เบื้องหลังข้อพิพาท ‘เขากระโดง’ – ‘ณฐพร’ ฟ้องศาลเอาผิด ‘นักการเมือง’ หลังฉาก

เบื้องหลังข้อพิพาท ‘เขากระโดง’ – ‘ณฐพร’ ฟ้องศาลเอาผิด ‘นักการเมือง’ หลังฉาก

"...เรื่องนี้อาจไม่จบแค่รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หรืออธิบดี เท่านั้น แต่อาจลุกลามบานปลายไปถึง “เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย” คนปัจจุบันที่มีนามสกุล “ชิดชอบ”..."

KEY

POINTS

  • คุยกับ “ณฐพร โตประยูร” อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
  • หนึ่งในนักร้องยื่นฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตฯ เอาผิด “รมต.-ปลัด มท.-อธิบดีกรมที่ดิน” ปมเขากระโดง
  • ยกพยานหลักฐานชัด คำวินิจฉัยกฤษฎีกา-คำพิพากษาศาลอันถึงที่สุด บ่งชี้ที่ดิน 5 พันกว่าไร่ของ รฟท.
  • อ้าง “ทนายความ” บางตระกูล โต้แย้งถึงกรมที่ดิน เบื้องหลังมติไม่ยอมเพิกถอนเอกสารสิทธิ
  • จับตา “นับหนึ่ง” เดินเรื่องใหม่ รอศาลพิพากษาอีกคำรบ

เป็นข้อพิพาทที่ยังไม่รูดม่านปิดฉากลงเสียที สำหรับกรณี “ที่ดินเขากระโดง” แม้จะผ่านคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้วหลายศาล ข้อเท็จจริงบ่งชี้ตรงกันว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดงกว่า 5,083 ไร่ เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก็ตาม

พลันที่คณะกรรมการสอบสวนฯ ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ของกรมที่ดิน มีมติเอกฉันท์ “ไม่เพิกถอน” เอกสารสิทธิบริเวณเขากระโดงกว่า 5 พันไร่ดังกล่าว โดยอ้างว่าคำพิพากษาของศาลต่าง ๆ ที่ผ่านมา เป็นคำพิพากษารายบุคคลรวม 35 คน มิใช่พื้นที่ทั้ง 5 พันไร่ จึงขอให้ รฟท.ไปพิสูจน์ที่ดินดังกล่าวอีกครั้งในศาล

เรื่องนี้ร้อนถึง รฟท.ต้องดำเนินการอุทธรณ์คัดค้านมติของคณะกรรมการสอบสวนฯของกรมที่ดินดังกล่าวในทันที โดยอ้างว่าการตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ตามมาตร 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินดังกล่าว มิชอบด้วยกฎหมาย ส่อเป็น “โมฆะ” เนื่องจากมีกรรมการแค่ 4 คน ไม่ครบ 5 คนตามกฎหมาย นอกจากนี้ รฟท.ยังดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครองอีกครั้ง เพื่อให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่มิชอบกว่า 5 พันไร่ดังกล่าวด้วย

ประเด็นที่ดินเขากระโดงที่ยังคาราคาซังมาหลายสิบปีจนถึงวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในจำนวน 5 พันกว่าไร่ดังกล่าว มีอย่างน้อย 200 กว่าไร่อยู่ในชื่อของคนตระกูล “ชิดชอบ” บ้านใหญ่แห่งบุรีรัมย์ ทั้งในนามบุคคล และนิติบุคคล นั่นจึงทำให้การเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินดังกล่าว ดำเนินการมาอย่างล่าช้า และยากลำบากมาโดยตลอดหรือไม่

ขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยที่มีหน้าที่กำกับดูแลกรมที่ดินในปัจจุบัน มีรัฐมนตรีชื่อ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่มี “เนวิน ชิดชอบ” เป็นครูใหญ่ ทำให้สังคม “กังขา” ถึงการทำหน้าที่ว่า เป็นไปตามครรลองกฎหมาย และหลักนิติธรรมหรือไม่อีกด้วย

นั่นจึงทำให้บรรดา “นักร้อง” หลายคนยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ เพื่อให้ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ “ที่ดินเขากระโดง” ดังกล่าว เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปโดยชอบ หนึ่งในนั้นคือ “ณฐพร โตประยูร” อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และนักร้องเรียนระดับมืออาชีพ ได้ยื่นฟ้องคดี “ที่ดินเขากระโดง” ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อเอาผิด “รัฐมนตรี-อธิบดีกรมที่ดิน-เจ้าหน้าที่รัฐทีเกี่ยวข้อง” กับเรื่องนี้ โดยศาลนัดตรวจคำฟ้อง และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 ธ.ค. 2567 เวลา 09.30 น.

เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น กรุงเทพธุรกิจต่อสายคุยกับ “ณฐพร” ถึงประเด็นดังกล่าว โดยเขายืนยันชัดเจนหลายครั้งผ่านการให้สัมภาษณ์ว่า “ที่ดินเขากระโดง” เป็นของ รฟท.อย่างแน่นอน ยึดจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา คำพิพากษาของศาลฎีกา 2 สำนวน และคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งทั้งหมดถึงที่สุดไปแล้ว

“ณฐพร” ระบุว่า ศาลทุกศาลบอกว่า แต่ละคดีมีการบุกรุกที่ดิน รฟท. จึงมีการสั่งให้เพิกถอนสิทธิ ทีนี้คำพิพากษาพวกนี้ผูกพัน ไม่ใช่แค่กรณี 35 คนที่เคยเป็นจำเลย แต่เป็นการวินิจฉัยที่ดินกว่า 5 พันไร่ตรงบริเวณเขากระโดงว่าเป็นของ รฟท. นอกจากนี้ในคำพิพากษาของศาลปกครอง ยังวินิจฉัยว่า การทำหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดิน และกรมที่ดิน ดำเนินการล่าช้า ทมั้งที่มีหน้าที่ปกป้องทรัพย์สินของแผนดิน และของเอกชน ซึ่งการเพิกถอนเอกสารสิทธิบริเวณเขากระโดง 5 พันกว่าไร่ ต้องเพิกถอนทั้งหมด ไม่ใช่ทำรายแปลง เพราะที่ผ่านมากรมที่ดินเคยออกเอกสารสิทธิ สค.1 ให้ รฟท.มาแล้ว หลักฐานมีมาแล้ว มาอ้างว่ายังไม่รังวัดแผนที่ไม่ได้ เพราะทุกหน่วยงานระบุตรงกันว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นของ รฟท.

“ณฐพร” ระบุอีกว่า ยกตัวอย่างจากคำพิพากษาล่าสุดของศาลปกครองสูงสุดที่ผ่านมา ได้หยิบยกคำพิพากษาตอนหนึ่งของศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลอื่น ๆ ยืนยันข้อเท็จจริงตรงกันว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดง 5 พันกว่าไร่เป็นของ รฟท. เพราะฉะนั้นเมื่อกรมที่ดินไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นของชาวบ้าน หรือของนักการเมืองบางคน หรือของใครก็ตาม จึงถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และส่อเอื้อประโยชน์ให้บุคคลอื่น ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของกรมที่ดิน ไม่ใช่ให้ รฟท.ไปไล่ฟ้องแล้วสั่งให้เพิกถอน

“เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติหน้าที่ จึงส่อขัดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ขัดหลักความยุติธรรม และกฎหมายอื่น ๆ ผมในฐานะพลเมืองมีหน้าที่โดยตรง และเคยเป็นอดีตเลขานุการ กมธ.ที่ดินฯ สภาผู้แทนราษฎร เคยวินิจฉัยคดีนี้ไปแล้ว และเคยยื่นร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปแล้ว เลยใช้สิทธิได้รับความเสียหาย โดยยื่นฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตฯ เอาผิดรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องตามประมวลจริยธรรมฯ ส่วนปลัดกระทรวง และอธิบดี ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินฯ มาตรา 82” ณฐพร ระบุ

ส่วนสาเหตุที่ต้องไปยื่นคำร้องถึง “แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ ในวันที่ 2 ธ.ค.นี้นั้น “ณฐพร” ยืนยันว่า นายกฯเป็นหัวหน้ารัฐบาล มีหน้าที่และความจำเป็นต้องสั่งการ ยกตัวอย่างสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ได้นำข้อพิพาทเรื่อง “ดาวเทียม” เข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณา และตั้งคณะทำงานชุดหนึ่งขึ้นมาดำเนินการ ดังนั้นนายกฯ มีหน้าที่ดำเนินการ ถ้าไม่ดำเนินการ จะยื่นฟ้องเอาผิดนายกฯ ตามประมวลจริยธรรมฯ เช่นกัน

“ณฐพร” ระบุอีกว่า เรื่องนี้อาจไม่จบแค่รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หรืออธิบดี เท่านั้น แต่อาจลุกลามบานปลายไปถึง “เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย” คนปัจจุบันที่มีนามสกุล “ชิดชอบ” เพราะปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีชื่อถือครองในที่ดินบริเวณเขากระโดงด้วย ดังนั้นจะมีการยื่นฟ้องเอาผิดตามประมวลจริยธรรมฯ เพิ่มเติมในเร็ว ๆ นี้ 

“ตอนนี้ความผิดของเรื่องนี้สำเร็จทั้งหมดแล้ว จึงฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯให้ดำเนินการ ส่วนประเด็นอื่น ๆ จะทำเพิ่มเติมอีกตลอดเวลา” ณฐพร ยืนยัน

ส่วนสาเหตุสำคัญที่คณะกรรมการสอบสวนฯ กรมที่ดิน มติเอกฉันท์ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิบริเวณเขากระโดงกว่า 5 พันไร่นั้น “ณฐพร” อ้างว่า อาจเป็นเพราะ “ทนายความ” ของนักการเมืองใหญ่ตระกูลหนึ่ง ยื่นเรื่องคัดค้านไปยังคณะกรรมการสอบสวนฯ โดยอ้างว่าประเด็นทั้งหมดข้างต้นยังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงยังไม่มีผลบังคับใช้ หรือระยะห่างทางรถไฟ รวมถึงประเด็นอื่น ๆ เช่น คำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดนั้น เป็นการบังคับผลแค่ 35 คนที่ถูกยื่นฟ้อง ไม่เกี่ยวกับที่ดินทั้งแปลง 5 พันกว่าไร่ เป็นต้น

“แต่เรื่องพวกนี้ไม่ใช่ประเด็นหลัก ประเด็นคือกฤษฎีกาวินิจฉัย ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปหมดแล้ว ยืนยันว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นของ รฟท. ไปแล้ว มันยุติแล้ว เพราะคำพิพากษาศาลเหนือกว่าข้อสังเกตตามกฎหมายของทนายความ แต่พอทนายความทำแบบนี้ คณะกรรมการสอบสวนฯ กรมที่ดิน เอาข้อสังเกตของทนายความมาโต้แย้งคำพิพากษาศาล จึงไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ ทำให้เรื่องล่าช้าออกไป จะมาอ้างคำพิพากษาศาลมีผลแค่รายบุคคล อ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้” ณฐพร ระบุ

ณฐพร ทิ้งท้ายว่า การกระทำดังกล่าวของทนายความนักการเมืองบางตระกูล และกรมที่ดิน เป็นการใช้กฎหมายแบบ “ศรีธนญชัยลอดช่อง” ซึ่งใช้ไม่ได้ เพราะโดยหลักกฎหมายเมื่อศาลพิพากษาแล้วว่าที่ดินกว่า 5 พันไร่ดังกล่าวเป็นของ รฟท. กรมที่ดินกับ รฟท.ไปทำรังวัด โดย รฟท.เสียเงินไปกว่า 1 ล้านบาทเพื่อดำเนินการไปแล้ว แต่พอรังวัดเสร็จกรมที่ดินดันบอกว่าไม่ใช่ ถามว่าเอกสารสิทธิของ รฟท. คือ สค.1 ที่ออกเมื่อปี 2498 เขียนชัดว่า ที่ดิน 5,083 ไร่ 80 วา 8 ศอก เป็นของ รฟท. และการบุกรุกเอกสารสิทธิเหล่านี้เกิดขึ้นภายหลังปี 2498 ทั้งสิ้น ดังนั้นเอกสารสิทธิเหล่านี้จึงเป็นของ รฟท.ทั้งหมด

ทั้งหมดคือเงื่อนปมหนึ่งในข้อพิพาทระหว่าง “กรมที่ดิน” และ “รฟท.” ในประเด็น “ที่ดินเขากระโดง” ซึ่งยังไม่มีวี่แววว่าจะได้ข้อยุติลง จนเรื่องกลับมา “นับหนึ่ง” รอคำพิพากษาในศาลอีกครั้ง