‘สามารถ-กฤษอนงค์’ จากมิตรสู่ศัตรู บรรจบปมฉาว ‘ดิไอคอน’

‘สามารถ-กฤษอนงค์’ จากมิตรสู่ศัตรู บรรจบปมฉาว ‘ดิไอคอน’

"...ทั้งหมดคือโปรไฟล์เส้นทางการเมือง-ธุรกิจของ “กฤษอนงค์-สามารถ” อดีตมิตรสหายร่วมก่อตั้งองค์การต่อต้าน “แชร์ลูกโซ่” อดีตหัวหน้า-ลูกน้องในพรรคการเมือง ก่อนแยกทางกันเดิน..."

KEY

POINTS

  • เปิดเส้นทางชีวิต “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช-พัช กฤษอนงค์” จากอดีตลูกน้อง-หัวหน้า สู่ศัตรู
  • เริ่มบนถนนการเมืองที่ “พรรคพลังเครือข่ายประชาชน” ลงเลือกตั้งปี 57 
  • ร่วมสร้างองค์การต่อต้านแชร์ลูกโซ่ แต่ผ่านไป 2 ปีต้องแยกทาง
  • “พัช กฤษอนงค์” ไปตั้ง “พรรคภาคีเครือข่ายไทย-สำนักงานกฎหมาย”
  • “สามารถ” ตั้งสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่ฯ จนปี 62 เข้าพบ “ลุงบ้านป่าฯ” อยู่กับ พปชร.
  • เส้นทางทั้งคู่มาบรรจบกันอีกครั้งหลังปมฉาว “ดิไอคอนกรุ๊ป” ถูกเปิดโปง

ปัจจุบันสปอร์ตไลท์ทางการเมืองกำลังฉายแสงจับจ้องไปที่ “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” ใช่นักการเมือง “ส.” หรือไม่ หลังเจ้าตัวถูกชงคำสั่งปลดพ้นเก้าอี้ “รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ” (พปชร.) ไปหมาด ๆ เมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางการกวาดล้างจับกุมเครือข่ายธุรกิจขายตรงดิไอคอนกรุ๊ป” ที่มีผู้เสียหายกว่า 2 พันคน มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท

อย่างไรก็ดีนับตั้งแต่เกิดการจับกุม-แจ้งข้อกล่าวหาบรรดา “บอส” ในอาณาจักร “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” ทาง “สามารถ” ยังมิได้โชว์ตัวต่อสาธารณชน หรือชี้แจงผ่านสื่อใด ๆ อย่างเป็นทางการ โดยเจ้าตัวให้สัมภาษณ์เพียง 1 ครั้ง อ้างว่าอยู่ต่างประเทศ และปฏิเสธมิใช่ “นักการเมือง ส.” ที่ถูกพาดพิงว่า มีส่วนเกี่ยวข้องในขบวนการ “เทวดา” ของเครือข่าย “ดิไอคอนกรุ๊ป” แต่อย่างใด

เงื่อนปมเกี่ยวกับ “นักการเมือง ส.” ที่พัวพันกับ “เทวดา” ปกป้อง “บอสพอลวรัตน์พล วรัทย์วรกุล ยังไม่ทันซา ก็ปรากฎกระแสข่าว “นักร้องเรียนหญิง” รายหนึ่งอ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแชร์ ตบทรัพย์จาก “ดิไอคอนกรุ๊ป” 10 ล้านบาท โดยมีการโยงไปยังบุคคลต่าง ๆ นานา ซึ่งทั้งหมดให้การปฏิเสธ

เช่นเดียวกับ “กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์” หัวหน้าพรรคสุวรรณภูมิ และนักเคลื่อนไหวต่อต้านธุรกิจแชร์ลูกโซ่ เจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจ “กฤษอนงค์ต้านโกง” ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการชื่อดังหลายรายการปฏิเสธเรื่องนี้ แต่ยอมรับว่ารู้จักกับ “บอสพอล” มายาวนานแล้ว เนื่องจากเคยอยู่วงการเดียวกัน แต่ไม่ได้สนิทสนม

ประเด็นที่น่าสนใจ “กฤษอนงค์” เคยให้สัมภาษณ์ผ่านรายการชื่อดังช่องน้อยสี เมื่อสัปดาห์ก่อน ยอมรับว่ารู้จักกับ “สามารถ” เพราะก่อนหน้านี้เคยทำงานในพรรคเดียวกันมาก่อน กระทั่งได้แยกทางเดินกันไป และปัจจุบันไม่ได้ติดต่อกันอีก

จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อปี 2556 “กฤษอนงค์” ขณะนั้นเป็นหัวหน้าพรรคพลังเครือข่ายประชาชน (ปัจจุบันพรรคนี้เลิกไปแล้ว) ได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเมื่อ ก.พ. 2557 (ต่อมาการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ) โดย “พัช กฤษอนงค์” เป็นผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ส่วน “สามารถ” เป็นสมาชิกพรรค ถูกส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.กทม.เขตตลิ่งชัน

หลังจากนั้นปลายปี 2557 ทั้ง “กฤษอนงค์” และ “สามารถ” ได้ร่วมกันก่อตั้งองค์การต่อต้านแชร์ลูกโซ่ อย่างไรก็ดีทั้งคู่ทำงานร่วมกันมาได้ราว 2 ปี ได้แยกทางกัน โดยเมื่อปี 2559 “สามารถ” ไปก่อตั้งสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย หลังจากนั้นความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ดูเหมือนจะหมางเมินห่างเหินกันไป จนคล้ายเป็นศัตรูกลาย ๆ

ต่อมาในปี 2561 “กฤษอนงค์” ได้ก่อตั้งพรรคภาคีเครือข่ายไทย โดยอาศัยฐานเสียงเดิมจากพรรคพลังเครือข่ายประชาชน แต่ทว่าการทำพรรคก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงได้ออกมาก่อตั้งพรรคสุวรรณภูมิ พร้อมกับก่อตั้งสำนักงานกฎหมายเพื่อให้คำปรึกษาด้านธุรกิจการตลาด ถัดมาได้ก่อตั้งศูนย์ประสานงานส่งเสริมเครือข่าย-ออนไลน์ พร้อมกับเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจ “กฤษอนงค์ต้านโกง/กฤษอนงค์online/ศคอ.ศูนย์ประสานงานส่งเสริมเครือข่าย-ออนไลน์”

กระทั่งปี 2562 “สามารถ”  เข้าร่วมกับพรรคพปชร. ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับปล่อยข่าวตอบโต้ทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้าม

ปี 2564 ถูกขุดคุ้ยเกี่ยวกับประเด็นการส่งคนเข้าสอบที่ ม.รามคำแหง แทน จนถูกปชร. มีมติขับพ้นจากพรรค

อีก 2 ปี ต่อมา เขากลับเข้าพรรคพปชร.  โชว์บทบาทเป็น “องครักษ์” พิทักษ์ “ลุงป้อม” มาตลอดหลายปี กระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรองโฆษกพปชร. เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ “บ้านป่าฯ” หมดมนต์ขลัง

สำหรับธุรกิจของ “กฤษอนงค์” นำเสนอไปแล้วว่ามี 3 แห่ง โดยเคยทำ “ธุรกิจขายตรง” 1 แห่งคือ บริษัท เพาเวอร์ พลัส อินเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ทำธุรกิจ ขายตรงและธุรกิจตลาดแบบตรง ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง แต่ปัจจุบันถูกนายทะเบียนขีดชื่อว่า “ร้าง” ไปแล้ว

ส่วนอีก 2 แห่งคือ บริษัท จัดคิวดอทคอม จำกัด ประกอบกิจการให้บริการจัดคิวผู้มาใช้บริการเกี่ยวกับส่วนงานราชการ และบริษัท สุวรรณภูมิ 159 จำกัด ให้คำปรึกษาแนะนำด้านการตลาดและการจัดจำหน่าย

ขณะที่ “สามารถ” ปรากฏชื่อเป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 4 แห่ง ยังเปิดดำเนินกิจการอยู่ 1 แห่ง ได้แก่ บริษัท บี.เค.พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด ทำธุรกิจบริหารนิติบุคคลอาคารชุด เลิกกิจการ 1 แห่ง บริษัท เอ็ม.เจ. โพรดักชั่นส์ จำกัด วัตถุประสงค์ การผลิต รับจ้าง จำหน่ายวารสารหนังสือ

“ร้าง” 2 แห่ง คือ บริษัท ไทยสตาร์ทัวร์ 2012 จำกัด ประกอบกิจการด้านการท่องเที่ยว จัดทำทัวร์ทั้งในและต่างประเทศ จำหน่ายตั๋วเครื่องบินทั้งในและต่างประเทศ บริษัท กรีน เทคโนโลยี คอนสตรัคชั่น จำกัด วัตถุประสงค์ ค้าปลีก-ส่งวัสดุก่อสร้างทุกชนิด ให้เช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง ติดตั้งสาธารณูปโภคทุกประเภทที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้าง นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ เกี่ยวกับสินค้าวัสดุก่อสร้าง

ทั้งหมดคือโปรไฟล์เส้นทางการเมือง-ธุรกิจของ “กฤษอนงค์-สามารถ” อดีตมิตรสหายร่วมก่อตั้งองค์การต่อต้าน “แชร์ลูกโซ่” อดีตหัวหน้า-ลูกน้องในพรรคการเมือง ก่อนแยกทางกันเดิน คนหนึ่งเข้าหา “ลุงบ้านป่าฯ” มีบทบาทหน้าฉาก อีกคนยังอยู่บนเส้นทาง “นักเคลื่อนไหว-นักกฎหมาย” ก่อนมาบรรจบพบกันอีกครั้งหลังปมฉาว “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” ถูกเปิดโปง