จัดใหญ่ไปไหม? ‘คดีทนายตั้ม’ ภาพสะท้อนเหลื่อมล้ำยุติธรรมไทย
ปัจจุบันคดีที่ ปชช.แจ้งความร้องทุกข์โรงพัก หรือหน่วยตำรวจ พบว่าใน 100 คดี จะรับเลขคดีอาญาเพื่อสอบสวนตามกฎหมายจริงๆ ไม่เกิน 5 คดี คือเฉพาะคดีคนรวย คนมีอำนาจ ส่วน 95% เป็นคดีคนจน คนชั้นกลาง จะลงประจำวันไว้เป็นหลักฐาน แต่ไม่มีการสอบสวน ทำสำนวนส่งอัยการเพื่อสั่งฟ้องคดี
ขอออกตัวล่วงหน้าเหมือนเคยว่า เรื่องราวที่จะเขียนนี้ ไม่ได้ต้องการช่วยแก้ต่างให้ “ทนายตั้ม” หรือ “ทนายดัง” คนใด เพราะเรื่องคดีความทุกอย่างเป็นไปตามกรรม หรือการกระทำของตัวแต่ละท่านเอง
แต่สิ่งที่กำลังจะแสดงทัศนะนี้ คือ ปัญหาความลักลั่น และเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันมากนัก
ผมตั้งประเด็นเอาไว้ 4-5 ประเด็น แล้วนำไปขอความรู้กับ “ผู้รู้” ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้พูดเองเออเองจากความรูัสึก โดยไม่มีองค์ความรู้ที่แท้จริง
1.ตำรวจเล่นใหญ่เกินไปหรือไม่ เพราะคดี “เจ๊อ้อย” กับ “ทนายตั้ม” มูลความผิดคดีนี้ หากผิดจริง ยังเป็นคดีฉ้อโกงธรรมดาระหว่างเอกชนกับเอกชน ผู้เสียหายที่แสดงตัวยังมีเพียง 1 คน ไม่ใช่คดี “ฉ้อโกงประชาชน” ที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก หรือประชาชนทั่วไปคือผู้เสียหาย ซึ่งคดีลักษณะนี้ยอมความได้
แม้จะมีการอ้างหลักฐานโยงพฤติการณ์ฟอกเงิน แต่รูปธรรมที่ปรากฏผ่านสื่อยังค่อนข้างบางมาก เพราะเป็นพฤติการณ์ฉ้อโกงทั่วไป แล้วจับไปโยงฟอกเงิน จากนั้นสิ่งที่ตำรวจทำ คือไปสะกดรอย ปลอมเป็นแกร็บไปสังเกตการณ์ ยกโขยงไปสกัดจับ และค้นบ้านอย่างเอิกเกริก เหมือนคดีก่อการร้าย หรืออาชญากรรมข้ามชาติ
2.ถ้าคดีฉ้อโกงทั่วไปแบบนี้ ตำรวจมีส่งสายสืบไปแอบส่องบ้าน มีประสานกองปราบไปสกัดจับ ตำรวจน่าจะต้องเพิ่มงานอีกมากเลย เพราะมีคดีชาวนาโดนโกงที่ดินจากการขายฝาก มีการโกงคนจนหน้าด้านๆ อีกมากมายที่ประชาชนตาดำๆ อยากให้ไปจับคนโกง แต่ตำรวจไม่รับแจ้ง หรือรับแจ้งไว้ แต่ก็ไม่ได้ทำคดี
3.คดีตำรวจใหญ่ 2 นาย มีหลักฐานเชื่อมโยงพนันออนไลน์ ทำเป็นขบวนการ แต่เวลาออกหมาย ศาลยังออกแค่หมายเรียก พอตำรวจไปส่งหมาย ไม่เจอตัว ก็ไม่เห็นตามจับหรือสกัดจับแบบที่ทำกับทนายตั้ม (ซึ่งบางปฏิบัติการเกิดขึ้นก่อนออกหมายจับ)
4.ที่ผ่านมา คดีเช็ค ซึ่งยังมีความผิดอาญา ก็มีผู้เสียหายไปแจ้งตำรวจ จ่ายเงินใต้โต๊ะหรือจ่ายสินบน หรือเงินส่วนแบ่ง หากตามยึดเงินได้ จากนั้นตำรวจก็ไปตามจับผู้ต้องหาในวันศุกร์ แกล้งให้ติดคุกวันเสาร์-อาทิตย์ ไปฝากขังต่อศาลวันจันทร์ แล้วก็ได้ประกันตัว เท่ากับติดคุกฟรี 2-3 คืน
เรื่องแบบนี้ ก็รู้ๆ กันว่าเป็นความจงใจบังคับใช้กฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งกัน ปัจจุบันจึงมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อยกเลิกโทษอาญา พ.ร.บ.เช็ค แต่กรณีทนายตั้มกลับยังเล่นใหญ่
5.ในคำแถลงของตำรวจกรณีสกัดจับทนายตั้มพร้อมภรรยา มีข้อความทำนองว่า “เพราะเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ" แนวๆ เป็นเหตุผลที่ต้องทำเต็มที่ คำอธิบายแบบนี้ก็เลยเกิดคำถามว่า ตำรวจไม่ได้ทำงานทุกคดีอย่างเท่าเทียมกันหรือ ถ้าเป็นคดีที่ประชาชนไม่สนใจ ก็จะไม่ทำหรืออย่างไร
ผมสอบถามประเด็นเหล่านี้กับ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ ซึ่งเคยผ่านงานด้านการสอบสวนมาอย่างโชกโชน และปัจจุบันเป็นเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือ สป.ยธ. ท่านวิรุตม์ตอบเอาไว้แบบนี้
1.ความผิดฐานฉ้อโกงธรรมดา ไม่ใช่ฉ้อโกงประชาชน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี จริงๆ แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิอาญา ตำรวจยังขออนุมัติศาลออกหมายจับทันทีไม่ได้ แต่เมื่อมีข้อหาฟอกเงิน โทษจำคุก 10 ปี จึงสามารถเสนอศาลออกหมายจับได้
คำถามคือ เป็นการพยายามใส่ข้อหาเพื่อออกหมายจับหรือไม่
เรื่องนี้ผมขอเพิ่มข้อมูลอีกนิดหนึ่งว่า มีข่าวจากทางอัยการคดีพิเศษ ก็ยัง “ทึ่ง” กับการตั้งข้อหาเชื่อมโยงกันของตำรวจ เพราะอัยการท่านนี้ทำงานมานาน ยังไม่เคยเจอมาก่อน โดยในกฎหมายฟอกเงิน มีถ้อยคำซ่อนเอาไว้ทำนองว่า “ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ” ก็จะเข้าข่ายเป็นคดีฟอกเงินได้ แต่ก็ยังน่าสงสัยว่า ทนายตั้มมีพฤติกรรม “ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ” จริงหรือ แต่อัยการท่านนี้ยกนิ้วให้ว่า ช่างสรรหาข้อหาได้เก่งจริงๆ
2.ท่านวิรุตม์ อธิบายว่า หลักความยุติธรรมยุคใหม่ และรัฐธรรมนูญฉบับหลังๆ ทุกฉบับของประเทศไทย และทั่วโลก ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ จะปฏิบัติกับเขาเหมือนเป็นคนผิดแล้วไม่ได้
คำถามคือ ถ้ายังแจ้งข้อกล่าวหาได้ หมายถึงมีตัวให้แจ้งข้อหา แล้วออกหมายจับทำไม? เพราะผู้ต้องหาก็เคยไปพบพนักงานสอบสวน และแจ้งว่าพร้อมรับทราบข้อหา จึงไม่ควรออกหมายจับ
กรณีที่เกิดขึ้นนี้ พ.ต.อ.วิรุตม์ ท่านไม่ได้พูดเฉพาะคดี “ทนายตั้ม” แต่พูดถึงคดี “บอสพอล” ด้วย เพราะเป็นการจับและคัดค้านการประกันตัว ทั้งๆ ที่ตัวผู้ต้องหาก็อยู่กับพนักงานสอบสวน ให้การอยู่ในขณะที่จับ
3.ปฏิบัติการยกกำลังไล่จับ สกัดจับกันอย่างเอิกเกริก ทั้งๆ ที่ผู้ต้องหาไปกับภรรยา ไม่มีอาวุธ หรือมีพฤติการณ์รุนแรง ตำรวจทำเพื่อใช้เป็นเหตุผลในการคัดค้านการประกันตัว โดยอ้างต่อศาลว่าพยายามหลบหนีหรือไม่
4.ท่านวิรุตม์ ตั้งข้อสังเกตว่า ตื่นเช้าขึ้นมา คนออกจากบ้านไปโน่นไปนี่ ถือเป็นเรื่องปกติ แม้จะหลบมุมไปหาที่สงบ ไม่อยากพบใคร ก็ยังสรุปว่าหลบหนีไม่ได้ แทนที่จะสันนิษฐานให้เป็นคุณกับผู้ถูกกล่าวหา และหาวิธีดำเนินการ เช่น สะกดรอย หรือแจ้งด่านตรวจคนเข้าเมืองให้เฝ้าระวัง แต่กลับสรุปทันทีว่าหลบหนี เหมือนใช้ดุลยพินิจอย่างไรก็ได้
5.ท่านวิรุตม์ ตั้งคำถามย้อนกลับว่า ถ้าทนายตั้มตั้งใจหนีจริง ควรเป็นเวลากลางคืน และไม่ใช้รถตัวเอง จะแนบเนียนกว่าหรือไม่
ประเด็นนี้ ผมขอเสริมข้อมูลอีกนิดว่า ตอนอดีตนายกฯไทยหลบหนีคดีจำนำข้าว ทั้งๆ ที่เป็นคดีสำคัญ ทำให้ประเทศเสียหายมากกว่า 5 แสนล้าน และศาลมีคำพิพากษาแล้วว่าผิดจริง ตำรวจไม่เห็นตั้งทีมสะกดรอย หรือยกกำลังไปสกัดจับตามแนวชายแดนเขมรให้เอิกเกริกแบบนี้เลย ปล่อยอดีตนายกฯหลบหนีสบายๆ แถมยังมีตำรวจชั้นสัญญาบัตรเป็นคนขับรถให้อีกด้วย (สอบวินัยไปถึงไหนแล้ว ช่วยแจ้งสังคมอีกที)
ท่านวิรุตม์ ยังให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งมาเพิ่มด้วยว่า
ปัจจุบันคดีที่ประชาชนแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจโรงพักต่างๆ หรือหน่วยตำรวจที่รับแจ้งความต่างๆ พบว่าใน 100 คดี พนักงานสอบสวนจะรับเลขคดีอาญาเพื่อสอบสวนตามกฎหมายจริงๆ ไม่เกิน 5 คดี คือเฉพาะคดีคนรวย คนมีอำนาจ ส่วนที่เหลือ 95% เป็นคดีคนจน คนชั้นกลาง ตำรวจจะลงประจำวันไว้เป็นหลักฐาน อ้างว่า “ออกเลขรับแจ้งความ” ให้แล้ว แต่ไม่มีการสอบสวนทำสำนวนส่งอัยการ เพื่อสั่งฟ้องคดี
ยิ่งไปกว่านั้น คดีคนจนที่ถูกฉ้อโกง เมื่อไปแจ้งความ ตำรวจจะบอกเป็นเรื่องทางแพ่ง ให้ไปฟ้องศาลเอาเอง ไม่รับคดี เพราะน่าจะไม่มีความหวังเรื่องส่วนแบ่งจากคนจนหากได้เงินมา
นี่คือความจริงอันเจ็บปวดจากปากอดีตตำรวจที่เคยทำงานจริง ผ่านงานมาจริง!
ผมยังได้พูดคุยกับ รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์มองแยกเป็น 2 ประเด็นคือ
หนึ่ง รูปคดีฉ้อโกงเงินเจ๊อ้อย อาจารย์บอกว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าจะผิดจริงหรือไม่ ต้องดูตามพยานหลักฐานซึ่งคนนอกอย่างเรา ไม่ได้เห็นแน่ชัด
แต่มีข้อสังเกตคือ ถ้าพยานหลักฐานนิ่งว่ามีการมอบเงินให้นำไปลงทุน แล้วไม่มีการนำเงินไปลงทุน แต่กลับนำเงินเข้ากระเป๋าตนเองจำนวน 71 ล้านบาท ลักษณะเช่นนี้ก็เป็นฉ้อโกงได้
แต่ถ้าพยานหลักฐานปรากฏว่ามีการมอบหมายให้นำเงินไปลงทุน แล้วมีการนำเงินไปลงทุนจริ งแต่ยังไม่มีมีการคืนเงิน หรือมีการผิดสัญญาประการใด ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง ไม่ใช่ฉ้อโกงในทางอาญา
นอกจากนั้น หากเป็นเรื่องที่มอบเงิน 71 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุน แล้วต่อมาจับได้ว่าไม่มีการนำเงินไปลงทุนแต่ด้วยความสนิทสนม มีถ้อยคำว่า “ยกหนี้ให้” หรือ “ปลดหนี้ให้” ก็ทำให้หนี้ระงับเช่นกัน เหมือนเป็นเรื่องที่ยอมความกันไปแล้ว
ผมขอเพิ่มข้อสังเกตว่า สิ่งที่อาจารย์มานิตย์อธิบาย คือเงื่อนแง่ทางกฎหมายที่สำคัญ เพราะความผิดนี้ยังยอมความได้ แต่ตำรวจกลับจัดหนัก จัดใหญ่ ด้วยเหตุผลอะไร
คำถามนี้ อาจารย์มานิตย์ วิเคราะห์เอาไว้ด้วยเช่นกัน ในข้อ 2
สอง กรณีตำรวจ “จับใหญ่ไฟกะพริบ” ไม่ใช่เรื่องปกติแน่นอน อาจเป็นปัญหาดั้งเดิมของฝ่ายหนึ่งที่ถูกทนายตั้มกระทำในอดีต แล้วรอจังหวะเอาคืนหรือไม่ เพราะพิจารณาจากเนื้อคดี ผู้เสียหายยังมีเพียงรายเดียวแม้ยอดเงินจะสูง แต่ก็ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีไปสกัดจับขณะที่กำลังขับรถ
อาจารย์ตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังแน่ๆ
ส่วนเรื่องที่วิจารณ์กันว่า “ทนายหิวแสง ถูกเอาคืน” อาจารย์มานิตย์มีเสนอทางออก ทางแก้เอาไว้เหมือนกัน โดยไม่ได้เจาะจงที่ผู้หนึ่งผู้ใด แต่เป็นการพูดในภาพรวม
“โดยหลักมาตรฐานของทนาย จะไม่ออกมายุ่งเกี่ยวกับคดีความต่างๆ ที่ตนเองไม่ได้เป็นทนายหรือว่าความให้ แต่ทนายของเมืองไทยจะใช้กลวิธีไปตั้งสมาคม หรือไปตั้งชมรม แล้วออกเคลื่อนไหวในนามสมาคม เพื่อเรื่องบาลีเกี่ยวกับมรรยาททนายความ ฉะนั้นถ้าสภาทนายความเอาจริง คือลบชื่อจากการเป็นทนายความ จะยุติปัญหาทนายหิวแสงตามสื่อต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
อาจารย์มานิตย์ ยังสรุปทิ้งท้ายฝากถึงสังคมด้วยว่า กรอบของวิชาชีพทนายความ คือให้คำปรึกษาแก่ลูกความ และเก็บรักษาความลับของลูกความ เวลาจะมาออกแถลงอะไร ต้องให้ลูกความมอบหมาย แต่ของบ้านเราวันนี้รู้สึกว่าไม่สนว่าลูกความจะมอบหมายหรือไม่มอบ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์กันอย่างครึกโครม
“คดีคุณแตงโมชัดเจนมากที่สุด” เป็นบทสรุปที่ไม่ต้องการคำอธิบายใดๆ เพิ่มอีก
ส่วนปฏิบัติการของตำรวจมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรบ้างหรือไม่นั้น ผมมีข้อสังเกตจากที่ได้ไปสืบเสาะมาเล็กน้อย คุณผู้อ่านลองพิจารณาว่ามีน้ำหนักหรือไม่
1.เอาคืนทนายดัง เพราะหลายคดีที่ผ่านมาเคลื่อนไหวแบบ “เดินแรง” ทำให้ตำรวจอึดอัด
2.ต้องการหลักฐานจากทนายตั้มไปเชื่อมโยงคดีอื่นที่เป็นปัญหาภายในของตำรวจใหญ่ด้วยกันเอง โดยเฉพาะ “คดีบิ๊กสีกากี” ที่ถูกให้ออกจากราชการไป ยังขาดหลักฐานจิ๊กซอว์อีกหลายชิ้น เพื่อทำให้ทั้งตำรวจใหญ่ และทนายดัง ตายสนิท ไม่หวนกลับมาฟื้นคืนชีพได้อีกรอบ
3.ฝ่ายการเมืองที่สมประโยชน์เรื่องนี้ เปิดไฟเขียวให้ตำรวจจัดใหญ่หรือไม่ เพราะกลบข่าวเอ็มโอยู 44 หายไปกับลมทะเล
ยังไม่นับข่าวโจรใต้บุกยิงนายกเทศมนตรีเทศบาลรือเสาะ นราธิวาส ซึ่งเป็นคนดี คนรักกันทั้งเมือง ตายคาโรงงานเย็บผ้าที่ตั้งขึ้นมาช่วยชาวบ้าน ข่าวนี้ตกหายไปจากจอมอนิเตอร์ของสื่อ เพราะแห่ตามข่าวทนายตั้ม
ย้อนกลับไปอีกนิด คดีบอสพอล แอนด์เดอะแก๊ง ตอนนั้นจู่ๆ ก็จับบอสพอลเป็นข่าวดัง กลบกระแสตากใบจนเงียบหายไปกับท้ายรถยีเอ็มซีของทหาร พร้อมๆ กับข้าราชการทหารและฝ่ายปกครองที่ลางานหนีหมายจับกันสนุก ทั้งลอยนวลพ้นผิด และยังกินเงินเดือนราชการได้เหมือนเดิม
สังคมนี้ถ้ายังอยู่กันได้ ก็คงต้องทำใจอยู่กันต่อไปเหมือนที่เป็นๆ มาครับ ก่อนนอนแต่ละวันก็ไหว้พระขอพร อย่าให้เรื่องซวยมาลงที่ตัวเองเป็นพอ!