‘3ด่านโหด’โจทย์รัฐบาล เผือกร้อน ‘ไทย-กัมพูชา’ - เฟ้น‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’
‘3ด่านโหด’โจทย์ใหญ่รัฐบาล เผือกร้อน แบ่งเค้ก‘ไทย-กัมพูชา’ - เฟ้น‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’ ‘การเมือง’เขย่าอภิสิทธิ์ชน‘ทักษิณ’-เสถียรภาพพรรคร่วมฯ
KEY
POINTS
- การเมืองยุค “3ก๊ก” หลากหลายสารพัดปมร้อนซึ่งเป็นเสมือน “ด่านโหดวัดใจ” รัฐบาล
- เผือกร้อนรัฐบาล แบ่งเค้ก"ไทย-กัมพูชา" - เฟ้น"ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"
- ปริศนาชั้น14รพ.ตำรวจ จุดไฟประเด็น“อภิสิทธิ์ชน” กลับมาอีกครั้ง
- สารพัด “นิติสงคราม” ทั้งกรณีการยื่นยุบพรรคเพื่อไทย พ่วงพรรคร่วมรัฐบาล จนถึงเวลายังมีสารพัดคำร้องค้างคาอยู่ในวาระการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- เสถียรภาพรัฐบาล ภายใต้ดุลอำนาจที่ดูเหมือนจะรอมชอม เป็นเพราะเวลานี้บรรดาพรรคการเมืองยังพร้อมเลือกตั้งใหม่ ทว่าภายใต้อำนาจที่ว่ารอมชอมนั้น ยังซ่อนไว้ด้วยเกมต่อรองมากมาย
ท่ามกลางการเมืองยุค “3ก๊ก” ประกอบไปด้วย ก๊กแรก พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาล ก๊กที่สอง “ขั้วอำนาจเก่า” ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลเวลานี้ และ ก๊กที่สาม คือ พรรคประชาชน รวมถึงพลพรรคส้ม ที่เวลานี้อยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาลรวมถึงยังเป็นคู่แข่งลำดับต้นๆของรัฐบาลในการเลือกตั้งรอบหน้า
ไม่ต่างจากหลากหลายสารพัดปมร้อนซึ่งเป็นเสมือน “ด่านโหดวัดใจ” รัฐบาล
ด่านแรก: เผือกร้อนรัฐบาล อาทิ ประเด็นMOU 44 ที่ถูกจุดกระแส “ชาตินิยม” จากฝั่งบ้านป่ารอยต่อ หวังปลุกแนวร่วมฝั่งอนุรักษนิยม
ก่อนที่ต่อมาฝั่งพรรคเพื่อไทยจะแก้เกมเอาคืน ไล่ขุดไปถึงสมัย “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อดีตนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยนั่งเป็นนั่งประธานคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) และเป็นผู้ไปเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาเสียด้วยซ้ำ
ภาพของการหารือร่วมกันของ “แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล” ก่อนที่ “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร จะนำทีมหัวหน้าและแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล แถลงย้ำชัด เกาะกูดเป็นของไทย MOU44ไม่เกี่ยวข้อง ไม่มีทางที่ไทยจะเสียดินแดน
ภายใต้ “นัยทางการเมือง” ที่ต้องการสื่อถึงความเป็นเอกภาพของรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งในอดีตเคยเสนอยกเลิกMOU44 มาวันนี้ได้แปรเปลี่ยนไป
ทว่าเบื้องลึกแล้ว ยังต้องจับตาไปที่การตั้งคณะกรรมการJTC ที่จะมีความชัดเจนในอีกราว2สัปดาห์ข้างหน้า ภายใต้สัญญาณ2ประเทศในการเปิดประตูเจรจารอบใหม่ ซึ่งถูกโฟกัสเป็นพิเศษประเด็นการแบ่งเค้ก ผลประโยชน์มหาศาลที่มีความเกี่ยวโยงกับบริษัทยักษ์ใหญ่ประเทศมหาอำนาจ
ฉะนั้นภายใต้นัยการเมืองที่ต้องการสื่อถึงความเป็นเอกภาพของรัฐบาล แต่ว่ากันว่า “พรรคร่วมรัฐบาล” บางพรรค ยังคงตั้งข้อกังขาประเด็นนี้อยู่ ไม่ต่างจากฝ่ายล้มMOU จนถึงนาทีนี้ยังคงยืนยันในเหตุผลของตนเองและหาช่องเขย่ารัฐบาลเป็นระยะ
อีกหนึ่งเผือกร้อนที่ต้องจับตา หนีไม่พ้นการสรรหา ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” เวลานี้ถูกนำไปผูกโยงในมิติการเมือง แถมถูกจุดกระแสจากบรรดาม๊อบที่รายล้อมทำเนียบรัฐบาลในประเด็นผลประโยชน์ระยะสั้น ทำลายเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของประเทศในระยะยาว
เป็นเช่นนี้ต้องจับตาท่ามกลางข่าวคราวการเสนอเปลี่ยนตัวแคนดิเดตจริงหรือไม่ จะเป็นใครจะได้รู้ผลในการประชุมนัดใหม่ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ เว้นเสียแต่จะมีเกมการเมืองจนทำให้การประชุมเจอโรคเลื่อนอีกรอบ
ด่านที่สอง:เกมการเมืองวัดใจ โดยเฉพาะกรณีล่าสุด ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการขอประวัติเวชระเบียนเกี่ยวกับการรักษาตัวของ"ทักษิณ ชินวัตร"อดีตนายกฯ นายใหญ่เพื่อไทย ที่โรงพยาบาลตำรวจ พร้อมเตรียมเรียกหน่วยงาน รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูล
แน่นอนย่อมกลายเป็นเกมการเมืองเข้าทาง โดยเฉพาะขั้วฝ่ายค้านอย่าง “พรรคประชาชน” ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นพรรคก้าวไกล
ก่อนหน้านี้ถูกตั้งคำถามไปถึงบทบาทฝ่ายค้านในการตรวจสอบประเด็นดังกล่าว ที่แทบจะไม่แตะไปถึงชั้น14รพ.ตำรวจ จนถูกมองว่าอาจเป็นเพราะเกมสมประโยชน์ร่วมกันบางประการ โดยเฉพาะการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ในประเด็นมาตรา112
แต่เมื่อสัญญาณจากพรรคเพื่อไทย ล่าสุดเล่นบทรอมชอม “พรรคร่วมรัฐบาล” โดยการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ที่จะไม่มีประเด็นมาตรา112รวมอยู่ด้วย
เป็นเช่นนี้แน่นอนว่าอาจกลายเป็นเกมเอาคืนจากพรรคส้ม รวมถึงม๊อบนอกสภาในการจุดไฟเขย่าประเด็น“อภิสิทธิ์ชน” กลับมาอีกครั้ง
เห็นได้ชัดจากกรณีที่คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎรที่มี “รังสิมันต์ โรม” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นประธาน
ล่าสุดตั้งเรื่องพิจารณาศึกษาปัญหาและแนวทางในการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมกรณีกรมราชทัณฑ์ให้"ทักษิณ" พักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจกับการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งถูกกระแนะกระแหน ว่าเพิ่งได้ฤกษ์สอบ
ยังไม่นับรวมสารพัด “นิติสงคราม” ทั้งกรณีการยื่นยุบพรรคเพื่อไทย พ่วงพรรคร่วมรัฐบาล จนถึงเวลายังมีสารพัดคำร้องค้างคาอยู่ในวาระการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างๆเหล่านี้ย่อมกลายเป็นด่านโหดและโจทย์สำคัญที่พรรคเพื่อไทยรวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลกำลังเผชิญ
ด่านที่สาม:เสถียรภาพรัฐบาล ภายใต้ดุลอำนาจที่ดูเหมือนจะรอมชอม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเวลานี้บรรดาพรรคการเมืองยังพร้อมเลือกตั้งใหม่ จึงยังไม่เห็นสัญญาณแตกหักในเร็ววัน
ทว่าอำนาจที่ว่ารอมชอมนั้น ยังซ่อนไว้ด้วยเกมต่อรองมากมาย โดยเฉพาะในยามที่พรรคเพื่อไทยถืออำนาจไม่ได้เบ็ดเสร็จเหมือนแต่ก่อน
ไม่แปลกที่จะเห็นสัญญาณจากบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลในการเปิดเกมต่อรองเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นศึกในสภา ทั้งประเด็นการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งมีสัญญาณจากพรรคร่วมรัฐบาลชัดเจนไม่เอาด้วยประเด็นเหมาเข่งมาตรา112 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการทำประชามติ ที่ปรากฎภาพเกมวัดพลังเป็นระยะ และอาจได้เห็นภาพชัดเจนหลังเปิดสภาในวันที่12ธ.ค.นี่้่
ไม่ต่างจากสารพัดนโยบายเรื่องธงรัฐบาล ที่ต่างฝ่ายต่างยื่นข้อต่อรองแลกเปลี่ยน จนสะท้อนภาพออกมาให้เห็นเป็นระยะ เช่นเดียวกัน
ต่างๆเหล่านี้ถือเป็น “ด่านโหด-โจทย์หิน” ที่รัฐบาล รวมถึงพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้!