก่อนเลือกตั้งปี 2566 จะเห็นว่าคะแนนนิยมของพรรคก้าวไกล ณ เวลานั้น และคุณพิธา ณ เวลานั้น ในโพลก็ยังตามหลังอยู่พอสมควร แต่พอมาถึงเดือนพฤษภาคม 2566 พรรคเราได้รับความนิยมมาเป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้น เร็วเกินไปมากจะไปคาดคะเน ผลการเลือกตั้งปี 2570 ตั้งแต่ วันนี้
ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับจังหวัดหรือ อบจ. พรรคก้าวไกลหรือพรรคประชาชนก็ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จเหมือนการเลือกตั้งใหญ่ "พริษฐ์" ระบุว่า เราก็หวังว่าทุกสนามที่เราลงทำการแข่งขัน เราก็อยากจะชนะใจประชาชน เพื่อเราเอาโอกาสที่ประชาชนให้โอกาสเรา ผลักดันนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่นก็ดี
"ต้องยอมรับว่าสนาม อบจ.แรกที่พรรคลงแข่งขันอย่าง จ.ราชบุรี เรายังไม่ประสบความสำเร็จได้ใจพี่น้องประชาชนในการเข้าไปบริหารจังหวัด แต่ถ้าพูดถึงคะแนนนิยมที่ประชาชนใน จ.ราชบุรีให้กับเรา เปรียบเทียบกับคณะก้าวหน้าเมื่อปี 2563 ก็มีพัฒนาการที่สูงขึ้น แน่นอนเรารู้สึกเสียดายโอกาสในการเข้าไปผลักดันนโยบาย เราเห็นว่ามีพัฒนาการทิศทางที่ดีขึ้น" พริษฐ์ ย้ำ