'คำนูณ' ผิดหวังเสวนา ทร.ไม่โชว์จุดยืนปมแบ่งผลประโยชน์ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
'คำนูณ' ผิดหวังเสวนา ทร.ไม่แสดงท่าที ปมแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา แต่ได้ความรู้อาณาเขต-จุดยืนสร้างสมดุลระหว่างประชาชน-นโยบายรัฐ-กฎหมายระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2567 ที่กรมยุทธศึกษาทหารเรือ นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งเข้าร่วมรับฟังการเสวนาวิชาการ “หลักกฎหมายว่าด้วยอาณาเขตทางทะเล” ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นข้อมูล เป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์มาก จำเป็นที่ประชาชนต้องรับรู้ ซึ่งจากการรับฟังเข้าใจว่าท่าทีของกองทัพ ไม่สามารถแสดงออกอย่างชัดเจนเฉพาะกรณีใดกรณีหนึ่งได้ ท่าทีของกองทัพไม่ได้แสดงออกชัดเจนถึงท่าทีใดท่าทีหนึ่ง อย่างเป็นรูปธรรมได้ เพราะฉะนั้น ในวงเสวนา จึงเป็นเรื่องของภาพรวม เรื่องอาณาเขตทั้งทะเล แต่ส่วนตัวถือว่าได้รับความรู้ และยืนยันหลักคิดสมมติฐาน ที่เคยมีมาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
เมื่อถามว่า กัมพูชา ไม่เข้าร่วมกฎหมายทางทะเล การเจรจาตาม เอ็มโอยู 44 จะเดินไปอย่างไร นายคำนูณ กล่าวว่า เป็นอนุสัญญากรุงเจนีวา1958 ที่ว่าด้วยทะเลอาณาเขตต่อเนื่อง ซึ่งบังคับใช้ในขณะกัมพูชาประกาศกฤษฎีกาในปี1972 และไทยประกาศพระบรมราชโองการ ปี 1973 จนถึงปัจจุบันนี้ แม้จะมีกฎหมายทะเล 1982 แต่อนุสัญญาว่าด้วยอาณาเขตและไหล่ทวีป ก็ยังคงบังคับใช้อยู่ ต้องยึด หลักการตามนั้น ตนคิดว่ามีความชัดเจนอยู่
"วันนี้ข้อมูลที่ได้รับ โดยเฉพาะการแสดงจุดยืนของกองทัพเรือแม้จะเป็นนามธรรม แต่ก็ชัดเจน ที่บอกว่าการประกาศสิทธิ การประกาศอาณาเขต ก็เป็นสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศ ของแต่ละประเทศ เห็นได้จากการนำแผนที่ขึ้นมาแสดงให้ดู และกองทัพเรือก็ยืนยันว่า เป็นสิทธิของรัฐ ในการประกาศอาณาเขตทางทะเล" นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า กองทัพเรือยืนยัน แสดงสิทธิ์ตามนั้น มาโดยตลอด และเชื่อว่าทุกกองทัพก็ยืนยันตามนั้น ส่วนเรื่องอื่น เป็นการสร้างความสมดุลและความคิดเห็นของประชาชน นโยบายรัฐ และหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นให้ได้ เมื่อได้ผลสรุปอย่างไร กองทัพเรือพร้อมปฏิบัติตามนั้น ตนมองว่าเป็นจุดยืนของกองทัพเรือ ที่ชัดเจนดี