ล้างไพ่ ‘ตำรวจไซเบอร์’ กู้องค์กร ขจัดปมธุรกิจสีเทา ต้นตอขัดแย้ง ‘สีกากี’
ล้างไพ่ ‘ตำรวจไซเบอร์’ กู้องค์กร ขจัดปมธุรกิจสีเทา ต้นตอขัดแย้ง ‘สีกากี’ เล็งโอนอำนาจจับกุม - ดำเนินคดี ให้ “ดีอีเอส” ดำเนินการ
KEY
POINTS
- ผบ.ตร. มีแนวคิดเคลียร์คน - เคลียร์ตำแหน่ง “ล้างไพ่ตำรวจ PCT” หรือที่สาธารณชนเรียกกันว่า “มือปราบไซเบอร์”
- ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเกิดปัญหากำลังพล “บางคน” ไปแอบอ้างเรียกรับผลประโยชน์แอบแฝง และใช้ชื่อของ ตำรวจไปหาผลประโยชน์อีกด้วย
- จับตาบทบาทของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ในภารกิจกอบกู้ภาพลักษณ์ของ “องค์กรสีกากี” จะเริ่มปฏิบัติถอดสลัก ปลดชนวน
โจทย์ใหญ่ของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คือ การจัดระเบียบองค์กรสีกากี ให้กลับเข้ามาอยู่ในกรอบวินัย ภายหลังเกิดศึก “บิ๊ก” ชน “บิ๊ก” ทำให้ภาพลักษณ์ตำรวจไทยติดอยู่ในแดนลบ
ที่สำคัญปมขัดแย้งสร้างความรอยร้าวตั้งแต่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ไปจนถึงตำรวจชั้นผู้น้อย “บิ๊กต่าย” จึงต้องเร่งกอบกู้ความเชื่อมั่น และเรียกศรัทธา “ตำรวจไทย” ให้ “ประชาชน” กลับมาเชื่อมั่นในการทำงาน
ล่าสุด “ผบ.ตร.” คนที่ 15 ประกาศนโยบาย 15 ข้อ เป็นบทพิสูจน์การทำงานของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ หลังจากนี้จะสามารถรักษาคำพูด และขับเคลื่อนบุคลากร “สีกากี” ให้เป็นอย่างที่ตั้งใจไว้ได้หรือไม่
ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ได้รื้อฟื้นแนวคิดเคลียร์คน “ล้างไพ่ตำรวจ PCT” หรือที่สาธารณชนเรียกกันว่า “มือปราบไซเบอร์” ขึ้นมา หลังจากก่อนหน้านี้อดีต ผบ.ตร.พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เคยมีแนวคิดทำนองดังกล่าวมาแล้ว
สำหรับ “ตำรวจ PCT” หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานของรัฐบาล มิได้ขึ้นกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยตรง
มีบทบาทในการกวาดล้าง อาชญากรรมทางเทคโนโลยี และอาชญากรรมทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โรมานซ์สแกม และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เข้าข่ายการหลอกลวง เป็นต้น
โดยแผนล้างไพ่ “ตำรวจ PCT” ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในยุค “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาว่า หน่วยงานแห่งนี้มีการนำกำลังพลกว่า 4,000 คน ทั้งจาก ตร. และหน่วยงานราชการอื่นๆ เข้ามา
สวนทางกับ พ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับใหม่ ที่ห้ามนำกำลังคนมาช่วยราชการ หากมิได้ปฏิบัติราชการจริง โดยที่ผ่านมาพบว่า “ตำรวจ PCT” เกิดปัญหากำลังพล “บางคน” ไปแอบอ้างเรียกรับผลประโยชน์แอบแฝง และใช้ชื่อของ ตำรวจไปหาผลประโยชน์อีกด้วย
ที่สำคัญ “ตำรวจ PCT” ดังกล่าว ยังมีหน้าที่ลักษณะงานค่อนข้าง “ซ้ำซ้อน” กับหน่วยงานภายใต้สังกัด ตำรวจโดยตรงอย่าง กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)
ขณะเดียวกันในส่วนของกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ก็มีหน่วยงานย่อยคือ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) หรือ “ตำรวจไซเบอร์” เดิม มีหน้าที่ และบทบาทในการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อยู่แล้ว รวมถึงหน้าที่ทับซ้อนกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) อีกด้วย
สำหรับ “ตำรวจ PCT” ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 ในยุค ผบ.ตร.คนที่ 11 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เนื่องจากสถานการณ์ขณะนั้น ภัยทางเทคโนโลยีกำลังเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว จึงแต่งตั้งศูนย์ PCT ขึ้น และมีศูนย์ปฏิบัติการย่อย 11 แห่งทั่วประเทศ
โดยมี พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร. ขณะนั้นเป็น ผอ.ศูนย์ PCT และมี “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เมื่อครั้งเป็นผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) รั้งบังเหียนเป็น รอง ผอ.ศูนย์ PCT แห่งนี้
สำหรับบทบาทหน้าที่ 13 ด้านของศูนย์ PCT ได้แก่ การตรวจสอบการกู้ยืมเงินโดยไม่เป็นธรรม ตรวจสอบชาวต่างชาติทำผิดกฎหมาย หรืออยู่เกินกำหนดอนุญาต การพนัน ยาเสพติด-อาวุธปืน ทรัพย์สินทางปัญญา เจ้าหน้าที่รัฐถูกร้องเรียน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สถานบริการ แข่งรถในทางสาธารณะ เร่งรัดกฎหมายจับ-ติดตามการดำเนินคดี รถเถื่อน ป้ายปลอม การท่องเที่ยว และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทั่วไป
ส่วนผลงานที่ผ่านมาของศูนย์ PCT ทำการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เครือข่ายสแกมเมอร์ และกลุ่มบุคคลปล่อยเฟกนิวส์ได้เป็นจำนวนมาก โดยร่วมมือกับกระทรวงดีอีเอส และตำรวจ บก.ปอท. โดยในปี 2560-2561 จับกุมแก๊งคอลเซนเตอร์ได้กว่า 508 ราย คดีเกี่ยวกับหลอกลวงทางออนไลน์ 225 ราย และคดีอื่นๆ ในทางฉ้อโกงออนไลน์ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 428 ล้านบาท
นอกจากนี้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยึดทรัพย์กว่า 397 ล้านบาท หลังจากนั้นในขวบปีถัดๆ มาได้ขยายผลจับกุมแก๊งคอลเซนเตอร์ และเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ได้อีกจำนวนไม่น้อย
กระทั่งการมาถึงในยุค ผบ.ตร.ที่ชื่อ “บิ๊กต่อ” ได้มีแนวคิด “ล้างไพ่ศูนย์ PCT” ทิ้งเสีย เพราะเปลืองกำลังพล และมองว่าการทำหน้าที่ทับซ้อนกับหน่วยงานตำรวจเดิมที่มีอยู่แล้วทั้ง บก.ปอท. และ บช.สอท. รวมถึงกระทรวงดีอีเอส
ที่ผ่านมาหน่วยงานภายใต้สังกัด ตร.อย่าง บช.สอท.ก็มีผลงานในการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และอาชญากรรมไซเบอร์จำนวนมากเช่นเดียวกัน โดยจับกุมผู้ต้องหาไปหลายพันคน และยึดทรัพย์สินจากการกระทำความผิดเฉียด 4 พันล้านบาท
เหตุผลสำคัญที่ “บิ๊กต่าย” มีแนวคิด “ยุบศูนย์ PCT” เพราะรู้ดีว่าผลประโยชน์มหาศาล ทำให้ “ตำรวจ” ยอมเสี่ยง ใช้หน้าที่-อำนาจ เข้าไปมีส่วนรู้เห็นกับผู้กระทำผิด ด้วยการเก็บส่วยจากเว็บพนันออนไลน์ แถมบางคนเปิดเว็บไซต์พนันด้วยตัวเอง จนทำให้องค์กรเกิดความเสียหาย
ทั้งนี้คาดว่าภายหลัง “ยุบศูนย์ PCT” แล้ว อำนาจการจับกุมดำเนินคดี “ผู้กระทำผิด” เกี่ยวกับคดีทางออนไลน์ จะถูกโอนไปยังกระทรวงดีอีเอสทั้งหมด
หลังจากนี้จับตาบทบาทของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ในภารกิจกอบกู้ภาพลักษณ์ของ “องค์กรสีกากี” จะเริ่มปฏิบัติถอดสลัก ปลดชนวน เพื่อไม่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความขัดแย้ง พร้อมทิ้งกอบกู้เกียรติ และศักดิ์ศรีของ “ตำรวจไทย”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์