‘ปลุกผี 99 ศพ’ ดันแก้ กม. ’เสื้อแดง‘ทวง พท.ฟื้นยุติธรรม
การทวงความยุติธรรมผ่าน "กฎหมายล้างผิด" ต้องจับตาท่าที "พท." ว่าจะเดินอย่างไร ท่ามกลางวาระซ้อน คือ การฟื้นความยุติธรรมให้ "วีรชน99ศพ" ผ่านร่างแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. ที่ "สส.แดง" พยายามทำ
KEY
POINTS
Key Point :
- ท่ามกลางกระแส "นิรโทษกรรม" ที่โฟกัสไปยัง การล้างผิดมาตรา112 ยังมีมุม "ตามหาความยุติธรรม" ซ่อนอยู่
- คือการเสนอร่างกฎหมาย ที่แก้ไข พ.ร.ป.ป.ป.ช. โดย สส.เสื้อแดง เพื่อหวังทวงความยุติธรรมให้ "วีรชนเสื้อแดง" ที่สูญเสีย
- ในเหตุการณ์สลายชุมนุม พ.ค.53 ที่ความพยายามเอาผิดคนสั่งการ "ฆ่า" ยังไม่เป็นผล
- ก่อแก้ว พิกุลทอง พร้อมสส.เสื้อแดง และพันธมิตรต่างพรรค จับมือ เสนอกฎหมายนี้ หวังให้ สิทธิ "ญาติ99ศพ" ยื่นเอาผิด "สุเทพ-อภิสิทธิ์" ให้ทันก่อนหมดอายุความ
- กลายเป็นกระแสวัดใจ "พรรคเพื่อไทย" ที่ปัจจุบันใช้ "ฝ่ายอนุรักษ์นิยม" เป็นเสาค้ำอำนาจ ฐานะ "รัฐบาล"
- ว่าจะ ดันร่างกฎหมายนี้เพื่อ "รักษามวลชน" ระยะยาว หรือ แช่แข็งเพื่อรักษาอำนาจระยะสั้น
เมื่อ “สภาฯ” อยู่ในระหว่างปิดสมัยประชุม คล้ายกับว่า “สมรภูมิการเมือง” ฟาก “นิติบัญญัติ” ได้พักยก
แม้จะมีความเคลื่อนไหวอยู่บ้าง ทั้งในประเด็น การแก้รัฐธรรมนูญ ที่ต้องฝ่าด่าน “ปรับปรุง” กฎหมายประชามติ ระหว่าง “สส.” และ “สว.” ต่อประเด็นเห็นต่าง เกณฑ์ผ่านประชามติ เรื่อง “รัฐธรรมนูญ” ด้วยเสียงข้างมาก2ชั้น หรือ ประเด็น “นิรโทษกรรม” ที่ขณะนี้ต้องจับตาทิศทาง และความชัดเจนจาก “พรรคเพื่อไทย” ต่อการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประกบกับ “ร่างนิรโทษกรรม 4 ฉบับ” ที่นอนรอในวาระประชุมสภาฯ
โดยทั้งการแก้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายนิรโทษกรรมถูก “ตีความ” เชื่อมโยงไปถึง “การเมือง” หลังบ้านของพรรคเพื่อไทย ที่จะกู้คืน “ศรัทธา” จากมวลชน ได้หรือไม่ โดยเฉพาะ “คนเสื้อแดง” ที่ถือเป็นมวลชนร่วมอุดมการณ์ ต่อสู้กับระบอบเผด็จการ เชิดชู “ระบอบประชาธิปไตย”
ทว่า นอกจาก 2 กฎหมายสำคัญที่ว่าแล้ว ยังมีอีก 1 ฉบับที่ต้องเกาะติดคือ “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต” แก้ไข พ.ร.ป. ป.ป.ช. ปี2561 เสนอโดย “ก่อแก้ว พิกุลทอง” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะแกนนำคนเสื้อแดง
โดยขณะนี้อยู่ในชั้นการรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ และจะสิ้นสุดการรับฟังวันที่ 24 พ.ย.นี้
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกตีความว่าเป็น “ร่างกฎหมายการเงิน” ที่ต้องส่งให้นายกฯ “แพทองธาร ชินวัตร” ลงนามรับรองก่อนที่จะเสนอต่อสภาฯให้พิจารณาตามกระบวนการนิติบัญญัติได้
ว่ากันว่า เป็นการเสนอแก้ไขกฎหมาย เพื่อทวงความยุติธรรมให้กับ “คนเสื้อแดง” ในฐานะผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ สลายการชุมนุมใจกลางเมือง เมื่อปี 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 99 ศพ โดย “คนเสื้อแดง” เพื่อ "มวลชนแดง"
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” มือกฎหมายของพรรคเพื่อไทย เสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป. ต่อที่ประชุมรัฐสภา แต่ไม่รู้เป็นเพราะอะไร กลับ “ถอน” ออกจากวาระ และไม่ยอมส่งเนื้อหากลับไปให้ “รัฐสภา” บรรจุเรื่องเพื่อพิจารณา
ทำให้ถูก “สส.เสื้อแดง” ทวงถามกลางสภาฯ ก่อนที่ “ก่อแก้ว” พร้อมด้วย “สส. เสื้อแดง-เพื่อไทย” และ “สส.พันธมิตร” ลงชื่อส่งร่างฯให้ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา ทำตามขั้นตอน
ต่อเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้ “ก่อแก้ว” บอกว่าประเด็นสำคัญคือ กำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องคดีอาญาที่มีความเกี่ยวข้องกับความผิดตามมาตรา 28(1) ได้เอง จากเดิมที่เป็นอำนาจของ “ป.ป.ช.” ที่ต้องดำเนินการ และหาก “ป.ป.ช.” เห็นว่าไม่มีมูล หรือ “อัยการ” ไม่สั่งฟ้อง ทำให้ “ผู้เสียหาย” เสียสิทธิที่จะยื่นฟ้องต่อศาล
ขยายความในประเด็น มาตรา 28(1) คือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
หมายถึงเป็นการ “แก้ไขขั้นตอน” ทางปฏิบัติเพื่อให้ “คนเสื้อแดง” ที่ตกเป็นเหยื่อ และผู้เสียหายในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 สามารถรื้อฟื้น และนำคดีสลายการชุมนุม ที่มีอดีตนายกฯ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และอดีตผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เป็นจำเลย ในข้อหา “ร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำ หรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา” ในการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 เข้าสู่ศาลได้อีกครั้ง
หลังจากที่เมื่อปี 2560 ศาลฏีกายกฟ้องคดีสลายการชุมนุมด้วยเหตุ “ไม่เป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย” เนื่องจากเป็นอำนาจของ “ป.ป.ช.” ที่ไต่สวนและส่งสำนวนให้ “อัยการสูงสุด” ยื่นฟ้อง แต่การปฏิบัติพบว่า “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” (ดีเอสไอ) เป็นผู้ดำเนินการ
ขณะที่กระบวนการที่ต้องส่งให้ “นายกฯ” รับรองก่อนนั้น “ก่อแก้ว” เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เพราะได้พูดคุยกับ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ไว้แล้ว
ทว่า ในประเด็นของการเสนอร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้ อาจทำให้เกิดรอยร้าว ระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” กับ “พรรคร่วมรัฐบาล” บางพรรคที่ยังหนุนใน “ฝั่งอนุรักษนิยม”
และด้วยสภาพของ “พรรคเพื่อไทย” ที่ต้องการ “เสาค้ำ” ความมั่นคง อาจทำให้ “ร่างกฎหมายถูกแช่แข็ง หรือถูกดอง” ไปจนเวลารื้อฟื้นคดี เพราะ “ขาดอายุความ” โดยประเด็นการเอาผิดมาตรา 157 นั้น มีอายุความ 15 ปีและ พ.ค.2568 จะสิ้นสุด
ส่วนคดีอาญา “ข้อหาฆ่าคนตาย” แม้จะมีอายุความถึง 20 ปี หรือกินเวลาอีก 5 ปีหลังจากนี้ แต่หากร่างกฎหมายนี้ไม่ผ่านในรัฐบาลปัจจุบัน สิ่งที่เป็นผลกระทบตามมา อาจหมายถึง “การสูญสิ้นมวลชนเสื้อแดง” ที่หนุน “พรรคเพื่อไทย” ให้ชนะเลือกตั้ง
ต่อเรื่องนี้ “นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์” สส.แกนนำแดง เชื่อมั่นว่า อาจจะเกิดขึ้น โดยยกเหตุของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วกล่าวอ้าง
“การเลือกตั้งนายก อบจ.ขอนแก่น ที่ วัฒนา ช่างเหลา ย้ายจากพรรคภูมิใจไทยมาลงสมัครในพรรคเพื่อไทย ทั้งที่มาสมัครเป็นสมาชิกพรรค 1 วันก่อนสมัคร เอาชนะแชมป์เก่าอย่าง พงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสื้อแดงขอนแก่นเทคะแนนให้ผู้ชนะคนใหม่ หลังจากที่ อดีตนายก อบจ.คนเก่า ไม่ทำอะไรให้คนเสื้อแดงเอง เมื่อวัฒนานำภาพผู้นำแห่งจิตวิญญาณของเพื่อไทยไปแห่หาเสียง จึงได้คะแนนไปเต็มๆ” แกนนำเสื้อแดง ระบุ
อย่างไรก็ดี ในเรื่องนี้ต้องจับตาความเกี่ยวเนื่องกันกับการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของ “เพื่อไทย” แม้ยืนหลักการไม่ล้างผิด คดีหมิ่นสถาบัน-ทุจริต-คดีรุนแรง-ฆ่าคนตาย แต่ในมุมของ “ผู้สั่งการ” คดีที่สร้างความบอบช้ำให้กับ “พี่น้องเสื้อแดง” ยังเป็นเรื่องคาใจ ว่าจะเหมารวมด้วยหรือไม่
หาก “คีย์แมนเพื่อไทย” ยังไม่แสดงจุดยืนและท่าทีที่จริงใจต่อ “มวลชนเสื้อแดงภูมิภาค” หรือยังไม่เหลียวแลอีก อาจจะพ่ายเกมเลือกตั้งก็เป็นได้” นพ.เชิดชัย ทิ้งทายเอาไว้ให้คิด.