ยึดบ่วงศาลฯ ผูกพันรัฐสภา แก้เกมรื้อ‘รัฐธรรมนูญ 2560’
แม้ "พท.-ปชน." จะเห็นสอดรับ ต่อการเร่งเกมแก้รธน.ผ่านประชามติ2ครั้ง ทว่าต้องผ่านชั้น กก.กฎหมายสภาฯ ที่ยังคงโต้แย้งว่าขัดคำวินิจฉัยศาลรธน. แม้ผ่านไปได้ ยังมีด่านสว. ที่ยึดผลผูกพันของคำวินิจฉัย4/2564
KEY
POINTS
Key Point :
- ความพยายามฟื้น การแก้ มาตรา 256 ของรธน.60 และเพิ่มหมวด "สสร." ให้ยกเครื่องเนื้อหา รธน.ใหม่ ผ่าน "กมธ.การเมือง" ดูท่าต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน
- แม้ ท่าทีของ ฟาก "รัฐบาล" กับ "พรรคนำฝ่ายค้าน" จะสอดคล้อง สะท้อนจากการตอบรับหารือระหว่าง "วันนอร์" - "พริษฐ์ วัชรสินธุ"
- ที่มีความพยายาม เร่งบรรจุการแก้มาตรา 256 ให้รัฐสภาพิจารณา โดยไม่ต้องทำประชามติก่อน ตามแนวทางทำประชามติ2ครั้ง
- ทว่าประเด็นนี้ต้องถูกกลั่นกรอง จาก กรรมการกฎหมายของสภาฯ ว่า เป็นเรื่องที่แย้งกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่4/2564 หรือไม่
- ที่ระบุสาระสำคัญ คือ ก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องถามความประสงค์ของประชาชนก่อน ซึ่งมีผลผูกพันต่อรัฐสภา
- แม้จะผ่านชั้นกลั่นกรองไปได้ ยังมีด่าน สว. ที่รอโต้แย้ง และอาจวนลูปไปสู่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ วินิจฉัยชี้ขาด
ในความพยายาม เร่งเครื่อง “รื้อรัฐธรรมนูญ 2560” ที่ “พรรคประชาชน” ใช้กลไกของรัฐสภา เดินหน้า แก้มาตรา 256 เพิ่มหมวดใหม่ ให้มี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ สสร. เป็นคณะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่ผ่าน “ขั้นตอนออกเสียงประชามติ” ก่อน
ดูเหมือนได้รับการตอบรับจาก “พรรคเพื่อไทย” ฐานะแกนนำรัฐบาล หลังจากที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ฐานะกุนซือคนสำคัญของรัฐบาล สนับสนุนต่อการสร้างหลากหลายแนวทางที่จะนำไปสู่ กระบวนการจัดตั้ง สสร.ที่ถือทิศทางที่ประชาชนสบายใจ
การตัดสินใจร่วมหอลงโรงระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” กับ “พรรคประชาชน” สะท้อนได้จากการตอบรับการเข้าพบประธานรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา กับตัวแทนของ กรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน นำโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคประชาชน
ที่มีประเด็นคือ ขอให้ “วันนอร์” กลับคำตัวเอง ผ่านการทบทวนการบรรจุวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ ว่าด้วยสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน เคยเสนอต่อรัฐสภาเมื่อต้นปี 2567
ซึ่งรอบนั้น วันนอร์ปฏิเสธบรรจุเรื่อง เพราะมองว่า “ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” ที่กำหนดชัดเจนว่า
“หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ออกเสียงประชามติเสียก่อน ว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยจึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป”
ในวงหารือ พริษฐ์หยิบยก “ข้อมูลใหม่” เพื่อนำมาโต้แย้งความเห็นฝ่ายกฎหมายสภาฯ 2 เรื่อง คือ
1. “ความเห็นส่วนบุคคล” ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ที่เขียนค่อนข้างชัดว่า ทำประชามติ 2 ครั้งเพียงพอ
และ 2. ข้อมูลที่ได้จากการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับ “นครรินทร์ เมฆไตรรัตน์” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ที่มีการบันทึกข้อความการหารือดังกล่าวไว้อย่างละเอียด
ทว่า ในข้อมูลใหม่ ที่เสนอต่อที่ประชุม ระหว่าง “วันนอร์” กับ “กมธ.การเมือง” นั้น จะมีผลทำให้ พลิกมติของ “ฝ่ายกฎหมายสภาฯ” ที่เคยวินิจฉัยไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อรื้อใหญ่รัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่
เบื้องแรก ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาฯ ฐานะประธานกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร โต้แย้งว่า “ความเห็นส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เหมือนอย่างคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ”
แต่ใช่ว่าจะไม่รับฟัง เพราะประธานรัฐสภาบอกไว้ในวงหารือด้วยว่า “พร้อมรับฟังประเด็น”
ดังนั้น การส่งสัญญาณจากวันนอร์ ในฐานะตัวแทนประมุขนิติบัญญัติ ที่โยงได้ถึง “โรดแมป” ของ “รัฐบาล-เพื่อไทย” ต่อการแก้รัฐธรรมนูญ และอาจแปลความได้ว่า มีความพยายามหาทิศหาทางที่ “ประชาชน” ได้สบายใจ
ตามขั้นตอนของรัฐสภาต่อกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ร่างใดที่เสนอต่อสภาฯ ซึ่งไม่ถูกบรรจุตามกำหนดเวลา ให้ถือว่า “ไร้สถานะ” โดยประเด็น “รัฐธรรมนูญ” มีข้อกำหนดให้ประธานรัฐสภาต้องบรรจุเรื่องเข้าสู่วาระประชุมภายใน 15 วัน หลังจากที่ได้รับเรื่องและผ่านการตรวจสอบ
โดย “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อตั้ง สสร.” ที่เคยเสนอมาแล้วเมื่อต้นปี 2567 ที่ถูก “กรรมการกฎหมาย ของสภาฯ” โต้แย้งและไม่บรรจุเข้าวาระให้ เลยเวลากำหนด 15 วัน ถือว่า “ไร้สถานะ” อีกทั้งข้อบังคับไม่ได้ระบุแนวทางไว้ว่าต้องทำอย่างไร
ดังนั้น เท่ากับว่า กระบวนการต้องเริ่มต้นใหม่ โดยต้องยื่น “ร่างแก้ไข” กลับเข้ามาใหม่ เพื่อให้มีสารตั้งต้นที่กรรมการกฎหมายของสภาฯ จะยกมาพิจารณา และแม้ว่ากรรมการกฎหมายจะพอรับฟังข้อมูลใหม่ได้ แต่ไม่ได้แปลว่า เรื่องที่ถูกบรรจุจะผ่านด่านโดยง่าย
เพราะยังมีอุปสรรคที่เป็นเงื่อนไขขวางสำคัญ ทั้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่มีผลผูกพันต่อ “การแก้รัฐธรรมนูญ” ที่ผูกไปยังการตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภา ที่ยอมรับว่า มีเสียงส่วนใหญ่ นอกเหนือจาก “พรรคประชาชน-พรรคเพื่อไทย” ไม่เห็นพ้องที่จะลุยไฟ แก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ผ่านประชามติตามคำวินิจฉัยศาล
โดยเฉพาะ “สว.” ที่ถือเป็นเกณฑ์บังคับว่า หากไม่ได้เสียงรับหลักการ 1 ใน 3 ของ สว.ที่มี หรือ 67 เสียง ให้ถือว่า “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ”นั้น ต้องตกไป
ดังนั้น ในความพยายามหาทางไป และให้ “ประชาชน” สบายใจ สุดท้ายหนีไม่พ้นต้องเดินตามเกมที่ “คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ” สร้างผลผูกพันกับ “รัฐสภา”
และยิ่งหากเร่งเกม อาจผลักไปสู่จุดที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอีกครั้ง ก็เป็นได้.