'จาตุรนต์' ชี้เจตนา สว.ส่อขวางแก้ รธน. ปลุกประชาชนกดดันวุฒิสภา
'จาตุรนต์’ ชี้ สว.ส่อเจตนาไม่แก้ รธน. ห่วงอนาคตแก้ รธน.ได้เสียง สว.ไม่ครบ 1ใน3 แนะสภาฯ ต้องยืนยันจุดยืนเดิมประชามติแก้ รธน.ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว แม้ต้องรอเวลา 180 วัน ปลุกประชาชนส่งเสียงกดดันวุฒิสภา
วันที่ 21 พ.ย. 2567 นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงมติเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมาธิการร่วมให้คงไว้ตามที่วุฒิสภาแก้ไข คือใช้หลักเกณฑ์แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้นว่า มีแนวโน้มว่าเมื่อส่งกลับไปให้แต่ละสภาพิจารณา ฝั่งสภาผู้แทนราษฎรจะไม่เห็นด้วยจนมีผลให้ต้องรอ 180 วัน แต่ปัญหาไม่ได้มีแค่ความล้าช้าในการแก้รัฐธรรมนูญ แต่การลงมติของ กมธ.ที่มีผลเช่นนี้ คือเสียงข้างมาก 13 ต่อ 9 ซึ่งเสียงข้างมากทุกเสียงมากจากกมธ.ฝั่ง สว. สะท้อนว่าปัจจัยที่จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นยากมาก คือจำนวนเสียงของ สว.ที่จะไม่ครบตามเงื่อนไขที่ต้องมีมากกว่า 1 ใน 3
นายจาตุรนต์ ระบุว่าถ้าเอาตามร่างของ สว.ก็ไม่ต้องรอ 180 วันแต่จะมีปัญหาว่าพอไปทำประชามติแล้ว โอกาสไม่ผ่านจะสูงมากและส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่เกิดขึ้นขึ้นอีกเลย เพราะฉะนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงต้องยืนยันเสียงของตนที่เคยลงมติเป็นเอกฉันท์ให้การทำประชามติมีเพียงชั้นเดียว จึงจำเป็นต้องไม่เห็นชอบ และเมื่อครบ 180 วันก็มายืนยันร่างของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง
“แม้อาจจะทำให้ช้าและไม่สามาถลงประชามติได้ทันการเลือกตั้งนายก อบจ.ในต้นปีหน้า แต่เราไม่มีทางเลือก ต้องปล่อยให้ช้าและค่อยไปแก้ปัญหากัน เช่น ทำให้ผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสสร.ขึ้นมา โดยกระบวนการทั้งหมดนี้อาจเสร็จไม่ทันในอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ แต่ก็อาจจะเขียนไว้ให้มีผลข้ามไปถึงสภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้าก็อาจทำได้” นายจตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ ย้ำว่า ความล่าช้านี้ไม่ใช่ปัญหาเดียวของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการที่กรรมาธิการร่วมมีมติออกมาเช่นนี้ ทำให้เห็นเจตนาที่ชัดเจนของ กมธ.ฝั่งสว.ที่ต้องการให้กฎหมายประชาติมี 2 ชั้น ซึ่งจะมีผลทำให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นที่เราต้องมองข้ามไปก็คือว่าในขั้นที่มีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญกันในรัฐสภา จะมีเสียงของสว.เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกวุฒิภาหรือไม่ และถ้ามีไม่พอก็เท่ากับว่าเราจะยังแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มี สสร. และมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาไม่ได้
ในอนาคตแม้ พ.ร.บ.ประชามติจะกลับมามีเนื้อหาตามที่สภาผู้แทนราษฎรต้องการ และทำให้การทำประชามติมีโอกาสผ่านสูงขึ้นก็จริง แต่ประชามติครั้งแรกจะไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย และพอถึงเวลาพิจารณากันในรัฐสภาถ้าไม่มีเสียงครบตามเงื่อนไข โดยเฉพาะถ้าไม่มีเสียงของสว.เกินกว่า 1 ใน 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็จะตกไป
ดังนั้นสิ่งที่สังคมไทยจะช่วยกันคิดก็คือประชาชนจะต้องสื่อสารกับพรรคการเมืองทั้งหลายให้ช่วยกันหาทางที่จะผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จลุล่วงให้ได้ และช่วยกันส่งเสียงกับสมาชิกวุฒิสภาให้พวกเขาเห็นด้วยว่าประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญกันขนานใหญ่ เพราะรัฐธรรมนูญที่มาจากการยึดอำนาจรัฐประหารและมีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างมากนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาบ้านเมืองต่อไป
“เราจะต้องได้เสียง สว.เกินกว่า 1 ใน 3 มาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ” อันนี้คือจุดสำคัญที่ต้องมาช่วยกันคิดตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป" นายจาตุรนต์ระบุ