'วันนอร์' หวัง เวทีประชุมรัฐสภาเอเชีย-แปซิฟิก สร้าง สิทธิสุขภาพเท่าเทียม

'วันนอร์' หวัง เวทีประชุมรัฐสภาเอเชีย-แปซิฟิก สร้าง สิทธิสุขภาพเท่าเทียม

"วันนอร์" กล่าวต้อนรับผู้ประชุมเวทีรัฐสภา เอเชีย-แปซิฟิก เรื่องสุขภาพ หวังเป็นก้าวสำคัญต่อสร้างสิทธิสุขภาพเท่าเทียม ด้าน "รมว.สธ." ย้ำพร้อมส่งเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพ

ที่โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเทลส์ และทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พร้อมด้วยนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข นายมาร์ติน จุนกอง เลขาธิการสหภาพรัฐสภา นางสาวไซมา วาเซด ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้แทนรัฐสภาประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คณะทูตานุทูตประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ ร่วมประชุมรัฐสภาภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยความมั่นคงด้านสุขภาพระดับโลก 

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่งในพิธีเปิดว่า ในนามของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย มีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้ต้อนรับทุกท่าน สู่การประชุมรัฐสภาภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยความมั่นคงทางสุขภาพระดับโลก  ตนขอขอบคุณรัฐสภาไทย สหภาพรัฐสภา และองค์การอนามัยโลก ที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญ ที่สมาชิกรัฐสภาของประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดี จากประเทศต่างๆในภูมิภาค รวมทั้งได้พบปะหารือกันถึงความท้าทาย และแนวทางการส่งเสริมบทบาทของรัฐสภา และความร่วมมือในการสนับสนุน การพัฒนาความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศ ภูมิภาค และโลกต่อไป 

\'วันนอร์\' หวัง เวทีประชุมรัฐสภาเอเชีย-แปซิฟิก สร้าง สิทธิสุขภาพเท่าเทียม

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเตรียมความพร้อมป้องกัน และตอบโต้ภัยโรคระบาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้น และเกิดผลกระทบรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินบทบาทที่สำคัญ ในด้านความมั่นคงทางสุขภาพระดับโลก โดยเข้าเป็นสมาชิกของวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ประเทศไทยสามารถจัดการตอบโต้การระบาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จนได้รับการประเมินตัวชี้วัด ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพ ในลำดับต้นๆของโลก” รมว.สาธารณสุข กล่าว 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทย ยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความมั่นคงทางสุขภาพ ผ่านนโยบายสำคัญ ได้แก่ การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค และการพัฒนาขีดความสามารถในระดับชาติ การเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ ให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ การแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ด้วยการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันที่ต้นเหตุ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในระบบสุขภาพ และการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายทุกภาคส่วน และสุขภาพภาคประชาชน โดยตนเชื่อมั่นว่า การประชุมในครั้งนี้ จะส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือ นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ในการเสริมสร้างความมั่นคง
ด้านสุขภาพในภูมิภาคของเราต่อไป

ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวบนเวทีเพื่อต้อนรับผู้ที่เข้าร่วมประชุมตอนหนึ่งโดยหวังว่าจะเป็นการสร้างความร่วมมือพหุภาคีเพื่อสร้างหลักประกันให้ทุกประเทศรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณะที่อุบัติขึ้นในอนาคต ทั้งนี้สมาชิกรัฐสภามีความเท่าทันต่อข้อมูลมีบทบาทเชิงรุกต่อการใช้อำนาจนิติบัญญัติบูรณาการเชื่อมโยงพันธกรณีระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับท้องที่การผนึกกำลังของสมาชิกรัฐสภาเครือข่ายที่มีส่วนร่วมจึงเป็นหัวใจขับเคลื่อนด้านสุขภาพอย่างเป็นระบบที่ก้าวหน้าอย่างสำคัญ 

"ประเทศไทยมุ่งหมายใช้โอกาสที่สมาชิกรัฐสภาทั่วภูมิภาคร่วมประชุมเป็นก้าวแรกในการพัฒนาความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนทัศนะ ประสบการณ์การปฏิบัติที่ดีเพื่อจัดการความท้าทายของปัญหา และสร้างความมั่นคงในด้านสุขภาพของประชาชน และร่วมออกแบบระบบสาธารณสุขที่เป็นธรรมและเท่าเทียมให้ประชาชน" นายวันมูหะนัดมอร์ กล่าว.