ติดหล่ม ‘อนุรักษ์ฯ’ หรือ ‘พยัคฆ์ติดปีก?’

ติดหล่ม ‘อนุรักษ์ฯ’ หรือ ‘พยัคฆ์ติดปีก?’

การเมืองไทย อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้เสมอ และ “นิติสงคราม” กับ “ตุลาการภิวัฒน์” ทำได้ทุกอย่าง เพื่อบังคับวิถีการเมืองไทย

KEY

POINTS

  • สำหรับทิศทางในบริบท “การเมืองโดยแท้” คาดการณ์ว่า อดีตนายกฯทักษิณ จะเป็น “พยัคฆ์ติดปีก” แน่นอน

  •  อดีตนายกฯน่าจะเคลื่อนไหวทางการเมืองหนักขึ้น แรงขึ้นตามสไตล์ High risk high return แต่ก็จะระวังตัวมากขึ้นด้วย เพื่อป้องกันความผิดพลาด เพราะเดิมพันไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่รวมถึงลูกสาว

  • จับตาแนวทางพาน้องสาว "อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์" กลับบ้าน

มติสั้นๆ ของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พ.ย.67 ส่งนัยทางการเมืองหลายประการ

ออกตัวก่อนว่า ศาลอาจไม่ได้มุ่งหมายขนาดที่ผมกำลังจะเล่านี้ แต่มติที่ออกมา ถูกนำไปตีความทางการเมืองอย่างกว้างขวางทันที

1.พฤติการณ์ 6 เรื่องที่ร้องมา มีเรื่องเดียวที่มีมูลอยู่บ้าง คือ เอ็มโอยู 44 ส่วนที่เหลือไม่มีมูลเลย

2.หากข้อเท็จจริงไม่ขยายไปมากกว่านี้ แปลว่านี่คือการปลดล็อกคดียุบพรรคเพื่อไทย ในข้อหา “ครอบงำ ชี้นำ สั่งการ” ใช่หรือไม่

พูดกันแบบไม่เข้าข้าง ก็ต้องยอมรับว่าแนวโน้มมันเป็นแบบนั้น เพราะการกระทำมันจบไปแล้ว โดยเฉพาะการตั้งรัฐบาลแพทองธารในบ้านจันทร์ส่องหล้า การปรับพรรคพลังประชารัฐพ้นจากการร่วมรัฐบาล หรือแม้แต่การที่รัฐบาลแพทองธาร แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ด้วยประเด็นและเนื้อหาคล้ายคลึงกับที่อดีตนายกฯทักษิณพูดบนเวทีของเนชั่น

ฉะนั้นถ้าไม่มีพฤติกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอีก สิ่งที่ทำมาแล้วก็อาจไม่นำไปสู่การยุบพรรคใช่หรือไม่

3.ต้องไม่ลืมว่า “คดียุบพรรค” สุดท้ายจะมาจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

หากคิดเทียบกับคดียุบพรรคก้าวไกล ศาลนำข้อเท็จจริง และคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองฯ มาใช้เป็นฐานในการพิจารณา และสั่งยุบก้าวไกล ฉะนั้นหากมีคดียุบพรรคเพื่อไทยในข้อเท็จจริงเหล่านี้ (จากคดีล้มล้างฯ ซึ่งศาลไม่รับคำร้อง) ศาลย่อมไม่สั่งยุบ เพราะมีคำสั่งไม่รับคำร้องคดีล้มล้างฯ กำกับอยู่ระดับหนึ่ง

แน่นอน “คำสั่ง” ไม่ใช่ “คำวินิจฉัย” ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ “เป็นที่สุดและผูกพันทุกองค์กร” แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำสั่งนี้ได้สร้างบรรทัดฐานสำคัญ 3 ประการ และเปิดช่องให้พรรคเพื่อไทยนำไปใช้เป็นเกราะป้องกันตัว นั่นก็คือ

หนึ่ง การกระทำนั้นต้องดำเนินอยู่ - แต่ 6 พฤติการณ์ในคำร้องนี้ มีถึง 5 พฤติการณ์ที่จบไปแล้ว

สอง ไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ - ศาลสรุปไปแล้วว่าพฤติการณ์ทั้ง 6 เท่าที่ร้องมา หากไม่ทำอะไรเพิ่มกว่านี้ ยังห่างไกลเกินกว่าเหตุ

สาม วิญญูชนต้องคาดเห็นได้ว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ

4. เอ็มโอยู 44 เป็นพฤติการณ์เดียวที่ยังไม่จบ เพราะถือว่ามีมูลอยู่บ้าง หากรัฐบาลแพทองธารเดินหน้าต่อ ยังมีความเสี่ยง และถูกรื้อฟื้นขึ้นมาได้ทุกเมื่อ

เพราะเป็นพฤติการณ์เดียวจาก 6 พฤติการณ์ที่นำมาสู่การโหวตของตุลาการ เพราะเสียงไม่เป็นเอกฉันท์

และหากพิจารณาจากข้อเท็จจริง ประเด็นเอ็มโอยู 44 ก็ถือว่ามีความเสี่ยงอย่างยิ่ง เนื่องจากรัฐบาลเตรียมนำเข้าคณะรัฐมนตรี ตั้ง JTC และเดินหน้าเจรจาต่อไป ซึ่งแต่ละเรื่องย่อมกลายเป็นข้อเท็จจริงใหม่ที่นำไปร้องศาลได้อีก โดยเฉพาะหากเร่งรัด-รวบรัด ไม่นำเข้าขอความเห็นชอบจากรัฐสภา หรือไม่เปิดประชาพิจารณ์​

5.อัยการสูงสุดส่งหนังสือแจ้งกลับมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับจริง ตามข่าวที่ “เนชั่นทีวี” เคยรายงานไป แปลว่านอกจากแจ้งว่าได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว (สอบใครบ้าง) ยังมีความเห็นของอัยการสูงสุดแนบมาด้วยว่า คำร้องไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 นำมาสู่มติไม่รับคำร้องของศาล

ถือเป็นทางออก ทางลง และการระวังหลังอย่างดี ไม่ให้มีการย้อนเกล็ดได้ เนื่องจากสององค์กรในกระบวนการยุติธรรมเห็นตรงกัน

เรื่องนี้ ถ้ามองในมุมกลับ หากศาลต้องการรับคำร้องไว้พิจารณา ก็อาจไม่จำเป็นต้องถามอัยการสูงสุดเลยด้วยซ้ำ เหมือนคำร้องอื่นๆ ในอดีตที่ผ่านมา

6.ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และท่านปัญญา อุดชาชน ที่กำลังจะครบวาระ เป็นตุลาการสองท่านที่ลงมติเป็นบวกต่อผู้ถูกร้องในคำร้องนี้

สำหรับทิศทางในบริบท “การเมืองโดยแท้” คาดการณ์ได้แบบนี้

 - อดีตนายกฯทักษิณ จะเป็น “พยัคฆ์ติดปีก” แน่นอน

 - อดีตนายกฯน่าจะเคลื่อนไหวทางการเมืองหนักขึ้น แรงขึ้นตามสไตล์ High risk high return แต่ก็จะระวังตัวมากขึ้นด้วย เพื่อป้องกันความผิดพลาด เพราะเดิมพันไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่รวมถึงลูกสาว

 - อดีตนายกฯจะทรงอิทธิพลมากขึ้น เพราะเล่นใหญ่ตั้งแต่เวทีอุดรฯ รวมถึงให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ แล้วทุกอย่างเป็นไปตามที่คอการเมืองคาดการณ์ คือ เหมือนรู้สัญญาณมาก่อนว่างานนี้ไม่โดน

 - จับตาแนวทางพาอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์กลับบ้าน

งานนี้ต้องเกาะติดระเบียบกระทรวงยุติธรรมที่จะออกหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงว่าด้วย “สถานที่คุมขังอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ” ว่าหมายถึงอะไรบ้าง ต้องไม่ลืมสิ่งที่เรียกว่า House arrest

ที่สำคัญต้องจับตากฎกระทรวงและระเบียบว่าด้วย “เรือนจำเอกชน” ที่จะออกตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯ มาตรา 6

 - คดีการเมืองอาจหลุดบ่วงทั้งหมดจริงๆ หากไม่ทำอะไรผิดพลาดเพิ่มเติม หรือก่อเรื่องใหม่ๆ แต่อดีตนายกฯยังมีคดี 112 เป็นบ่วงอาญาที่ผูกขาอยู่

แต่ทั้งหมดที่ผมสรุปมา เป็นความจริงเฉพาะวันนี้ หรือห้วงเวลานี้เท่านั้น เพราะในอนาคต ทุกอย่างอาจเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ

เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีว่า การเมืองไทย อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้เสมอ และ “นิติสงคราม” กับ “ตุลาการภิวัฒน์” ทำได้ทุกอย่าง เพื่อบังคับวิถีการเมืองไทย!