เช็กเสียง 'โหวตคว่ำ' 6 ข้อสังเกตกมธ.นิรโทษ ชงรายงานครม. 2ขั้วเสียงแตก
เช็กมติสภา 270 ต่อ152เสียง 'โหวตคว่ำ' ข้อ สังเกตกมธ.นิรโทษ ชงแค่รายงานครม. 2ขั้วเสียงแตก เปิดสาระ6ข้อ ชนวนตีตก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังสภาผู้แทนราษฎร มีมติ 270 ต่อ152เสียง "ตีตก" ข้อสังเกตรายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมที่มี นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยในส่วนขอองรายงานกมธ.ยังถือว่าคงอยู่เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญระบุให้รับทราบเพียงเท่านั้น โดยหลังจากนี้จะส่งรายงานให้ครม.พิจารณา ต่อไป
เมื่อเช็กผลการลงมติพบว่า พรรคเพื่อไทย เสียงแตกไปในหลายแนวทาง ส่วนใหญ่ 115 เสียงลงมติ "ไม่เห็นด้วย" กับการส่งข้อสังเกตไปยังครม. ขณะที่ 11 เสียง "เห็นด้วย" อีก4เสียง "งดออกเสียง" และอีก12เสียงไม่ลงคะแนน
ในส่วนของพรรคเพื่อไทยถือว่าสวนมติที่ประชุมสส.ที่ให้โหวตรับ6ข้อสีงเกต
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่โหวต "ไม่เห็นด้วย" ทั้งภูมิใจไทย 65เสียงไม่เห็นด้วย อีก4เสียงไม่ลงคะแนน รวมไทยสร้างชาติ 27เสียงไม่เห็นด้วย อีก9เสียงไม่ลงคะแนน
พรรคประชาธิปัตย์ 13เสียง ไม่เห็นด้วย อีก12เสียงไม่ลงคะแนน 5เสียงไม่เห็นด้วย อีก5เสียงไม่ลงคะแนน พรรคประชาชาติ 6เสียงไม่เห็นด้วย ส่วน1เสียงงดออกเสียงคาดว่าน่าจะเป็นในส่วนของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งทำหน้าที่ประธานสภา อีก2เสียงไม่ลงคะแนน
พรรคกล้าธรรม 3เสียง ไม่เห็นด้วย พรรคชาติพัฒนา 3เสียง ไม่เห็นด้วย พรรคเพื่อไทยรวมพลัง 2เสียงไม่เห็นด้วย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน1เสียง ไม่เห็นด้วย พรรคประชาธิปไตยใหม่1เสียงไม่ลงคะแนน
ขณะที่พรรคเสรีรวมไทยที่ก่อนหน้านี้ประกาศถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล 1เสียง ไม่ลงคะแนน
ส่วนซีกฝ่ายค้าน พรรคประชาชน138 เสียงเห็นด้วย อีก5เสียงไม่ลงคะแนน พรรคพลังประชารัฐซึ่งแบ่งเป็น2ขั้วทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล 26เสียงไม่เห็นด้วย อีก14เสียงไม่ลงคะแนน พรรคไทยสร้างไทย3เสียงไม่เห็นด้วย อีก3เสียงไม่ลงคะแนน พรรคเป็นธรรมและพรรคไทยก้าวหน้า พรรคละ1เสียง ลงมติเห็นด้วยตามพรรคประชาชน
เปิด6ข้อสังเกตสภา 'ตีตก' ส่งครม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ6ข้อสังเกตที่สภาไม่เห็นด้วยนั้น ประกอบด้วย
1. สังคมไทยอยู่ในความขัดแย้งมานาน การนิรโทษกรรมจึงเป็นความความจำเป็นเร่งด่วนอันจะนำมาซึ่งความปรองดองสมานฉันท์และทำให้สังคมกลับคืนสู่สภาพปกติ คณะกรรมาธิการวิสามัญจึงมีข้อสังเกตว่า คณะรัฐมนตรีควรพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อนำไปเป็นแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมโดยเร็ว พร้อมทั้งออกนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม และแจ้งผลของการพิจารณาหรือการปฏิบัติตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญมายังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
จากนั้นให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแจ้งผลดังกล่าวไปยังคณะกรรมาธิการสามัญทั้งสามสิบห้าคณะเพื่อติดตามผลการปฏิบัติตามมติของสภาต่อไป
2. ข้อมูลสถิติคดีจากหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเป็นข้อมูลสถิติโดยรวมของคดีความผิดในปีนั้น ๆ ว่ามีการฟ้องร้องคดีในฐานความผิดใดบ้างไม่ได้แยกเป็นการเฉพาะว่าคดีใดเป็นคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง จึงทำให้ตัวเลขจำนวนคดีนั้นมีจำนวนมากไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ประกอบกับในหน่วยงานของรัฐแต่ละหน่วยงานมีการจัดเก็บสถิติคดีที่แตกต่างกัน บางหน่วยงานข้อมูลสถิติไม่ได้มีการจัดเก็บรวมในส่วนกลางจะเป็นข้อมูลที่อยู่ในแต่ละพื้นที่กระจายไปทั่วประเทศ บางหน่วยงานมีหน่วยงานภายในที่จัดเก็บข้อมูลหลายหน่วยงานแต่มีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน
นอกจากนี้ ข้อมูลที่จัดเก็บยังเป็นการจัดเก็บแบบรายคดี ทำให้ไม่สามารถทราบว่าคดีดังกล่าวมีจำนวนผู้ที่กระทำผิดเท่าใดและเป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ และการจะลงไปศึกษาเป็นรายคดีเพื่อให้ชัดเจนว่าคดีใดเป็นคดีที่เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองทำได้ยากเพราะสำนวนคดีมีจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสถิติดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะบางประการของกลุ่มชุมนุม ทำให้สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาได้ว่า คดีใดเป็นคดีที่เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง และข้อมูลที่ควรใช้เป็นหลักในการพิจารณา คือ ข้อมูลของสำนักงานศาลยุติธรรม เนื่องจากเป็นข้อมูลที่มีการรวบรวมสถิติไว้อย่างเป็นระบบ มีความชัดเจนพอสมควรและได้มีการฟ้องร้องเป็นคดีแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังสมควรต้องสืบค้นจำนวนผู้กระทำความผิดในแต่ละฐานความผิดมาประกอบการพิจารณาด้วย
3. ฐานความผิดนั้นมีความยึดโยงกับการนิรโทษกรรมอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ฐานความผิดนั้นสามารถเป็นกรอบในการพิจารณาว่า ฐานความผิดใดที่มีผลสืบเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งจะเป็นแนวทางในการพิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรม หรือการดำเนินการอื่นใด ในการนี้ จึงควรพิจารณาฐานความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นการนิรโทษกรรมโดยความละเอียดรอบคอบพร้อมทั้งคำนึงถึงจำนวนคดีที่กระทำผิด จำนวนผู้กระทำความผิดในแต่ละคดี และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามม
อนึ่ง ที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการปรองดอง การสมานฉันท์และการนิรโทษกรรม มาหลายคณะก่อนหน้านี้แล้ว แต่คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเหล่านั้นไม่ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองและเป็นเรื่องของความมั่นคงแห่งรัฐ ดังนั้น ประเด็นฐานความผิดเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 นั้น ยังคงเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวอยู่
4.ความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 (ฆ่าผู้อื่น) และมาตรา 289 (ฆ่าผู้อื่นโดยเหตุฉกรรจ์) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วเห็นว่าความผิดดังกล่าว ไม่ได้เป็นคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง แต่เป็นการกระทำความผิดที่มีความรุนแรง และควรให้ผู้กระทำความผิดรับผิดชอบต่อการกระทำความเสียหายกับบุคคลภายนอก ประกอบกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังได้ส่งความเห็นมายังคณะกรรมาธิการวิสามัญว่า ประเภทความผิดที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรมนั้นต้องไม่เป็นความผิดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดว่าไม่ควรให้มีการนิรโทษกรรม จึงมีความเห็นว่าจะไม่นิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว
ถึงแม้โดยหลักการเห็นว่า ไม่ควรนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 288 และมาตรา 289 อย่างไรก็ดี มีการแสดงข้อกังวลว่า การจะนิรโทษกรรมคดีใดไม่ควรพิจารณาจากข้อหาเพียงอย่างเดียวเพราะอาจมีคดีที่ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ปกติ หรือถูกกลั่นแกล้งว่ากระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว
กล่าวคือ ผู้ถูกดำเนินคดีไม่มีเจตนา ไม่ได้กระทำผิด หรือไม่มีผู้เสียชีวิตจริง ในกรณีนี้ควรให้มีการสืบพยานเพื่อให้ทราบว่าผู้ถูกดำเนินคดีเป็นผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ถ้าผู้ถูกดำเนินคดีไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดก็ควรให้สิทธิเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการนิรโทษกรรมเพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการอำนวยความยุติธรรม
5.สภาผู้แทนราษฎรควรมีข้อสังเกตไปยังคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารว่าในระหว่างที่ยังไม่มีการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะได้กำหนดนโยบายให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมดำเนินการตามกลไกของกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรม ดังต่อไปนี้
5.1 กรณีคดีอยู่ในชั้นสืบสวนสอบสวนเจ้าพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้เร่งรัดกระบวนการดังกล่าวเพื่อให้ได้ข้อสรุปสำนวน โดยพิจารณาจำแนกถึงมูลเหตุแห่งการกระทำความผิดว่า
(1) เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง หรือ
(2) เป็นความผิดอาญาโดยเนื้อแท้ หรือ
(3) เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองแต่มีฐานความผิดอื่นประกอบ
โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมสอบสวนคดีพิเศษอาจใช้อำนาจในการทำความเห็นต่อประเด็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเสนอต่อพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 – 147
5.2 กรณีที่คดีอยู่ในชั้นพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศหรือไม่ เพื่อเสนอต่ออัยการสูงสุดพิจารณาสั่งไม่ฟ้องตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 21 ที่บัญญัติว่า
“พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือ ต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ให้เสนอต่ออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด โดยความเห็นชอบของ ก.อ.ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับกับกรณีที่พนักงานอัยการไม่ยื่นคำร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกาด้วยโดยอนุโลม”
เฉพาะในกรณีความผิดที่เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองเท่านั้น ในกรณีที่มีฐานความผิดทางอาญาโดยเนื้อแท้ หรือเป็นความผิดที่เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง แต่มีฐานความผิดอื่นประกอบ อาทิ การทำร้ายผู้อื่น จนถึงแก่ความตาย ก่อการร้าย ยาเสพติดให้โทษ ลักทรัพย์ หรือการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ดำเนินการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมโดยปกติ โดยคำนึงถึงเกณฑ์การประกันตัว ปล่อยตัวชั่วคราว และการจัดหาทนายให้แก่ผู้ต้องหา
5.3 ในกรณีที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ศาลอาจใช้ดุลพินิจในการเลื่อนคดีหรือจำหน่ายคดีชั่วคราว เมื่อคู่ความยื่นคำร้องว่า ฐานความผิดที่จำเลยถูกดำเนินคดีเข้าข่ายคดีที่อาจได้รับการนิรโทษกรรมตามรายงานฉบับนี้ และศาลอาจใช้ดุลพินิจพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างนี้
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญมีข้อเสนอเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมโดยอาศัยกลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันในช่วงเริ่มต้นอาจนำไปใช้กับฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองที่มีสถิติคดีจำนวนมากและเป็นคดีที่ไม่เป็นประโยชน์กับสาธารณะ ดังนี้
1) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2563 – 2567 ที่มีคดีเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวประมาณ 73,009 คดี ซึ่งเหตุที่มีคดีเป็นจำนวนมากเพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโรคติดต่อซึ่งเกิดจากไวรัสโคโรนา (COVID-19)
2) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนที่เป็นความผิดลหุโทษที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10 ,000 บาท อาทิ กระทำด้วยประการใด ๆ บนทางอันเป็นการกีดขวางของจราจร หยุดรถหรือจอดรถในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรในทางเดินรถ
3) คดีที่มีฐานความผิดตามบัญชีท้ายร่างพระราชบัญญัติที่เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ที่มีลักษณะเป็น การกระทำเดียว กรรมเดียว อาทิ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
6.หลักการของกฎหมายนิรโทษกรรมคือ การลืม การลืมความผิด การลืมความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เพื่อให้แต่ละฝ่ายกลับมาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขและประเทศชาติสามารถพัฒนาต่อไปได้ จึงเป็นการลบล้างความผิดและความรับผิดของผู้กระทำความผิดให้ไม่ต้องมีความผิดหรือรับโทษต่อไป
ที่ผ่านมากฎหมายนิรโทษกรรมจะกำหนดให้การนิรโทษกรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิ แก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ อาทิ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520 และพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524
อย่างไรก็ตาม มีกฎหมายนิรโทษกรรมที่กำหนดให้ผู้ได้รับนิรโทษกรรมได้รับสิทธิที่ต้องสูญเสียไปโดยผลของคำพิพากษากลับคืนมาด้วย อาทิ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2502 ที่มีการบัญญัติให้คืนสิทธิได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ยศ หรือบรรดาศักดิ์ หรือสิทธิได้รับเบี้ยหวัดบำเหน็จหรือบำนาญตามเดิม ดังนั้น การกำหนดให้ผู้ได้รับนิรโทษกรรมได้รับสิทธิที่ต้องสูญเสียไปโดยผลของคำพิพากษากลับคืนมาสามารถกระทำได้ โดยต้องกำหนดไว้ในกฎหมายอย่างชัดแจ้งว่าจะคืนสิทธิใดบ้าง และเมื่อการนิรโทษกรรมที่จะเกิดขึ้นนี้ มุ่งหมายในการคลี่คลายประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้น จึงควรคืนสิทธิทางการเมืองให้กับผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรม