วัดใจ‘สภาฯ’ เพิ่มโทษ ‘กมธ.’ ลบครหา ‘มาเฟีย-ตบทรัพย์’
ข้อครหา "กมธ." ทำงานไม่ตรงปก ปัจจุบันมี กฎหมายคำสั่งเรียก มาตรา12 เป็นบทกำกับและลงโทษอาญา แต่ไม่เคยใช้มาก่อน ล่าสุดพบการแก้ไขในชั้น "กมธ." ให้ตัดออก ต้องจับตาชั้นสภาฯต่อไปว่าจะทำอย่างไร
KEY
POINTS
Key Point :
- สึนามิ "ดิไดคอน" มีพลังกวาดล้างมาถึง "สภาผู้แทนราษฎร" เมื่อพบนักการเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยว
- แม้ นักการเมืองรายนั้น ไม่มีสถานะ "สส." แต่การอ้างว่ามีพาวเวอร์เคลียร์ การสอบสวนในชั้น "กรรมาธิการ" ได้ ทำให้เป็นข้อครหา
- ประธานสภาฯ "วันนอร์" สั่งให้ กรรมาธิการทุกคณะ ตรวจสอบ และ ถอด "คนนอก" ที่ไม่น่าเชื่อถือออกจากคณะทำงาน
- ขณะที่การเอาผิด "กรรมาธิการ" ที่ทำงานไม่ซื่อตรง เข้าข่ายตบทรัพย์ ปัจจุบันมี กฎหมายคำสั่งเรียก มาตรา12 ใช้อยู่ แต่ไม่เคยมีใครใช้
- ล่าสุดมีความพยายามแก้ไข มาตรา12 ในชั้นกรรมาธิการ โละการเอาผิด "อาญา" ไม่ให้มีบทลงโทษใดเหลืออยู่
- วันนี้ กรรมาธิการที่พิจารณา จะประชุมนัดสุดท้าย ต้องจับตาว่า จะทบทวน คืนการเอาผิด กรรมาธิการ คนใดที่ทำงานไม่ซื่อตรง หรือไม่
ประเด็นธุรกิจ "ดิไอคอน” ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีเข้าข่ายหลอกลวง มีผู้เสียหายนับพันราย กลายเป็น “คลื่นสึนามิ” ซัด กวาดมาถึง “สภาผู้แทนราษฎร”
มูลเหตุสำคัญ คือความพัวพันกับ “บอสพอล” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป กับนักการเมือง อักษร "ส.” ที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะ “ช่วยเหลือ-ปกป้อง”
โดยเฉพาะ การอ้างถึงพาวเวอร์ที่สามารถเคลียร์ “กรรมาธิการ” (กมธ.)ไม่ให้เรียกตัวไปตรวจสอบ-สอบสวนในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และโยงถึง ธุรกิจ "ดิไอคอน” ได้
แม้ว่า “ชายในคลิปเสียง” จะไม่ถูกชี้ตัวชัดๆ ว่า ชื่อเสียงเรียงนามอะไร สังกัดพรรคการเมืองใด หรือไม่
ทว่าการล็อบบี้ไม่ให้ “คนมีประเด็น” ถูกตรวจสอบใน กมธ. ทำให้ “คนในสภาฯ” นั่งไม่ติด และต้องเร่งเคลียร์ขยะในบ้านตัวเองให้เร็ว
ล่าสุด “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานสภาฯ ใช้อำนาจส่งหนังสือไปถึง “ประธานกรรมาธิการสามัญ” 35 คณะ รวมถึง “กรรมาธิการวิสามัญ” ทุกคณะ ให้สกรีน “บุคคลภายนอก” ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะทำงาน หรือ กมธ.ที่มีพฤติกรรมไม่น่าเชื่อถือ หากพบให้ “รีบถอดออกจากตำแหน่งทันที”
ถือเป็นมาตรการเชิงตั้งรับ หลังจากที่ “เกิดเหตุ” ไปแล้ว
กรณีการแอบอ้างคณะทำงานของ กมธ.ไปทำในสิ่งที่ไม่ซื่อตรง หรือสิ่งที่ไม่สุจริตต่อภารกิจหน้าที่ ที่ผ่านมาเคยมีให้เห็นกันมาบ้าง
จากการเปิดเผยของ “สส.” ด้วยกันเอง และกรณีนี้ “ประธานสภาฯ” ออกมายอมรับถึง 2 ครั้ง ในรอบสัปดาห์ว่า "มีการแอบอ้างในนาม กมธ.ของสภาฯ ไปทำในสิ่งที่ไม่ซื่อตรง”
แม้จะไม่ถึงขั้น พูดเต็มปากว่า “ตบทรัพย์-เรียกผลประโยชน์” แต่คนในสังคมได้ตั้งคำถามตัวโตๆ ไปแล้วว่าสภาฯจะมีมาตรการกำกับที่เด็ดขาดอย่างไร อย่างน้อยเพื่อป้องปราม ไม่ให้บุคคลที่มีตำแหน่งในกมธ. ที่เสมือนเป็นตัวแทนของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ใช้ตำแหน่ง หากินอย่างมิชอบ
กับมาตรการเชิงป้องปรามในการทำงานของ กมธ. ปัจจุบันมีกฎหมาย 1 ฉบับที่เขียนกำกับการทำงานไว้เป็นการเฉพาะ คือ “พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554”
สาระสำคัญใน พ.ร.บ.นี้ ระบุไว้ในมาตรา 12 กำหนดว่า “กรรมาธิการผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือ ปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม พ.ร.บ.นี้ ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 1-10 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 2,000 - 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ”
โดยที่ผ่านมายังไม่เคยพบว่า มีบุคคลใดยื่นเอาผิด กมธ.ตามแนวทางของกฎหมายฉบับนี้ จึงทำให้ถูกตั้งคำถามว่า “ใช้ได้จริงหรือไม่?”
อย่างไรก็ดี “พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ” มีประเด็นที่ทำให้ไม่ถูกบังคับใช้
หากจำได้ในช่วงปี 2563 ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยคำร้องของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ช่วงที่ยังเป็น สส.พรรคพลังประชารัฐ ที่ยื่นเรื่องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้ว่าใน พ.ร.บ.คำสั่งเรียก มาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา13 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่มีผลใช้บังคับได้ ทำให้ กมธ.ไม่มีอำนาจใดในการ “เรียกบุคคล” มาสอบสวน รวมถึงเรียกพยานเอกสารมาตรวจสอบ และไม่ไม่มีบทลงโทษผู้ไม่ปฏิบัติตาม เท่ากับ “ริบอำนาจ” ของ กมธ.ไปโดยปริยาย
ทำให้ในสภาฯ มีความพยายามฟื้น “คืนดาบกรรมาธิการ” ขึ้นมาอีกครั้ง โดย พรรคภูมิใจไทย และ พรรคประชาชน ที่เสนอ “ร่างพ.ร.บ.อำนาจเรียกของกรรมาธิการของสภาฯ และวุฒิสภา พ.ศ…” ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของ กมธ.วิสามัญ ที่ “สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง” สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย นั่งเป็นประธาน
ความน่าสนใจของเรื่องนี้อยู่ที่ “มาตรา 12" ว่าด้วยบทลงโทษกมธ. ที่ทำหน้าที่ไม่ชอบ ไม่ซื่อตรง ซึ่งมติที่ประชุม กมธ.ให้ตัดออก
แม้ก่อนหน้านี้ ร่างแก้ไขฉบับของ “พรรคภูมิใจไทย” จะปรับเนื้อหาให้ “คาดโทษ ในระดับความผิดมาตรฐานจริยธรรม” แทนการเอาผิดอาญา
ตามบันทึกการประชุม กมธ. ครั้งที่ 5 วันที่ 29 ส.ค.2567 หน้า 13 -14 บันทึกความเห็นของกมธ. 4 คน คือ รังสิมันต์ โรม รองประธานกมธ.คนที่หนึ่ง วัฒนา เตียงกูล กมธ. พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร และ นิกร จำนง กมธ.และที่ปรึกษา ที่เห็นตรงกันว่า “ควรตัดออก” พร้อมระบุเหตุผลซึ่งสรุปเป็นสาระสำคัญได้ว่า
“ไม่มีความจำเป็นต้องบัญญัติไว้ และควรตัดออก เพราะหากมีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีกฎหมายอื่นที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะใช้บังคับ แล้ว ขณะที่ในประเด็นเอาผิดจริยธรรมไม่สามารถหมายรวมวุฒิสภาได้ นอกจากนั้นมาตรการที่บัญญัติไว้นั้นไม่ค่อยมีผู้ใดบังคับใช้”
ทั้งนี้ไม่พบว่า กมธ.ในสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย ที่เสนอแก้ไขมาตรานี้ โต้แย้ง
มีเพียง “พริษฐ์ วัชรสินธุ” สส.พรรคประชาชน ฐานะผู้เสนอคำแปรญัตติที่ขอสงวนคำแปรญัตติไปพูดในสภาฯ เพราะเห็นความสำคัญในการมีมาตรการกำกับการทำหน้าที่ อย่างน้อย คือ ต้องให้ คณะกรรมการจริยธรรมพิจารณาบทลงโทษตามประมวลจริยธรรมของสภา
ในวันนี้ กมธ.นัดประชุมครั้งสุดท้าย เพื่อตรวจสอบรายงานก่อนส่งให้ “ประธานสภาฯ” บรรจุวาระ เพื่อให้สภาฯ พิจารณา ในวาระสองและวาระสาม ก่อนปิดสมัยประชุมสิ้นเดือน ต.ค.นี้
ดังนั้นในประเด็นมาตรการ “กำกับกรรมาธิการ ให้ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา” เพื่อประโยชน์สูงสุด คือ “ประชาชน” คิดในแง่ดี อาจถูกหยิบยกมาทบทวน หลังจากเกิดกรณี “คลิปเสียงเคลียร์งาน”
ต่อเรื่องนี้ “ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล” สส.พรรคประชาชน ฐานะโฆษกมธ.จริยธรรม ให้สัมภาษณ์ว่า ต้องรอดูการประชุมนัดสุดท้าย ว่าจะพิจารณาอย่างไร หาก กมธ.ยืนยันตัดออก มาตราที่เป็นบทลงโทษกรรมาธิการ จะหายไปเลย
“หากกรรมาธิการเคลียร์กันไม่ได้ อาจใช้วิธีสงวนความเห็นเอาไว้ไปพูดในสภาฯ และขณะนี้พบว่ามีบางประเด็นที่ยังไม่สรุป เช่น ประเด็นการเอาผิดผู้ที่ถูกเรียกให้ชี้แจง ที่มีข้อเสนอให้ใช้ช่องทางจริยธรรมลงโทษทางอาญา หรือปรับเป็นพินัย”
ส่วนการโละ การเอาผิด กมธ.ที่ทำงานไม่ซื่อตรงนั้น ต้องจับตาให้ดีอีกครั้งว่า พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ จะติดดาบให้ตัวเอง แต่“เลิกบทลงโทษ” ที่เป็นมาตรการกำกับการทำหน้าที่ให้สุจริตหรือไม่
ท่ามกลางสึนามิที่กำลังซัดความเชื่อมั่นศรัทธา “สภาผู้แทนราษฎร” ที่ถูกมองแบบเหมารวมว่า เป็น “สภาฯมาเฟีย-ตบทรัพย์” ไปแล้ว.