'ปชน.' ขอ 'วันนอร์' เร่งนัดวิป3ฝ่าย นัดเวลาถกแก้รธน.รายมาตรา
"ณัฐวุฒิ" ขอบคุณ "วันนอร์" บรรจุร่างแก้รธน.ในวาระประชุมรัฐสภา ขอเพิ่มให้เร่งรัดประชุมวิป3ฝ่าย กำหนดกรอบเวลาพิจารณา มั่นใจเร่งทำ ได้สสร. ทำรธน.ใหม่ทันรัฐบาลนี้
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า กมธ.ได้นัดประชุมอีกครั้ง วันที่ 4 ธ.ค. เพื่อพิจารณารายงานของกมธ.ครั้งสุดท้ายและพิจารณามติของที่ประชุม อย่างไรก็ดียอมรับว่ามีกมธ.บางคนอยากให้ระบุในรายงานถึงความเห็นต่างของกมธ.ในประเด็นที่เป็นข้อถกเถียง ดังนั้นที่ประชุมต้องพิจารณาว่าจะระบุไว้ในรายงานได้หรือไม่
เมื่อถามว่า ทั้งสส.และสว.ต่างยังยืนยันจุดยืนของตัวเอง มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จในรัฐบาลนี้หรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตอนแรกไม่มั่นใจ แต่ขณะนี้มีความพยายามกระตุ้นว่าสามารถทำได้ โดยไม่ต้องรอร่างพ.ร.บ.ประชามติที่ากจะผ่านในเวลาอันสั้น ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าสามารถทำประชามติ 2 ครั้งเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
"เป็นความพยายามเบื้องต้นในการเดินหน้ารัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อคกติกาบางอย่าง หรือเงื่อนไขบางอย่างที่ยังเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไทย ผมต้องการเห็นความจริงใจและความตั้งใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากประชาชน แม้จะไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน แต่ก็คงต้องพยายามให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ได้ปักหมุดไว้ว่าหากมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่เกิดจาก ส.ส.ร. ในปี 70 จะสวยงามที่สุด และยังคาดหวังว่าจะผ่านในปี 70 อยู่ แต่จะทันหรือไม่ทันสภาฯ ชุดนี้ ผมไม่ทราบ แต่ขอเอาเป็นหมุดหมายว่าให้ทันในปี 70 ไว้ก่อน“ นายณัฐวุฒิ กล่าว
เมื่อถามว่า หากทำประชามติแค่ 2 ครั้งประเมินว่าจะเห็น ส.ส.ร. ได้ทันปี 2568 หรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า "มีความเป็นไปได้สูง หากไม่มีกลไกอื่นหรือมีอุบัติเหตุทางการเมือง จนทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น เดินหน้าไม่ได้"
เมื่อถามถึงกรณีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ฐานะประธานรัฐสภา บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 17 ฉบับเข้ารัฐสภา เดือนธ.ค. นี้ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ขอขอบคุณที่นายวันมูหะมัดนอร์ ที่มีความมุ่งมั่น ความตั้งใจ อยากให้มีการประชุมในเดือนธ.ค.นี้ แต่ต้องขอเรียกร้องให้ประธานรัฐสภาประสานเพื่อนัดประชุมวิป3ฝ่าย เพื่อหารือว่าจะประชุมร่วมรัฐสภาในวันไหน จะใช้กรอบเวลาเท่าไหร่ จะมีกระบวนการพิจารณาหรือลงมติอย่างไร.