'เอ็มโอยู 44' ทำเพื่อชาติ? วัดใจ 'รัฐบาลแพทองธาร'

'เอ็มโอยู 44' ทำเพื่อชาติ?  วัดใจ 'รัฐบาลแพทองธาร'

การแบ่งผลประโยชน์ทับซ้อนไทย-กัมพูชา จะสำเร็จ หาก "รัฐบาลแพทองธาร" คลายข้อสงสัยเรื่องเขตแดนและความสัมพันธ์ครอบครัวผู้นำสองประเทศ ต้องไม่ถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน เหนือผลประโยชน์ประเทศ

KEY

POINTS

  • ภูมิธรรม  รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เตรียมปรับเปลี่ยนองค์ประกอบคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทยใหม่ พร้อมนั่งเป็นประธาน ก่อนจะเรียกประชุมนัดแรก
  • รมว.ต่างประเทศ สั่งการ กระทรวงต่างประเทศ รวบรวมจัดทำข้อเท็จจริงการแบ่งผลประโยชน์ทับซ้อนไทย-กัมพูชา หวังลดแรงกดดันทางการเมือง

รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร กำลังเผชิญหน้ากับแรงกดดัน ต่อการเจรจาแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา โดยใช้ MOU 2544 ที่ทำไว้ยุครัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร" มาเป็นเครื่องมือ ท่ามกลางเสียงคัดค้านทั้งฝ่ายการเมือง นักวิชาการ อดีตทหาร ร่วมถึงโจทก์เก่าและโจทก์ใหม่

ซึ่งพอจะสรุปประเด็นท้วงติงได้ว่า MOU 2544 จะทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบ เพราะเป็นการรองรับการลากเส้นทางทะเลฝ่ายกัมพูชาที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศและอาจนำไปสู้การเสียดินแดนในอนาคต โดยเฉพาะเกาะกูด จ.ตราด 

ภายหลังคำพิพากษาศาลโลก เมื่อปี 2566 ทำให้กัมพูชาได้เขาพระวิหาร และปราสาท ไปครอบครอง แม้เขตแดนทางบกถูกลากมาสิ้นสุดที่หลักเขตที่ 73 แต่กลายเป็นจุดเริ่มต้นข้อพิพาทเขตแดนทางทะเล เมื่อกัมพูชาใช้ลากลงมาผ่านเกาะกูด เพื่ออ้างสิทธิในทะเล ขณะที่ไทยอ้างถึงการใช้หลักกฎหมายทางทะเลระหว่างประเทศ ลากอ้อมเกาะกูด

ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ระหว่างไทยกับกัมพูชา อยู่ด้านเหนือเส้นละติดจูด 141 องศาเหนือ แต่ใต้เส้นนี้ลงมายังมีประเด็น เพราะคาดว่าเป็นแหล่งก๊าซ น้ำมัน จำนวนมหาศาล ที่ทั้ง 2 ประเทศ ต้องบริหารร่วมกัน
ถือเป็น 2 เรื่องใหญ่ที่ถูกผูกเอาไว้ใน MOU 44

แม้ฝ่ายการเมืองและฝ่ายความมั่นคงไทย ให้ความเห็นตรงกันว่า กัมพูชาอ้างสิทธิ์พื้นที่ทางทะเล แต่ไม่ได้อ้างสิทธ์พื้นที่ทางบก แต่ยอมรับว่าในยุคนายพลลอนนอล เกาะกูด เคยถูกเคลมว่าเป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชา

แหล่งข่าวกองทัพเรือ ระบุว่า สมัย ร.5 เคยมีประเด็นพิพาทพื้นที่ จันทรบุรี-ตราด แต่ ร.5 ยกที่ดินให้เป็นของเอกชน ให้ชาวบ้านไปครอบครอง ให้มีเอกสารสิทธิ์ นส.3 ซึ่งเป็นกุสโลบาย เพราะเมื่อเข้ากฎหมายระหว่างประเทศ หากเป็นพื้นที่เอกชน ไม่เกี่ยวกับรัฐ ประเทศอื่นจะมาเอาพื้นที่ตรงนี้ไม่ได้ 

"เกาะกูดก็เช่นเดียวกัน ปัจจุบัน ประชาชนเข้าไปครอบครองพื้นที่ทั้งหมด นับเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ประเทศใดจะอ้างสิทธิ์มายึดครอง หรือยกให้ประเทศใดมิได้ ประเด็นนี้อาจคลายข้อกังวลใจให้ประชาชนได้บ้าง"

ทว่า สายสัมพันธ์แนบแน่นระหว่าง "ชินวัตร -ฮุนเซน" ลงลึกไปถึงระดับครัวเรือน และคนในสองตระกูล ก็เป็นผู้นำฝ่ายไทยและกัมพูชา ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนแอบแฝงอยู่หรือไม่ กลายเป็นอีกประเด็นที่ถูกจับจ้อง

หากย้อนดูข้อเสนอแนะ "กระทรวงกลาโหม"ส่งถึง "รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน" เมื่อปีที่แล้ว ภายหลัง นายกฯ สองประเทศเห็นพ้องพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนไทย-กัมพูชาร่วมกันใน 3 ประเด็น การค้าชายแดน เปิดปราสาทพระวิหาร และการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

ชัดเจนว่า "กลาโหม" ไม่คัดค้านและเห็นด้วยหากจะเดินหน้าแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อน โดยใช้ mou 2544 เป็นกลไกขับเคลื่อน เพราะเห็นตรงกับรัฐบาลว่า ปัจจุบันไทยเหลือแหล่งก๊าซธรรมชาติจำกัด และลดน้อยอย่างมีนัยสำคัญ

อีกทั้ง ปัจจุบัน ไทย-กัมพูชา มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในทุกระดับชั้น ตั้งแต่นายกฯ รัฐบาล รมว.กลาโหม ผบ.เหล่าทัพ กองทัพ ทหารตามแนวชายแดน รวมถึงประชาชนของสองประเทศ ถือเป็นโอกาสและจังหวะเหมาะสมที่จะพูดคุย

แต่กระนั้น “กลาโหม”ได้ย้ำถึงจุดยืนการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนควรดำเนินการภายใต้กรอบ mou 2544 ให้ทำการแบ่งเขตสำหรับทะเล อาณาเขตไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะและพื้นที่จะเป็นเขตพัฒนาร่วม ไปพร้อมกัน พร้อมย้ำว่า "สองเรื่องนี้จะแยกจากกันมิได้เป็นอันขาด"

สะท้อนถึงความกังวลของ "กลาโหม" ว่ารัฐบาลจะเจรจาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเลตาม MoU 2544 โดยอาจไม่ต้องหาข้อสรุปเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเล

จบยุครัฐบาลเศรษฐา เข้าสู่ รัฐบาลแพทองธาร ได้เห็นการขยับเขยื้อนประเด็นนี้อีกครั้ง ผ่าน "ภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เตรียมปรับเปลี่ยนองค์ประกอบคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทยใหม่ พร้อมนั่งเป็นประธาน ก่อนจะเรียกประชุมนัดแรกในเร็วๆนี้

แต่ความคืบหน้านี้อาจมีการหารือกันในวงแคบๆของคนเพื่อไทย เพราะ "ภูมิธรรม" ยังไม่ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาหารือในวงของกระทรวงกลาโหมและกองทัพ โดยหน่วยงานเหล่านี้รับรู้กันผ่านสื่อเท่านั้น

ขณะที่ "มาริษ​ เสงี่ยม​พงษ์" รมว.ต่างประเทศ สั่งการ กระทรวงต่างประเทศ รวบรวมจัดทำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ mou 2544 กฎหมายทางทะเล การแบ่งผลประโยชน์ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพื่อเคลียร์ข้อสงสัยประชาชนทุกประเด็น ไม่ให้เกิดความสับสนหวังลดแรงกดดันทางการเมือง

การแบ่งผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา จะราบรื่นประสบความสำเร็จได้หาก "รัฐบาลแพทองธาร" ตอบข้อสงสัยของประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย โดยเฉพาะประเด็นเขตแดน เรื่องละเอียดอ่อนสำหรับคนไทย ต้องไม่นำไปสู่การเสียดินแดนอีกรอบ

นอกจากนี้ต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำที่ชัดเจนและโปร่งใส ว่า ความสนิทสนมระดับครอบครัวของผู้นำสองประเทศ  ต้องไม่ถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน เหนือกว่าผลประโยชน์ของประเทศ สร้างความเชื่อใจต่อคนไทย

มิเช่นนั่น การแบ่งผลประโยชน์ทับซ้อน จะเป็นเรื่องยากที่จะเดินหน้าต่อ ภายใต้สถานการณ์การเมืองไม่นิ่ง คะแนนนิยมตัวนายกฯ ไม่ได้กระเตื้องขึ้น ในขณะที่การตัดสินใจแก้ไขปัญหาหลายเรื่อง เป็นการสร้างวิกฤติซ้อนวิกฤติ เขย่าเสถียรภาพรัฐบาลเสียเอง