‘บอสแซม’ ทายาทคณะราษฎร ฉาก รักที่อยากลืม ‘ดิไอคอน’

‘บอสแซม’ ทายาทคณะราษฎร  ฉาก รักที่อยากลืม ‘ดิไอคอน’

พลิกเส้นทางบันเทิงและการเมืองของ "แซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี" เป็นทายาท พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี แกนนำคณะราษฎร ผู้ร่วมก่อการปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 "บอสแซม" ตกเป็น 1 ใน 18 ผู้ต้องหา "ดิ ไอคอน กรุ๊ป" ฐานความผิดร่วมกัน ร่วมฉ้อโกงประชาชน และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ

KEY

POINTS

  • "แซม ยุรนันท์" เป็นบุตรชายของ “พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี” 1 ใน 7 แกนนำสำคัญของผู้ก่อการคณะราษฎร คณะผู้ก่อการปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 
  • "บอสแซม" คือชื่อที่ถูกเรียกขานหลังเขารับตำแหน่ง  Chief Research Officer (CRO) ของ "ดิ ไอคอน กรุ๊ป"
  • ตกเป็น 1 ใน 18 ผู้ต้องหาคดีในข้อหาร่วมฉ้อโกงประชาชน และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ 
  • "แซม"ผ่านการเป็นนักร้อง นักแสดง พิธีกร จนประสบความสำเร็จ ก่อนเข้าสู่การเมืองเมื่อปี 2548
  • เป็น สส.กทม. สมัยแรกเมื่อปี 2548 สังกัดพรรคไทยรักไทย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย 2554
  • ลาออก สส.บัญชีรายชื่อ เมื่อปี 2556 เพื่อลงสมัคร สส.กทม. เขตดอนเมือง แต่สุดท้ายแพ้ให้  “แทนคุณ จิตต์อิสระ” จากพรรคประชาธิปัตย์

“ปลิดปลิวเคว้งคว้าง ชีวิตฉันดั่งใบไม้ที่หลุดลอย” หนึ่งในบทเพลงของอัลบัม “พรายพราว” อันโด่งดังและอมตะของ “แซม” ยุรนันท์ ภมรมนตรี เมื่อปี 2526 ที่เขาเป็นผู้ร้องในบทเพลง “รักที่อยากลืม” ที่ “วิสา คัญทัพ” เป็นผู้เขียนคำร้องและทำนอง

“แซม” เคยยอมรับตรงๆในวันนี้ว่า “เป็นนักร้องโบราณ” แล้ว แม้จะเคยผ่านการเป็นนักร้องที่ลูกคอสะกดคนฟัง ออกอัลบัมเพลงมากมาย เคยขึ้นเวทีคอนเสิร์ตนับไม่ถ้วนเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว แต่แทบไม่น่าเชื่อว่าปี 2567 “แซม” ยุรนันท์ ภมรมนตรี ในวัย 61 ปี จะตกเป็น 1 ใน 18 ผู้ต้องหาคดี “บริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด” เมื่อตำรวจสอบสวนกลาง ได้ออกหมายจับในข้อหาร่วมฉ้อโกงประชาชน และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567

ก่อนถึงนาทีที่ “บอสแซม” ตำแหน่ง Chief Research Officer (CRO) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์” ของ “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” จะถูกควบคุมตัวตามหมายจับนั้น “แซม ยุรนันท์” เติบโตมีชื่อเสียงจากการเป็นแสดงภาพยนตร์ ละคร เป็นพิธีกร นักร้องในวงการบันเทิง

‘บอสแซม’ ทายาทคณะราษฎร  ฉาก รักที่อยากลืม ‘ดิไอคอน’

ภาพยนตร์ “กำแพงหัวใจ” คือเรื่องแรกเมื่อปี 2524 ผู้กำกับ คือ ส.อาสนจินดา ของค่ายสีบุญเรืองฟิล์ม รับบทเป็นน้องชายของ “เปิ้ล” จารุณี สุุขสวัสดิ์ นางเอกชื่อดังในยุคนั้น

“แซม ยุรนันท์” เป็นพระเอกภาพยนตร์ครั้งแรก ในเรื่อง “นางเสือดาว” คู่กับ “วรรณิศา ศรีวิเชียร” อีกทั้งเคยผ่านงานพิธีกร 7 สีคอนเสิร์ต เที่ยงวันกันเอง  ลุ้นข้ามโลก เป็นต้น

รวมทั้งเคยรับรางวัลเมขลา จากผู้แสดงนำชายดีเด่น ละคร “สวรรค์เบี่ยง” ปี 2531 ละคร “คนบาป” ปี 2535 ละคร “คนละโลก” ปี 2536 ละคร “ความรักสีดำ” ปี 2538 ละคร “สาบนรสิงห์” ปี 2539 และละคร “ไฟริษยา” ปี 2541

ความโด่งดังในบทบาทการแสดง และสร้างชื่อเสียงจนประสบความสำเร็จสุดขีดจากวงการบันเทิง ทำให้ “แซม ยุรนันท์” พระเอกชื่อดัง หันเหชีวิตจากวงการบันเทิงเหมือนรุ่นพี่นักแสดง นักร้องคนดังบางคน มาลงสนามการเมือง

ขณะเดียวกัน “แซม” ยังเป็นทายาทสายตรงของคณะราษฎร เป็นบุตรชายของ พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี แกนนำคณะราษฎร และ “เรณู ภมรมนตรี” (สกุลเดิม พิบูลภานุวัฒน์) อดีตรองนางสาวไทย ปี 2491

“ประยูร ภมรมนตรี” คือ 1 ใน 7 แกนนำสำคัญของผู้ก่อการคณะราษฎร คณะผู้ก่อการปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 ในซีกของฝ่ายพลเรือน

“แซม” เป็นหลานของพันตรี พระชำนาญคุรุวิทย์ (แย้ม ภมรมนตรี) ทูตประจำจักรวรรดิเยอรมัน กับ แพทย์หญิงแอนเนลี ภมรมนตรี (แอนเนลี ไฟร์) สตรีชาวเยอรมันครูสอนภาษาเยอรมันให้กับนักเรียนในจักรวรรดิเยอรมัน

‘บอสแซม’ ทายาทคณะราษฎร  ฉาก รักที่อยากลืม ‘ดิไอคอน’

“ประยูร” เคยเล่าผ่านหนังสือ “อัตชีวประวัติ ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” ถึงจุดเปลี่ยนริเริ่มคิดก่อการปฏิวัติสยามว่า “ข้าพเจ้าได้ศึกษาภาษาฝรั่งเศส ก็ได้พบกับ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป พิบูลสงคราม) เป็นเพื่อนที่รักใคร่สนิทสนนกันมากได้ร่วมชั้นในโรงเรียนนายร้อยมาตั้งแแต่ปีที่ 2 ได้มาเรียนภาษาในโรงเรียนนี้พร้อมกับ ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี) ซึ่งเป็นญาติโยงสัมพันธ์กับสกุล ภมรมนตรี ทางสายอินทรกำแหง จึงได้ถือโอกาสให้มาอยู่รวมกันในบริเวณและชักชวนให้มาร่วมคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง”

เวลาต่อมา 6 นักเรียนไทยในฝรั่งเศส และข้าราชการสถานทูต 1 คน ประกอบด้วย 1. ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ 2.ปรีดี พนมยงค์ 3.หลวงศิริราชไมตรี 4. ดร.ตั้ว ลพานุกรม 5. ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี 6.แนบ พหลโยธิน และ 7. ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ได้ร่วมหารือถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม

‘บอสแซม’ ทายาทคณะราษฎร  ฉาก รักที่อยากลืม ‘ดิไอคอน’

“ประยูร” คือคนที่ควบคุมองค์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเสด็จจากวังบางขุนพรหมในฐานะองค์ประกันสูงสุด มายังพระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันที่ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

“ประยูร” ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็น สส.ชุดแรก จำนวน 70 คน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 เป็น สส.เชียงใหม่ พรรคเสรีมนังคศิลา ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2500

ฉากชีวิตของ “แซม” ทายาทคณะราษฎรเดินตามรอย “พ่อประยูร” ด้วยการเป็นผู้แทนราษฎร

เขาเลือกจังหวะที่ถูกที่ถูกเวลา เข้าสังกัดพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2548 ช่วงที่อยู่ในยุคฟีเวอร์ กวาด สส.เกือบยกกรุงเทพฯ ถึง 32 ที่นั่ง จากทั้งหมด 37 ที่นั่ง แบ่งให้ พรรคประชาธิปัตย์ เพียง 4 ที่นั่ง พรรคชาติไทย 1 ที่นั่ง

1 ใน 32 สส.กทม. พรรคไทยรักไทย ขณะนั้น มีชื่อของ “แซม ยุรนันท์” ได้รับเลือกตั้ง สส.กทม. เขต 11 (เขตดินแดง) 40,176 คะแนน เอาชนะ “ผู้พันแซม” พ.อ.เฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ 30,497 คะแนน

เลือกตั้ง สส.ทั่วไป 23 ธันวาคม 2550 “แซม ยุรนันท์” ลงสมัคร สส.กทม. ในยุคกติกา แบ่งเขตเรียงเบอร์ ครั้งนั้นลงในเขตเลือกตั้งที่ 3 เขตลาดพร้าว เขตดินแดง เขตห้วยขวาง และเขตวังทองหลาง ซึ่งมี สส.ได้ 3 คน

“แซม” ควงเพื่อนผู้สมัคร ลงในนามพรรคพลังประชาชนร่วมทีมกับ ภูวนิดา คุนผลิน และ “เสี่ยกึ้ง” เฉลิมชัย มหากิจศิริ ผลปรากฎว่า 3 ผู้สมัครจากพรรคพลังประชาชนสอบตกยกพวง “แซม”ได้ 91,201 คะแนน เข้ามาเป็นอันดับที่ 5

จนมาถึงศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี2552 “พรรคเพื่อไทย” ไร้ตัวเลือกเพราะเพิ่งกรำศึกสมัยพรรคพลังประชาชน เพิ่งบอบช้ำพ่ายแพ้จากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อปลายปี 2551 หวังโหนกระแสความเป็น “ซุปตาร์” ของ “ยุรนันท์” ลงประลองยุทธ์ ในศึกชิงผู้ว่าฯ กทม.เมื่อ 11 มกราคม 2552 เมื่อครั้งเลือกตั้งซ่อม แทน “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ที่ลาออกจากผู้ว่าฯ กทม. หลังคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในคดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง

“แซม” ต้องสู้กับ “คู่ชิง” โคตรหินฐานเสียงแน่นเมืองกรุงจากพรรคประชาธิปัตย์ที่เปิดตัว คุณชายหมู “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ลงสมัคร

ผลปรากฏ “พรรคเพื่อไทย” ที่เป็นฝ่ายค้านขณะนั้นส่ง “แซม” เป็นผู้สมัครประเดิมคนแรกของพรรคในเวทีท้องถิ่น ก็พ่ายแพ้ขาดลอย “ยุรนันท์” เข้าป้ายที่สอง ได้ 611,669 คะแนน ส่วน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ชนะเลือกตั้งได้ 934,602 คะแนน

‘บอสแซม’ ทายาทคณะราษฎร  ฉาก รักที่อยากลืม ‘ดิไอคอน’

“แซม ยุรนันท์” ได้กลับเข้าสู่สภาฯ อีกครั้ง เมื่อปี 2554 แบบไม่ต้องออกแรงมากนัก โดยเป็นสส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 63

เมื่อ 25 สิงหาคม 2554 เพราะมี สส.ลำดับก่อนหน้าลาออก จึงได้เลื่อนขึ้นมาแทน

ต่อมาเพื่อไทยมีมติให้ “ยุรนันท์”ลาออกจาก สส.บัญชีรายชื่อ เมื่อ 27 พฤษภาคม 2556 เพื่อไปลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม สส.กทม. เขตเลือกตั้งที่ 12 (เขตดอนเมือง) แทน “เก่ง การุณ โหสกุล” ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งแจกใบแดง

การลาออกครั้งนั้น ถูกคอการเมืองมองว่า เป็นการไม่ให้เกียรติคนกรุงเทพฯ เพราะลาออกจาก สส.บัญชีรายชื่อ เพื่อมาลงเลือกตั้ง สส.เขตในสมัยเดียวกัน

แม้เขาอยากจะบันทึกสถิติ เป็น สส. 2 รอบใน 1 สมัยของสภาฯ แต่ผลก็ไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยกระแสที่ “พรรคเพื่อไทย” ยังไม่ครองใจคนกรุง หลังจากผ่านช่วงชุมนุมเสื้อแดงเมื่อกลางปี 2553

ปิดหีบเลือกตั้ง “ยุรนันท์”สอบตกในศึกเลือกตั้งซ่อม สส.กทม.เขตดอนเมือง เมื่อ 16 มิถุนายน 2556 แพ้ให้กับ “แทนคุณ จิตต์อิสระ” จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ 32,710 คะแนน

ขณะที่ “ยุรนันท์” ได้ 30,624 คะแนน ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตว่า ฐานเสียงของ “เก่ง การุณ” ไม่เทอย่างเต็มที่ให้กับผู้ที่มาลงแทน

“แซม ยุรนันท์” เคยบอกเล่าผ่านสื่อมวลชนว่า “ครอบครัวเขาได้รับการสอนมาตั้งแต่บรรพบุรุษว่า ชาติ สำคัญที่สุด ข้อ 2 คือ ศาสนา”

‘บอสแซม’ ทายาทคณะราษฎร  ฉาก รักที่อยากลืม ‘ดิไอคอน’

นับจากการมีตำแหน่งผู้แทนราษฎรครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2556 “แซม ยุรนันท์" ยังพอมีจังหวะที่มาร่วมงานกับพรรคเพือไทยอยู่บ้าง บางครั้งก็เป็นพิธีกรให้กับพรรคในงานใหญ่ๆ แต่ก็ไม่ได้มีบทบาทสำคัญ เพราะในห้วงปี 2562 พรรคเพื่อไทยต้องตกเป็นฝ่ายค้าน

กระทั่งปัจจุบัน “แซม ยุรนันท์” ได้หวนกลับมารับงานในวงการบันเทิง ได้รับบทบาทใหม่เรียกขานจากสาวก “ดิ ไอคอนกรุ๊ป”ว่า “บอสแซม” จนต้องตกเป็น 1 ใน 18 ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกง

“ฝนเอยจงเป็นพยาน ข้าขอวานจงเมตตา” คงเป็นบทเพลงที่ “แซม” อยากขอความเมตตาจากกระบวนการยุติธรรมมากที่สุดในตอนนี้