เกมซ่อนกล‘นิรโทษ-แก้รธน.’ จับตาธ.ค.ยิ่งยืดเยื้อ‘ต่อรอง’ยิ่งแยะ
เกมซ่อนกล‘นิรโทษ-แก้รธน.’ การเมืองยืดเยื้อ ‘แรงต่อรอง’ยิ่งแยะ จับตาธ.ค.วัดพลังรอบใหม่ เพื่อไทย ฝ่า2วงล้อม‘พรรคร่วมรัฐบาล-ฝ่ายค้าน’
KEY
POINTS
- สารพัดวาระร้อนที่คั่งค้างอยู่ในสภาฯ ท่ามกลางเกมการเมืองที่ยืดเยื้อออกไปราว6สัปดาห์ แรงต่อรองก็ยิ่งแยะตามไปด้วย
- "4ร่างพ.ร.บ.นิรโทษฯ" ธ.ค.วัดพลังรอบใหม่
- แก้รธน.-ประชามติ ยิ่งยืดเยื้อ“แรงต่อรอง” ยิ่งแยะ
วันที่ 30 ต.ค. จะเป็นวันสุดท้ายของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในสมัยประชุมสามัญปีที่2 ครั้งที่1 และจะเปิดสมัยประชุมอีกครั้งในวันที่12 ธ.ค.นี้
ต้องจับตาสารพัดวาระร้อนที่คั่งค้างอยู่ในสภาฯ ท่ามกลางเกมการเมืองที่ยืดเยื้อออกไปราว6สัปดาห์ แรงต่อรองก็ยิ่งแยะตามไปด้วย
ทั้งประเด็น “นิรโทษกรรม” ซึ่งที่ประชุมสภาฯเมื่อวันที่24ต.ค.ที่ผ่านมา มีมติ 270ต่อ 152 เสียง ไม่เห็นด้วยกับ “6ข้อสังเกต” ในรายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)นิรโทษกรรมที่มี ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ย่อมเป็นการตอกย้ำถึงเหลี่ยมการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างเปิดใส่กันแบบไม่ยั้ง โดยเฉพาะประเด็นการ “เหมาเข่ง” ไปถึงคดีความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา110 และมาตรา 112 ที่ทำให้เพื่อไทยตกอยู่ใน2วงล้อม
วงล้อมแรก คือพรรคร่วมรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่พลังประชารัฐ ที่แยกออกเป็น2ขั้ว ที่เล่นบทชิงพื้นที่“ฝ่ายอนุรักษนิยม” ประสานเสียงไม่เอาด้วยกับการพ่วงความผิดในคดี ม.110 และ ม.112
จนสมาชิกพรรคเพื่อไทย อาทิ “จาตุรนต์ ฉายแสง” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต้องออกโรงแถมค่อนแคะไปยังบางพรรคการเมือง “ไม่ใช่อ้างว่าวาระนี้เป็นวาระหรือโอกาสที่พรรคการเมืองจะมาแข่งกันแสดงความจงรักภักดี”
ไม่ต่างจาก วงล้อมที่2 พรรคประชาชน ในฐานะแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ทวงถามจุดยืนพรรคเพื่อไทยต่อประเด็นดังกล่าว หยิบยกคำพูดของแกนนำ หรือสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางคนที่เคยพูดไว้ว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนจำเป็นต้องจับมือกัน
พรรคเพื่อไทยเวลานี้แม้สัญญาณล่าสุดจะใส่เกียร์ถอย พร้อมประสานเสียงทำนองเดียวกัน ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมในคดีตามมาตรา112 หวังรักษาดุลอำนาจพรรคร่วมรัฐบาลไม่ให้เสียจังหวะ
ทว่าลึกๆแล้ว ยังมีสส.บางคนที่มีความแอบอิงกับกลุ่มมวลชน และนักเคลื่อนไหวการเมือง ยังคงค้างคาใจในประเด็นดังกล่าวภายใต้ด้วยข้อกังวลที่ว่าอาจต้องสูญเสียมวลชนไปให้กับทางพรรคส้มหรือไม่
สะท้อนชัดจากผลลงมติที่เห็นได้ชัดว่าแตกออกเป็น3แนวทางทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง
เป็นเช่นนี้ต้องจับตาระยะเวลาที่ยืดเยื้อออกไปอีก6สัปดาห์กว่าจะเปิดสภาฯในสมัยประชุมหน้า พรรคเพื่อไทยจะมีเทคนิคการเมืองอะไรที่จะปล่อยออกมาหลังจากนี้หรือไม่
"4ร่างพ.ร.บ.นิรโทษฯ" ธ.ค.วัดพลังรอบใหม่
ล่าสุดมีสัญญาณมาจาก "นายกฯอิ๊งค์" แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พูดถึงการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมในส่วนของพรรคเพื่อไทยว่า ต้องพูดคุยกันก่อน ในส่วนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ขอให้ความมั่นใจว่า เมื่อเปิดประชุมสภาสมัยหน้าในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ จะมีข้อสรุปในเรื่องนี้
จนถึงนาทีนี้สภาฯมีร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม4ร่างที่รอการพิจารณา ประกอบด้วย
1.ฉบับของพรรครวมไทยสร้างชาติที่ชื่อว่า“ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข”มี วิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร คนสนิทของ“ชุมพล จุลใส”หรือ ลูกหมี แกนนำ กปปส. ซึ่งมีเป้าประสงค์ล้างผิดให้กับ“แกนนำ กปปส.”
2.ฉบับของกลุ่มพรรคเล็ก 1 เสียงประกอบด้วย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคใหม่ พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคท้องที่ไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ ชื่อว่า“ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข”
ร่างฉบับนี้ พบว่า มี สส.ของพรรคประชาธิปัตย์ เช่นบัญญัติ บรรทัดฐานรวมถึง สส.พรรคประชาชาติ เช่นซูการ์โน มะทาเลขาธิการพรรคร่วมด้วย
3.ฉบับของพรรคก้าวไกล(เสนอต่อสภาฯ ก่อนพรรคถูกยุบ) มี “ชัยธวัช ตุลาธน” เป็นผู้นำยื่น ชื่อว่าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง
และ4.ฉบับของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 36,723 คน นำโดย“พูนสุข พูนสุขเจริญ”ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ฐานะเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ที่ชื่อว่า“ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน”
ล่าสุดมีสัญญาณจากพรรคเพื่อไทย "ชูศักดิ์ ศิรินิล" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) พูดถึงแนวโน้มการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในนามพรรคเพื่อไทย ที่ประชุมพรรค สส.ส่วนใหญ่มีแนวโว่าอยากให้มีการเสนอ โดยไม่รวมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112
แก้รธน.ยิ่งยืดเยื้อ“แรงต่อรอง” ยิ่งแยะ
อีกหนึ่งวาระร้อนที่จ่อคิวสภาฯ ในสมัยประชุมหน้าหนีไม่พ้นการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ณ เวลานี้มีร่างที่บรรจุในสภาแล้ว4ฉบับเป็นร่างของพรรคประชาชน และยังมีที่เตรียมยื่นอีกหลายฉบับ
อย่างที่รู้กันเมื่อเกมแก้รัฐธรรมนูญ ถูกทำให้“สะดุด” ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรายมาตรา ระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาชน” ในประเด็นการรื้อหมวดจริยธรรม ที่ถูกดับฝันลงในสมัยประชุมที่แล้ว ท่ามกลางการเมืองลี้ลับที่จ้องล้างกระดาน
กระทั่งมาถึงการแก้เกมด้วยการยืมมือส.ส.ร. ชิงจังหวะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเว้นหมวด1และหมวด2 รวมถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูกทั้งหมด
ถึงเวลาจริงกลับเจอเกมหักจาก “สภาสูง” ที่ถูกสีน้ำเงินปกคลุม เดินเกมหักมติสภาผู้แทนฯ ด้วยการปรับเกณฑ์ประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จาก“เสียงข้างมากชั้นเดียว” ตามที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้านี้ กลับไปเป็น เป็น“เสียงข้างมาก 2 ชั้น”หรือ“Double Majority”
เสมือน“ปิดประตูตอกฝาโลง” ให้การแก้รัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นได้ยาก จนกระทั่งสภาผู้แทนฯต้องโหวตยืนยันมติเดิม และให้มีการตั้งกมธ.ร่วมเพื่อศึกษาในประเด็นดังกล่าว
ไม่ต่างจากภาพของความไม่ลงรอยระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” ที่หนุนประชามติชั้นเดียว และ “พรรคภูมิใจไทย” ซึ่งถูกมองว่ากลับลำ360องศา จากที่เคยโหวตรับหลักการประชามติชั้นเดียวในตั้งแต่ “วาระแรก” จนถึง “วาระสาม”
เช็กเสียงในกมธ.ร่วม 28คนซึ่งมีการประชุมนัดแรกในวันที่30.ต.ค. ดูแล้ว ฝั่งเพื่อไทยและพรรคการเมือง ที่สนับสนุนประชามติชั้นเดียว มี 12เสียง ขณะที่ภูมิใจไทย และสว. ซึ่งสนับสนุนประชามติ2ชั้นมี16 เสียง
เป็นเช่นนี้ย่อมต้องจับตาท่ามกลางอำนาจต่อรองที่ต่างฝ่ายต่างมีในมือ หาก“เพื่อไทย”และ“ภูมิใจไทย”ที่อาจหมายรวมไปถึง “สว.สีน้ำเงิน” เคลียร์จบลงตัว โอกาสกลับไปยึดร่างเดิมที่ผ่านมาสภา คือให้มี “ประชามติชขั้นเดียว” ก็ย่อมมีสูง แต่หากเคลียร์ไม่ลงตัวโอกาเกิดเกมหักซ้อนหักอีกรอบก็มีเช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้นประเด็นเหล่านี้ต้องลุ้นกันต่อในการประชุมสภาสมัยประชุมหน้า ซึ่งจะเปิดสมัยประชุมในวันที่12ธ.ค.หรืออีกราว6สัปดาห์ข้างหน้าน่าจะได้เห็นเกมวัดพลังกันอีกรอบ
ระหว่างนี้จึงต้องลุ้นท่ามกลางสัญญาณการเมืองที่“ยืดเยื้อ” ออกไปนั่นอาจหมายถึง “แรงต่อรอง” ที่ “ยิ่งแยะ” ตามไปด้วย!