'สว.พิสิษฐ์' ห่วง ประชามติผ่านไปรษณีย์เจอสวมสิทธิ
"สว.พิสิษฐ์" ห่วง ประชามติผ่านไปรษณีย์เจอสวมสิทธิ รอฟัง “บ.ไปรษณีย์ไทย” แจงความพร้อมระบบยืนยันตัวตน - กกต. พร้อมระบุยอมรับได้ ปรับเกณฑ์ประชามติชั้นครึ่ง
ที่รัฐสภา สว.พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ ฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอต่อแนวทางสายกลางเพื่อแก้ไขความเห็นต่างระหว่าง สว. และ สส. ต่อเกณฑ์การผ่านประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ ระหว่างการใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น และ เสียงข้างมากชั้นเดียว ว่า ในข้อเสนอให้ใช้เกณฑ์ผ่านชั้นครึ่ง คือ มีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และได้เสียงเห็นชอบที่เป็นเสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิ ซึ่งไม่มีประเด็นคะแนนที่ต้องชนะเสียงโนโหวต เป็นประเด็นที่ตนรับได้ แต่ขณะนี้ตนยังไม่ได้คุยกับ สว. ที่ร่วมเป็นกมธ. อีก 13 คน อย่างไรก็ดียังมีประเด็นที่ต้องรอการรับฟังข้อมูลประกอบ คือ การชี้แจงของบริษัทไปรษณีย์ไทยต่อความพร้อมของการออกเสียงประชามติ และระบบยืนยันตัวตน ที่ยืนยันต่อการใช้สิทธิประชามตินั้นเป็นไปตามเจตจำนงค์ของผู้มีสิทธิอย่างแท้จริง และป้องกันการสวมสิทธิโดยบุคคลอื่น
“ผมเห็นด้วยกับการทำประชามติผ่านระบบไปรษณีย์เพราะเป็นช่องทางที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงประหยัดค่าใช้ แต่ยังมีข้อกังวลถึงระบบยืนยันตัวตน ว่า คนที่มีสิทธินั้นลงคะแนนจริง หากไปรษณีย์ยืนยันว่าทำได้ไม่มีปัญหา และพร้อมใช้ การปรับบทบัญญัติให้เป็นเสียงข้างมากชั้นครึ่งผมพร้อมสนับสนุน” นายพิสิษฐ์ กล่าว
นายพิสิษฐ์ กล่าวว่าในการประชุมกมธ.ฯ วันที่ 20 พ.ย. ขณะนี้ตัวแทนของไปรษณีย์ไทยตอบรับเข้าร่วมประชุมแล้ว ซึ่งเชื่อว่าจะมีข้อซักถามในรายละเอียดต่างๆ ซึ่งรวมถึงความพร้อมของระบบ การยืนยันตัวตนและการทำงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้น ยังไม่แน่ใจ ทั้งนี้เข้าใจว่ากกต.อยู่ระหว่างเตรียมตัวไปดูงานที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะมีการจัดทำประชามติในระหว่างวันที่ 24-27 พ.ย. นี้ ดังนั้นในความเห็นของตนควรมีการประชุมอีก 1 นัดหลังจากนั้นเพื่อให้ กกต.เข้าชี้แจง
เมื่อถามว่ากรณีที่ตัวแทนของไปรษณีย์ไทยชี้แจงแต่พบความไม่พร้อม100% ทิศทางการพิจารณาความเห็นต่างของกมธ.จะเป็นอย่างไร นายพิสิษฐ์ กล่าวว่าในการประชุมที่ผ่านมา ฝ่าย สส. และสว. ล้วนยืนยันในหลักการแต่ละฝ่ายสนับสนุนแบบเสียงแข็ง ดังนั้นหากไม่เปลี่ยนแปลงต้องใช้การโหวตของแต่ละสภาฯ และหากมีฝ่ายหนึ่งที่ไม่รับ ต้องพักร่างกฎหมายไว้ 180 วัน และจากนั้นต้องให้ สภาฯ ยืนยัน ซึ่งเชื่อว่าจะยืนยันในหลักการเสียงข้างมากชั้นเดียว แต่หากตกลงกันได้ว่าปรับเป็นเสียงข้างมากชั้นครึ่ง จะเดินไปสู่การทำประชามติ และหากระบบไปรษณีย์พร้อม ตนมองว่าสามารถทำประชามติได้ทันที และเมื่อไรก็ได้ โดยไม่ต้องรอให้พร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่น และตนมองว่าการทำประชามติผ่านไปรษณีย์เป็นความชอบธรรม ประชาชนเข้าถึงได้ และได้ใช้สิทธิได้เต็มที่
เมื่อถามว่าในความขัดแย้งในเรื่องกฎหมายประชามติจะมีผลกระทบต่อภาพใหญ่ของการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวต้องรอให้เปิดสมัยประชุมและมีเรื่องเสนอต่อสภา อีกครั้ง อย่างไรก็ดีตนมองว่าในหลักการแก้รัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกถามประชาชนว่าอยากให้แก้หรือไม่ ครั้งสอง คือ
เมื่อมีการแก้ไขให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ และครั้งสาม เมื่อมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ซึ่งหากพิจารณารายละเอียดแล้วไม่รู้จะจบภายในกี่ปี ไม่รู้ว่า สว. จะหมดวาระไปก่อนหรือไม่.