เปิดคู่ชกสมรภูมิ ‘นายกอบจ.’ ปชน.ศึกเดิมพัน‘กระแส’ สู้ ‘บ้านใหญ่’
ผ่า สมรภูมิ ‘นายกฯอบจ.’ ลุุ้น 9 จังหวัดจ่อชี้ชะตา จับตา 1 ก.พ.68 เต็มรูปแบบ ปชน.เปิด ‘12ว่าที่ผู้สมัคร’ ศึกเดิมพัน‘กระแส’ สู้ ‘บ้านใหญ่’
KEY
POINTS
- ศึกนายกอบจ.เดิมพันพรรคส้ม "กระแส" สู้ "บ้านใหญ่" เห็นชัดจากสัญญาณเปิดหน้าชัดจากคู่ต่อสู้
-
สมุทรสงคราม “เก่ง” นันทิยา ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรสงคราม มีสิทธิลุ้นเป็นนายก อบจ.สีส้ม เนื่องจาก กาญจน์สุดา ซึ่งอยู่ในสายลุงบ้านป่า กำลังอยู่ในช่วงอัสดง
-
จับตาเมืองปากน้ำยามนี้ยังขาดหัวเรือใหญ่อย่าง "เอ๋" ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เป็นเช่นนี้จึงเกิดคำถามว่า ศึกอบจ.รอบนี้แสนยานุภาพของบ้านใหญ่ยังมีพลังมากน้อยเพียงใด
-
24 พ.ย.ลุ้นชี้ชะตา 3 จังหวัด จับตา "อุดรธานีโมเดล"
ปี่กลองเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ “นายกฯอบจ.” ส่งสัญญาณ สู้เดือดเป็นระยะ ตอกย้ำด้วยสัญญาณจากพรรคประชาชน(ปชน.) เปิดตัว “12 ว่าที่ผู้สมัคร” นายก อบจ. ประกอบด้วย 1. พันธ์ุอาจ ชัยรัตน์ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่
2. วีระเดช ภู่พิสิฐ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.ลำพูน 3. สุพจน์ สุอริยพงษ์ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.มุกดาหาร 4. อุรุยศ เอียสกุล ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.หนองคาย 5. ชลธี นุ่มหนู ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.ตราด
6. นพ.เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.ภูเก็ต 7. นพ.จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ ว่าที่ผู้สมัคร อบจ.สุราษฎร์ธานี 8. สุทธิโชค ทองชุมนุม ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.พังงา 9. นิรันดร์ จินดานาค ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.สงขลา 10. นันทิยา ลิขิตอำนวยชัย ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรสงคราม
11. นพดล สมยานนทนากุล ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรปราการ 12. เลิศมงคล วราเวณุชย์ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.นนทบุรี
โฟกัสไปแต่ละจังหวัด อย่างที่รู้กันรอบนี้พรรคส้มยังต้องฝ่ากระแส สู้ บ้านใหญ่ เห็นชัดจากสัญญาณเปิดหน้าชัดจากคู่ต่อสู้
จ.เชียงใหม่ พันธ์ุอาจ ต้องไปชนกับ “สว.ก๊อง” พิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายก อบจ.เชียงใหม่ จากพรรคเพื่อไทย
จ.ลำพูน "วีระเดช" ต้องเจอกับ อนุสรณ์ วงศ์วรรณ จากพรรคเพื่อไทย
จ.มุกดาหาร “สุพจน์” ชนกับ “จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์” นายกอบจ.คนปัจจุบัน
จ.หนองคาย "อุรุยศ" ต้องไปชนกับ "ยุทธนา ศรีตะบุตร" นายกอบจ.คนปัจจุบันซึ่งถือเป็นสายตรงลุงบ้านป่า
จ.ตราด ชลธี ต้องไปชนกับ วิเชียร ทรัพย์ เจริญ นายกอบจ.ตราด คนปัจจุบัน
จ.ภูเก็ต ซึ่งพรรคประชาชน มี สส.ยกจังหวัด 3 คน นพ.เลอศักดิ์ ต้องไปชนกับ เรวัต อารีรอบ นายกอบจ.คนปัจจุบัน
จ.สุราษฎร์ธานี "นพ.จิรชาติ" นอกจากจะต้องไปชนกับ “กำนันศักดิ์” พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายกอบจ.คนปัจจุบัน ซึ่งมีผู้กองผู้มากบารมีพรรคกล้าธรรม เป็นแบ็คแล้ว ยังมี “โสภา กาญจนะ” จากพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นอีกหนึ่งตัวเต็งเช่นกัน
สนามนี้พรรคส้มอาจมีความหวังตรงที่ คะแนน "สส.ปาร์ตี้ลิสต์" ในการเลือกตั้งเมื่อมี2566 จำนวน 120,386 คะแนน เป็นอันดับสองของจังหวัด คิดเป็นรายเขตพรรคส้มชนะปาร์ตี้ลิสต์ 4เขตจากทั้งหมด7เขต หากรอบนี้ “กำนันศักดิ์” และ “ป้าโส โสภา” ต้องชิงคะแนนกันเองก็อาจเป็นความหวังของพรรคส้ม
ทว่า อย่างที่รู้กันสนามเมืองร้อยเกาะ ถูกผูกขาดโดยสารพัดบ้านใหญ่มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการเลือกตั้งรอบนี้เห็นสัญญาณชัดบ้านใหญ่ โดยเฉพาะสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตสส.สุราษฎร์ธานี แกนนำกปปส.และ “ป้าโส โสภา” ที่รอบนี้ผนึกกำลังหวังโค่น "กำนันศักดิ์"
เป็นเช่นนี้ก็อาจเป็นจุดอ่อนของพรรคส้มที่ยังไม่สามารถต้านทานพลังบ้านใหญ่ได้เช่นเดียวกัน
จ.พังงา "สุทธิโชค“ ต้องชนกับ ”ธนาธิป ทองเจิม" นายกอบจ.คนปัจจุบัน ที่อยู่ในสายสีน้ำเงิน จ.สงขลา "นิรันดร์“ ต้องเจอกับ ”สุพิศ พิทักษ์ธรรม" จากพรรคประชาธิปัตย์
จ.สมุทรสงคราม "นันทิยา" เจอกับ กาญจน์สุดา ปานะสุทธะ นายกอบจ.สมุทรสงครามคนปัจจุบันคนปัจจบัน
เขตนี้ “เก่ง” นันทิยา ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรสงคราม มีสิทธิลุ้นเป็นนายก อบจ.สีส้ม
เนื่องจาก กาญจน์สุดา ซึ่งอยู่ในสายลุงบ้านป่า กำลังอยู่ในช่วงอัสดง
จ.สมุทรปราการ "นพดล" ชนกับ "สุนทร ปานแสงทอง" สายตรงบ้านใหญ่อัศวเหม
สนามเมืองปากน้ำเป็นอีกหนึ่งเขตที่ถือว่ามีสิทธ้ลุ้น วัดจากการเมืองสนามใหญ่ ซึ่งสีส้มโค่นบ้านใหญ่ “อัศวเหม” ลงสิ้นซาก บวกกระแสสีส้มเมืองปากน้ำ ภายใต้การดูแลของ “จึงรุ่งเรืองกิจ”
ยิ่งไปกว่านั้นบ้านใหญ่เมืองปากน้ำยามนี้ยังขาดหัวเรือใหญ่อย่าง "เอ๋" ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เป็นเช่นนี้จึงเกิดคำถามว่า ศึกอบจ.รอบนี้แสนยานุภาพของบ้านใหญ่ยังมีพลังมากน้อยเพียงใด
และ จ.นนทบุรี "เลิศมงคล" ชนกับ "พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ" นายกอบจ.คนปัจจุบัน ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยเป็นฐานเสียงสำคัญ
อย่างที่รู้กัน ศึกชิงนายกอบจ.ที่เริ่มเปิดฉากเป็นระยะ นับตั้งแต่เดือน มี.ค. - ต.ค.2567 มีการเลือกตั้งไปแล้ว 16 จังหวัด ในจำนวนนี้ ภูมิใจไทย ชนะไปถึง 8 จังหวัด ประกอบด้วย เลย นครสวรรค์ อ่างทอง ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ชัยภูมิ อุทัยธานี และระนอง
ที่เหลือเป็น พรรคเพื่อไทย ชนะไป 4 จังหวัด คือ พะเยา พิษณุโลก ยโสธร สุโขทัย พรรครวมไทยสร้างชาติ 2 จังหวัด คือ ชัยนาท ชุมพร
นอกจากนี้ ยังมี จ.ขอนแก่น คือ วัฒนา ช่างเหลา ในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่รอ กกต.รับรอง โดยก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่าลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย ซึ่งในเวลาต่อมา พรรคเพื่อไทยออกมาปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว
เบื้องลึกเบื้องหลังจริงๆ ในชัยชนะครั้งนี้ ว่ากันว่า เกิดจากการโหน “แบรนด์ทักษิณ” เนื่องจากทุกเวทีปราศรัยหาเสียงของวัฒนา ช่างเหลา จะมีคนเสื้อแดงชูป้ายที่มีภาพทักษิณ และนายกฯแพทองธาร
ส่วนอีกกระแสมองว่า มาจากความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวของ 5 สส.ขอนแก่น เพื่อไทยทั้งหมด 6 คน ที่เสียงแตก มีหลายคนแอบช่วย “วัฒนา” ขณะที่อีกส่วนช่วย "พงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์" คู่แข่ง
นอกจากนี้ ยังมี กลุ่มร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ชนะไป 1 จังหวัด คือ ราชบุรี
24 พ.ย.ลุ้น3 จว. จับตาอุดรธานีโมเดล
เหนือไปกว่านั้น ยังมีอีกหลายจังหวัดที่ต้องลุ้น โดย 3 จังหวัดจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ไม่ว่าจะเป็น จ.อุดรธานี จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 พ.ย. ซึ่งเวลานี้เห็นสัญญาณขับเคี่ยวอย่างดุเดือด ระหว่าง“ศราวุธ เพชรพนมพร”ผู้สมัครนายกอบจ.พรรคเพื่อไทย และ“คณิศร ขุริรัง” ผู้สมัครนายกอบจ.อุดรธานี พรรคประชาชน
เห็นชัดจากสัญญาณของศาสดาแดง-ส้ม คือ “ทักษิณ ชินวัตร” และ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่ปรากฎออกมาในช่วงหลายวันที่ผ่านมา
จ.เพชรบุรี เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง “นายกฯปราย” ชัยยะ อังกินันทน์ อดีตนายก อบจ.เพชรบุรี "กฤษณ์ แก้วอยู่“ อดีต สส.เพชรบุรี คอการเมืองเมืองน้ำตาลหวาน ประเมินว่า สนามนี้ไม่เดือดเนื่องจาก ”ตระกูลอังกินันทน์" ผูกขาดการเมืองเพชรบุรีมาอย่างยาวนาน
จ.นครศรีธรรมราช สนามนี้มีผู้สมัคร 4 คน แต่คู่ชิงน่าจะอยู่ที่ “นายกฯต้อย” กนกพร เดชเดโช มารดา “ชัยชนะ เดชเดโช” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ “น้ำ” วารินทร์ ชินวงศ์ จากพรรคภูมิใจไทย สะท้อนจากผลโพลที่เป็นไปอย่างสูสี
สนามเมืองคอนรอบนี้ "บ้านใหญ่เดชเดโช" แชมป์เก่า ถือเดิมพันสูงลิบ จำเป็นต้องจับมือ กับอีกหนึ่งบ้านใหญ่สีฟ้านั่นคือ "ชินวรณ์ บุณยเกียรติ" พี่ชาย พิชัย บุณยเกียรติ คู่แข่ง“นายกฯต้อย” ในรอบที่แล้ว
นั่นเป็นเพราะ “นายกฯต้อย” รู้ดีว่า “น้ำ” วารินทร์ นอกเหนือจะมีพรรคภูมิใจไทยซึ่งมีสส.เมืองคอน2คน เป็นกองหนุนแล้ว ยังมีในส่วนของ "สส.ปุ้ย" พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล อดีตรมว.อุตสาหกรรม แห่งพรรครวมไทยสร้างชาติที่มีแรงแค้นกับ "บ้านใหญ่เดชเดโช" ตั้งแต่เมื่อครั้งยังอยู่ค่ายสีฟ้าด้วยกัน เปิดหน้าชัดเป็นกองหนุนอีกแรง
เท่ากับว่าศึกเมืองคอนรอบนี้ “นายกฯต้อย” ต้องเจอศึกเกมขนาบข้างทั้งจากพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคภูมิใจไทย
“อุบลฯ-สุรินทร์” พท.-ภท. สู้เดือด
ขณะที่เดือน ธ.ค.จะมีการเลือกนายกอบจ.จังหวัดสำคัญอาทิ จ.อุบลราชธานี เป็นการขับเคี่ยวระหว่าง "กานต์ กัลป์ตินันท์" จากเพื่อไทย ปะทะ "จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล" ที่มีภูมิใจไทยเป็นกองหนุน
อย่างที่รู้กัน กานต์ กัลป์ตินันท์ อดีตนายก อบจ.อุบลฯเป็น น้องชายของ "เกรียง กัลป์ตินันท์" อดีต รมช.มหาดไทย โดย "เกรียง" ถือเป็นคนสนิทเจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และมีความใกล้ชิดกับนายใหญ่ จึงมีการคาดหมายกันว่า ทักษิณน่าจะไปเยี่ยมคนเสื้อแดงเมืองดอกบัวบาน
เหนืออื่นใด คู่แข่งคนสำคัญของเสี่ยกานต์คือ “มาดามกบ” จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล เจ้าของพรรคไทรวมพลัง ที่มี สส.อุบลฯ 2 คน
อีกจังหวัดที่น่าสนใจคือ คือ จ.สุรินทร์ ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า“ทักษิณ ชินวัตร” จะลงพื้นที่สุรินทร์ ในช่วงวันที่ 19-20 พ.ย. 2567 เพื่อช่วย “ซ้อน้อง” นัทธมน ศิริวัฒนวานิช ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกอบจ.หมายเลข 3
ทว่า กระแสข่าวดังกล่าวถูกปฏิเสธโดย“ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม” สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย อ้างว่า ไม่ทราบเรื่องทักษิณจะลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ และยืนยันว่า การเลือกตั้งนายก อบจ.สุรินทร์ ในครั้งนี้ ไม่มีตัวแทนของพรรคเพื่อไทย
ในส่วนของสนาม อบจ.สุรินทร์ น่าสนใจตรงที่มีผู้สมัครนายก อบจ. 5 คน เดิมทีมีการโฟกัสไปที่ศึกสายเลือดในตระกูล “มุ่งเจริญพร” จากพรรคภูมิใจไทย ระหว่างเบอร์ 1 ธัญพร มุ่งเจริญพร อดีตประธานสภา อบจ.สุรินทร์ ภรรยาปกรณ์ มุ่งเจริญพร สส.สุรินทร์ พรรคภูมิใจไทยและเบอร์ 2 พรชัย มุ่งเจริญพร อดีตนายก อบจ.สุรินทร์ไม่มีใครให้ความสนใจ “ซ้อน้อง" นัทธมน
หลังมีข่าวทักษิณ จะลงพื้นที่จ.สุรินทร์ ก่อนที่ “นัทธมน” จะมีการเปลี่ยนป้ายหาเสียง โเป็นภาพสวมเสื้อเพื่อไทย และมีข้อความ “สมาชิกพรรคเพื่อไทย”
เป็นเช่นนี้จึงมีการมองว่า หากทั้ง เฮียพร เบอร์ 2 และซ้อหมวย เบอร์ 1 ต้องสู้กันถึงขั้นแตกหัก ทำไปทำมา อาจตัดแต้มกันเอง ซึ่งจะส่งผลให้ เบอร์ 3 ซ้อน้อง ค่ายสีแดงแซงเข้าป้ายเป็นได้
สำหรับศึกชิงนายกอบจ. 76 จังหวัด มีการเลือกตั้งก่อนครบวาระ 29 จังหวัด แบ่งเป็นการเลือกตั้งในปี 2565 ไปแล้ว 2 จังหวัดคือร้อยเอ็ดและกาฬสินธ์ุ มีการเลือกตั้งในปี 2566-2567 รวม 18 จังหวัด และกำลังจะมีการเลือกตั้งอีก 9 จังหวัด
ส่วนที่เหลือจะได้เห็นการเลือกตั้งทั่วประเทศแบบเต็มรูปแบบในวันที่ 1 ก.พ.2568 ปีหน้า