ขุมทรัพย์ สนามกอล์ฟ‘กองทัพ’ ปชน.ทวงคืนที่ดินผ่านสภาฯ
“เชตวัน เตือประโคน” สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล ใช้กลไกสภาฯ ผ่านการยื่นกระทู้ถามทั่วไปถึงการปัญหาการใช้ที่ดินไม่เกิดประโยชน์ กรณีสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ของกองทัพอากาศ จ.ปทุมธานี” โดยหวังจะได้พื้นที่ดังกล่าวคืนให้รัฐ เพื่อใช้พื้นที่เป็นสาธารณะประโยชน์กับประชาชน
KEY
POINTS
- เชตวัน สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน ในฐานะรองประธาน กมธ.การทหาร สภาฯ ตรวจสอบพบ มีสนามกอล์ฟของกองทัพถึง 61 สนาม ที่ดินรวมกว่า 21,454 ไร่
- กองทัพบก มีสนามกอล์ฟในการครอบครองทั้งหมด 40 สนาม ใช้ที่ดิน 14,470 ไร่
- "เชตวัน" ยื่นกระทู้ถามทั่วไปผ่านสภาฯ ทวงถามถึงที่ดินสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ของกองทัพอากาศ กว่า 625 ไร่ โดยต้องการให้รัฐบาลออกมติ ครม.คืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์ เพื่อนำพื้นที่ไปใช้เป็นสวนสาธารณะ และสร้างโรงพยาบาล
- "ภูมิธรรม" รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ชี้แจง พื้นที่สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ไม่สามารถจัดการได้ทันที เพราะไม่ใช่ที่ดินปกติ เป็นเรื่องของความมั่นคง และความมั่นคงของบุคคลระดับวีวีไอพี และวีไอพี
- รัฐบาลต้องรอผลการพิจารณาของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น
"สนามกอล์ฟกองทัพมีไว้ทำไม?” เป็นหัวข้อที่ “เชตวัน เตือประโคน” สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร เคยย้ำผ่านเวทีเสวนา “ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย”
โดย “เชตวัน” ได้เกาะติดถึงจำนวนสนามกอล์ฟของกองทัพที่ใช้เป็น “สนามกอล์ฟจริงๆ” ไม่ใช่ “สนามไดร์ฟ”รวมทุกเหล่าทัพแล้ว พบว่ามีข้อมูลทั้งสิ้น 57 แห่ง รวมที่ดินใช้ทำสนามกอล์ฟกองทัพทั้งสิ้น 20,871 ไร่
อย่างไรก็ตาม จำนวน 57 สนาม เป็นตัวเลขจากการชี้แจงของกองทัพที่เคยเปิดเผย เมื่อตรวจสอบลงไปพบว่ามีสนามกอล์ฟของกองทัพถึง 61 สนาม ที่ดินรวมกันแล้ว กว่า 21,454 ไร่
ไล่ตั้งแต่ กองทัพเรือ มี 4 สนาม ใช้ที่ดินรวมกันทั้งสิ้น 2,354 ไร่ ประกอบด้วย ราชนาวีพลูตาหลวง 1,549 ไร่ ราชนาวีทับละมุ 625 ไร่ ศูนย์พัฒนากีฬาราชนาวี ศาลายา 80 ไร่ และ ศูนย์พัฒนากีฬราชนาวี บางนา 100 ไร่
กองทัพอากาศ มีสนามกอล์ฟทั้งหมด 13 สนาม ใช้ที่ดินรวมกันทั้งสิ้น 4,047 ไร่ อาทิ กองบิน 41 สนามกอล์ฟพิมานทิพย์ กองบิน 41 ศูนย์กีฬากอล์ฟ ฝูงบิน 416 สนามกอล์ฟ กองบิน 56 สนามกอล์ฟโรงเรียนการบิน สนามกอล์ฟ ธูปะเตมีย์ เป็นต้น
กองทัพบก มีสนามกอล์ฟในการครอบครองทั้งหมด 40 สนาม ใช้ที่ดินรวมกันมากกว่าทุกเหล่าทัพทั้งสิ้น 14,470 ไร่ อาทิ ศพก.ทบ.รามอินทรา ศพก.สวนสนประดิพัทธ์ ศพก.ค่ายธนะรัชต์ ศพก.ทภ.2 ค่ายสุรนารี เป็นต้น
สส.เชตวัน ยื่นกระทู้ถามทั่วไป ถึงนายกรัฐมนตรี คาทิ้งไว้ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2567 ผ่านหัวข้อ “ปัญหาการใช้ที่ดินไม่เกิดประโยชน์ กรณีสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ของกองทัพอากาศ จ.ปทุมธานี” เนื่องจากในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของนายกฯ ได้ย้ำว่า “จะนำพื้นที่ของหน่วยงานทหารที่เกินความจำเป็นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน”
โดยพื้นที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ “เชตวัน”รับผิดชอบในฐานะ สส.พบว่า มีที่ดินคือ สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ของกองทัพอากาศ เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 625 ไร่ ตั้งอยู่ใกล้ชิดตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร
เมื่อ สส.จากพรรคประชาชนเล็งเห็นว่า ควรนำพื้นที่ดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ เพราะพื้นที่ของสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ อยู่ใจกลางเมือง สามารถนำที่ดินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่า เพราะที่ดินดังกล่าว 625 ไร่ เฉลี่ยแล้วพบว่าตกที่ไร่ละ 16.4 ล้านบาท โดยสามารถสร้างมูลค่าที่ดินได้กว่า 10,250 ล้านบาท
ปัจจุบัน สนามกอล์ฟแห่งนี้ กลับทำกำไรได้เพียง 11 ล้านบาท ดังนั้น จึงเห็นว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ควรออกมติ ครม. เพื่อคืนที่ดินราชพัสดุคืนให้กับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อนำไปสร้างสวนธารณะ หรือให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมาขอใช้ประโยชน์
จากการประสานงานกันล่าสุด “พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี ก็เคยบอกผ่านกับ “เชตวัน” ว่าอยากจะนำพื้นที่ดังกล่าวไปสร้างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพด้วย
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ที่ประชุมสภาฯ ได้พิจารณาคิวกระทู้ถามทั่วไปดังกล่าวของ “เชตวัน” หลังยื่นคาทิ้งไว้อยู่เกือบ 2 เดือน
ทั้งนี้ “เชตวัน” ทวงถามรัฐบาล ใน 2 ประเด็น คือ
1.รัฐบาลมีแผนที่จะให้กองทัพอากาศคืนที่ดินแห่งนี้ให้กับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวนำไปบริหารต่อหรือไม่
2.รัฐบาลมีแผนที่จะเปลี่ยนพื้นที่สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ นำที่ดินมาใช้ประโยชน์เป็นรูปแบบอื่น เช่น สวนสาธารณะ หรือไม่
โดย “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ชี้แจงว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น หรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม สภาฯ ที่มี จิรายุ ห่วงทรัพย์ เป็นประธาน กมธ. ได้คุยกันอยู่ ซึ่งมีนายพลที่เกี่ยวข้อง 3 คน ได้พูดคุย ว่ามีส่วนใดที่ใช้ประโยชน์ได้บ้าง
ทั้งนี้การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องคำนึงถึงหัวใจประชาชนด้วย และเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่สามารถจัดการได้ทันที เพราะไม่ใช่ที่ดินปกติ เป็นเรื่องของความมั่นคง ระบบป้องกันภัยเครื่องบินพาณิชย์ รวมถึงความมั่นคงของบุคคลระดับวีวีไอพี และวีไอพี
“หากศึกษาร่วมกันและมีผลชัดเจน ซึ่งอาจต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพราะไม่ใช่ที่ดินปกติ ทั้งนี้อย่าคิดอะไรด้านเดียว หรือเอาแต่ใจตัวเอง มองให้รอบด้าน รัฐบาลพร้อมรับการตรวจสอบ และฝ่ายรัฐบาลฝ่ายค้านสามารถคุยกันได้ด้วยเหตุและผล ไม่มีปัญหา หาก กมธ.วิสามัญ ศึกษาแล้วระบุว่าไม่มีผลกระทบ แต่ไม่ใช่ใครพูด ต้องเอาเป็นเอาตายในการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลไม่สามารถทำให้ได้” ภูมิธรรม ตอบกระทู้ดังกล่าว
ขณะที่ "เชตวัน" ระบุกับ "กรุงเทพธุรกิจ"ว่า "ประเด็นที่ กมธ.การทหาร หยิบยก คือ ใช้ที่ดินเกิดประโยชน์ไม่คุ้มค่า ซึ่งเราไม่ได้มีปัญหากับกองทัพ อีกทั้งกองทัพเคยชี้แจงว่า ก็แค่รัฐบาลมีมติสั่งมาพร้อมทำตาม ซึ่งเข้าใจว่าคงพูดไปในทำนองเหมือนรัฐบาลคงไม่กล้าสั่งกองทัพ เพราะสามารถออกเป็นมติ ครม.ออกมาเพื่อคืนที่ดินดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ดังนั้น กรณีนี้ผมมั่นใจว่า ครม.คงไม่กล้าสั่ง"
อย่างไรก็ตาม มีเหตุผลสำคัญที่กองทัพจำเป็นต้องสนามกอล์ฟไว้ คือ 1.เป็นที่ออกกำลังกายของทหาร 2.เป็นที่รับรองแขกบ้านแขกเมือง (VVIP) 3.เพื่อควบคุมราคาค่าบริการของสนามกอล์ฟเอกชน และ 4.เป็นเรื่องของความมั่นคง อีกทั้งยังเป็นสวัสดิการของทหารและครอบครัวทหารชั้นผู้น้อย
ถึงแม้ประเด็นการคืนสนามกอล์ฟให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากทำเป็นสวนสาธารณะได้นั้น สส.พรรคประชาชนมองว่า หากให้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ติดกับเขตหลักสี่ เขตดอนเมือง เขตสายไหม กรุงเทพฯ ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งคาดว่ามีเกิน 5 แสนคน เมื่อประชาชนใช้เป็นที่ออกกำลังกายได้ ก็จะมีสุขพลานามัยที่ดีขึ้น
เท่ากับว่า รัฐจะสามารถประหยัดงบประมาณประเทศ ในการดูแลผู้เจ็บไข้ได้ป่วยได้อย่างมหาศาล
นอกจากนี้ หากมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยใช้สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ จะสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียว ได้มากถึง 1 ล้านตารางเมตร รวมทั้งลดอัตราการตายจากทุกสาเหตุได้มากถึง 11% และลดสาเหตุการตายจากโรคด้านหัวใจได้มากถึง 16% จากการเพิ่มพื้นที่ออกกำลังกาย
ทั้งนี้ คงเป็นคำถามที่ยังต้องถามต่อ“กองทัพ”ต่อไปว่า ทำไมสนามกอล์ฟจึงมีความจำเป็นต่อกองทัพทั่วประเทศถึง 61 สนาม รวม 21,454 ไร่ มากกว่าที่จะนำพื้นที่บางส่วนคืนให้กับรัฐ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์สำหรับประชาชนทั่วประเทศ เพื่อเปลี่ยนจากผู้ใช้งานคือ “นายพล” จำนวนไม่มาก คืนสู่ประชาชนทั่วไปทุกเพศ ทุกวัย และผู้ที่มีข้อจำกัดด้านความพิการ