การเมือง ‘เกาะกูด’ จุดไต้ตำตอ ศึก ‘พท.-พปชร.’ ถล่ม ‘ชาตินิยม-แบ่งผลประโยชน์’
การเมือง ‘เกาะกูด’ จุดไต้ตำตอ ศึก ‘เพื่อไทย-พลังประชารัฐ’ ถล่ม ‘ชาตินิยม-แบ่งผลประโยชน์’ ปชป.เปิดเบื้องหลังแก้เผ็ด ‘ทักษิณ-ฮุนเซ็น’ ยัน MOU44 ไม่มีปัญหา
KEY
POINTS
- ฝั่ง “บ้านป่ารอยต่อ” จุดไฟ “ชาตินิยม” ผูกโยง “MOU 2544” ที่ “รัฐบาลทักษิณ” กับ “รัฐบาลฮุน เซน” เมื่อ 23 ปีก่อน เป็นต้นเหตุให้ประเทศไทยเสียอธิปไตยทางทะเล
-
“ค่ายบ้านจันทร์ฯ” เห็นชัดถึงเกมเอาคืนขุดไปถึงสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการฟื้นการเจรจารอบใหม่ แถมตั้ง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐในเวลานี้ ไปเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยที่ไปเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา
-
เบื้องหลังเสนอยกเลิก MOU 44 เกมการเมือง รัฐบาลประชาธิปัตย์แก้เผ็ด "ทักษิณ" - สั่งสอน" สมเด็จ ฮุน เซน"
-
"ตัวเนื้อหาใน MOUไม่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นฉบับ 44ในรัฐบาลทักษิณ หรือฉบับ 43ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เนื้อหาก็คล้ายๆ กัน ในแง่ที่ว่าเป็นการบ่งบอกซึ่งกัน และกันระหว่างไทย-กัมพูชา ไม่ได้แปลว่าเรายอมรับเส้นแบ่งเขตแดนที่เขาขีดมาให้" “กษิต ภิรมย์” อดีต รมว.ต่างประเทศ ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
-
ความสัมพันธ์ของผู้นำ 2 ประเทศ ทั้งหน้าฉาก-หลังฉาก ย่อมถูกจับตาประเด็นการแบ่งเค้ก ผลประโยชน์มหาศาลให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ประเทศมหาอำนาจ พร้อมถูกตั้งคำถามว่า มีความพยายามรีบเร่งไปสู่การเปิดประตูเจรจารอบใหม่หรือไม่อย่างไร! "พรรคร่วมรัฐบาล" บางพรรคว่ากันว่า ตั้งข้อกังขาประเด็นนี้!
การเมืองเรื่อง “เกาะกูด” ที่ถูกโหมกระพือในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ทั้งประเด็นการเจรจาแบ่งผลประโยชน์แหล่งพลังงานพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล 26,000 ตร.กม. ไทย-กัมพูชา เพื่อนำขึ้นมาใช้ทดแทนแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่กำลังเป็นประเด็นไฟลามทุ่งถล่มอย่างหนักไปที่รัฐบาล
ฝั่ง “บ้านป่ารอยต่อ” จุดไฟ “ชาตินิยม” ผูกโยง “MOU2544” ที่ “รัฐบาลทักษิณ” กับ “รัฐบาลฮุน เซน” เมื่อ 23 ปีก่อน เป็นต้นเหตุให้ประเทศไทยเสียอธิปไตยทางทะเล อ้างถึงการลากเส้นผ่ากลางเกาะกูดซึ่งเป็นดินแดนของไทย อาจเป็นการยอมรับให้พื้นที่ดังกล่าวตกเป็นของกัมพูชา
“สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” ประธานศูนย์นโยบาย และวิชาการพรรคพลังประชารัฐ ยกกรณีที่ "ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์" คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เปิดเผยข้อมูลใหม่ว่า มติคณะรัฐมนตรีรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เห็นชอบในหลักการ “ให้ยกเลิก MOU2544” หรือยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับการอ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย ปี พ.ศ.2544 (MOU2544) ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย.2552 ซึ่งยังคงมีผลผูกพันทางกฎหมายจนถึงปัจจุบัน
ขยี้ไปถึง “พรรคร่วมรัฐบาล” ในเวลานั้นประกอบไปด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมชาติพัฒนา พรรคกิจสังคม และพรรคมาตุภูมิ ที่เห็นชอบในหลักการให้ยกเลิก MOU2544 โดยเฉพาะ 3 พรรคแรกที่เวลานี้อยู่ในสถานะพรรคร่วมรัฐบาล
คล้อยหลังไม่กี่ชั่วโมง “นายกฯอุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลแถลงเคลียร์ชัด
เอ็มโอยู 44 ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเกาะกูด และเกาะกูดไม่ได้อยู่ในเอ็มโออยู่ และรัฐบาลในอดีตไม่เคยยกเลิกเอ็มโอยูดังกล่าว แต่อย่างใด
“การไม่ยกเลิกเอ็มโอยูไม่ได้ยอมรับการขีดเส้นของกัมพูชาเพราะเกาะกูดเป็นของไทย”
แน่นอนว่า เกมไล่ทุบความเป็นชาตินิยมของ “ค่ายบ้านป่าฯ ” ย่อมล่วงรู้ไปถึง “ค่ายบ้านจันทร์ฯ” เห็นชัดถึงเกมเอาคืนแบบทันควันไล่ขุดไปถึงสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เวลานั้นมีการฟื้นการเจรจารอบใหม่ แถมตั้ง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในเวลานั้น และเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐในเวลานี้ ไปเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยที่ไปเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาเสียด้วยซ้ำ
เป็นเช่นนี้ไม่แปลกหากฝั่งพรรคเพื่อไทยจะแก้เกมเอาคืนด้วยการ ขยี้ไปที่การเจรจาในครั้งนั้น ท่ามกลางคำถาม ถ้าMOU2544 เป็นเหตุให้ไทยเสียดินแดน เหตุใดกรอบเจรจาที่ พล.อ.ประวิตร เป็นตัวแทนรัฐบาลไทย วันที่ 1 ต.ค.2564 จึงกำหนดให้ดำเนินการตาม “MOU2544” ทั้งในเรื่องการแบ่งเขตแดนทางทะเล และการร่วมพัฒนาแหล่งพลังงานไปพร้อมกัน
แถมล่าสุดยังมีคำยืนยันจาก “กษิต ภิรมย์” อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนยันว่า การคงอยู่ MOU2544 ยังมีความจำเป็น
ส่วนสาเหตุที่เสนอยกเลิกในอดีตปัญหาไม่ได้เกิดจากเนื้อหาในเอ็มโอยู แต่เบื้องลึกเบื้องหลังเกิดจาก การที่สมเด็จ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชาในขณะนั้น ได้ตั้ง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ของไทย เป็นที่ปรึกษากัมพูชาซึ่งเป็นการดำเนินการในลักษณะแทรกแซงการเมืองของประเทศไทยเนื่องจาก “ทักษิณ” อยู่ฝ่ายการเมืองหนึ่ง ตนและพรรคประชาธิปัตย์อยู่ฝ่ายการเมืองหนึ่ง
"เราจึงต้องแก้เผ็ดทักษิณ และสั่งสอนสมเด็นฮุน เซนด้วยการเสนอยกเลิก MOU44 ออกมาเจตนาเพื่อจะบ่งบอกความไม่พอใจของรัฐบาลไทย และประเทศไทยต่อพฤติกรรมดังกล่าว" อดีต รมว.ต่างประเทศย้ำเหตุผล
กษิต ยังกล่าวว่า การดำเนินการของ “ทักษิณ” ในครั้งนั้นถูกมองว่าอาจกลายเป็นเครื่องมือในการเข้ามาแทรกแซงกิจการของไทย จึงเป็นที่มาของมติ ครม.ดังกล่าวก่อนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้ฝ่ายกัมพูชาได้รับทราบต่อไป
ทว่าหลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินการนั้น ภายหลังรัฐบาลได้มีการยุบสภาทำให้มติ ครม.ดังกล่าวยังค้างคาอยู่ไม่ได้มีการเสนอต่อรัฐสภา หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไปสู่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทั่งรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน
ทั้งนี้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ได้ดำเนินการต่อตาม MOU44 ด้วยการแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้าคณะเจรจาข้อพิพาททางทะเล หมายความว่ามติของพรรคประชาธิปัตย์ได้สิ้นสุดไปตั้งแต่จบรัฐบาลแล้ว
"แต่MOU44 ยังมีชีวิตอยู่ และได้รับการต่ออายุโดยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์"
สอดคล้องกับที่นายกฯ แพทองธาร เปิดเผยว่าอยู่ระหว่างแต่งตั้ง คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee:JTC)ไทย-กัมพูชา หรือคณะกรรการJTC ในเร็วๆ นี้
อดีต รมว.ต่างประเทศฯ ย้ำอีกว่า ตัวเนื้อหาใน MOUไม่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นฉบับ 44ในรัฐบาลทักษิณ หรือฉบับ 43ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เนื้อหาก็คล้ายๆ กัน ในแง่ที่ว่าเป็นการบ่งบอกซึ่งกัน และกันระหว่างไทย-กัมพูชา ไม่ได้แปลว่าเรายอมรับเส้นแบ่งเขตแดนที่เขาขีดมาให้ การเจรจายังไม่เคยเกิดขึ้นเขาจะลากกี่ร้อยเส้นไม่ใช่ประเด็น
การคงอยู่ MOU 44 ไม่ได้มีปัญหา การเสนอยกเลิกของรัฐบาลในอดีตไม่ได้เอาเนื้อในมาเป็นข้อพิจารณาแต่เราดูพฤติกรรมการไม่น่ารักของสมเด็จฮุน เซน จึงมีวิธีตอบโต้กังกล่าวออกมา และเป็นการตอบโต้อย่างสันติวิธี มีการดำเนินการอย่างเปิดเผย
การเมืองเรื่อง “เกาะกูด” ถูกโหมกระพือในเวลานี้ ทำไปทำมาจากการจุดกระแสชาตินิยมจากฝั่ง “บ้านป่าฯ” หวังไล่ทุบ “บ้านจันทร์ฯ” ทำไปทำมากลับกลายเป็นประเด็น “จุดไต้ตำตอ” กระแสตีกลับไปยังประมุขค่ายบ้านป่าฯ แบบเต็มๆ
ต้องจับตาการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา หากยังจำกันได้ในช่วงต้นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มี "เศรษฐา ทวีสิน" เป็นนายกฯ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาที่จะเร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่ม รวมถึงสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่เพื่อสร้างความมั่นคงพลังงาน
จากนั้น "เศรษฐา" ได้เดินทางเยือนกัมพูชาในวันที่ 28 ก.ย.2566 เพื่อแนะนำตัวในโอกาสรับตำแหน่งใหม่รวมทั้งการกระชับสัมพันธ์ และความร่วมมือท่ามกลางการจับตาไปที่การเจรจาพื้นที่ทับซ้อน
ไม่ต่างจากการเดินทางเยือนไทยของ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2567 เพื่อหารือกับ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ภายใต้สัญญาณจากผู้นำ 2 ประเทศ
แน่นอนว่าในยามเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจาก "รัฐบาลเศรษฐา" มาสู่ "รัฐบาลแพทองธาร" ความสัมพันธ์ของผู้นำ 2 ประเทศ ทั้งหน้าฉาก-หลังฉาก ย่อมถูกจับตา
โดยเฉพาะประเด็นการแบ่งเค้ก ผลประโยชน์มหาศาลที่มีความเกี่ยวโยงกับบริษัทยักษ์ใหญ่ประเทศมหาอำนาจ ที่ถูกตั้งคำถามว่า มีความพยายามรีบเร่งไปสู่การเปิดประตูเจรจารอบใหม่หรือไม่อย่างไร
ไม่ต่างจาก "พรรคร่วมรัฐบาล" บางพรรค ว่ากันว่า ก็ตั้งข้อกังขาประเด็นนี้เช่นเดียวกัน!
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์