'รัฐสภาไทย' แถลงผลประชุมรัฐสภาเอเชีย-แปซิฟิก วางแนวเพิ่มงบบัตรทอง

'รัฐสภาไทย' แถลงผลประชุมรัฐสภาเอเชีย-แปซิฟิก วางแนวเพิ่มงบบัตรทอง

"คณะรัฐสภาไทย" แถลงผลประชุมรัฐสภาเอเชีย-แปซิฟิก ต่อยอดสู่การประชุม IPU พร้อมกำกับฝ่ายบริหาร ให้ความสำคัญกับมาตรฐานสาธารณสุข-เพิ่มงบบัตรทองเพื่อประชาชน

โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพฯ นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ภายหลังพิธีปิดการประชุม รัฐสภาภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยความมั่นคงด้านสุขภาพระดับโลก  ว่า การประชุมลุล่วงไปด้วยความสำเร็จ บรรลุผลตามที่มุ่งหมายไว้ทุกประการ ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญของภูมิภาค ในการยกระดับความพร้อมของภาครัฐสภา เพื่อร่วมสนับสนุนระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามจากการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ตลอดจนการประกันการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ ที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงสำหรับทุกคนเพื่อก้าวไปสู่การเป็นภูมิภาคที่มีระบบสาธารณสุขที่มีความมั่นคงยั่งยืน เป็นธรรม เพื่อสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน

ขณะที่  น.ส.กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ฐานะคณะผู้แทนรัฐสภาไทย กล่าวถึงผลลัพธ์ของการประชุมครั้งนี้ สามารถสรุปประเด็นหลักและข้อเสนอแนะ รวม 5 ประเด็น ดังนี้

1. รัฐสภาพึงตระหนักและนำหลักการ Multi-Hazards Approach มาใช้ในการประเมินความเสี่ยงและบริหารจัดการความเสี่ยงรับมือกับภัยพิบัติ รวมถึงภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ

2. รัฐสภาพึงติดตามความเคลื่อนไหวของพัฒนาการความร่วมมือหรือกระบวนการเจรจาตราสารระหว่างประเทศด้านสาธารณสุขเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการอนุวัติการภายในประเทศของตน

3.  รัฐสภาพึงยกระดับการทำหน้าที่ผ่านอำนาจด้านนิติบัญญัติในการผลักดันวาระความมั่นคงด้านสุขภาพ

4. รัฐสภาพึงทำงานร่วมกับภาคประชาชนโดยเฉพาะในระดับชุมชนเพื่อพัฒนานโยบายด้านสุขภาพที่ตอบสนองกับสิทธิและความต้องการของประชนทุกกลุ่ม

5. รัฐสภาพึงอำนวยให้เกิดการผนึกกำลังกันของภาคีเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลากหลายภาคส่วนเพื่อส่งเสริมให้เกิดหุ้นส่วนในการขับเคลื่อนวาระความมั่นคงด้านสุขภาพ

“ผลลัพธ์ของการประชุมในครั้งนี้ จะได้นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีบริหารสหภาพรัฐสภา  ครั้งที่ 150 ในเดือนเม.ย. 2568 ที่ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน โดยทิศทางสำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ คือ ความร่วมมือพหุภาคีระหว่างประเทศ  นำประเด็นความมั่นคงด้านสุขภาพเข้าไปสู่กระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ  การพิจารณากฎหมาย การจัดสรรงบประมาณ โดยเฉพาะการเข้าสู่ระบบการทำงานของคณะกรรมาธิการรัฐสภา ในการติดตามกำกับตรวจสอบการทำงานด้านสาธารณสุขของฝ่ายบริหาร มุ่งเน้นประเด็นความทั่วถึงท่าเทียม การลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางสาธารณสุข” น.ส.กัลยพัชร กล่าว

ทางด้าน นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย  สส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย ฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย  กล่าวว่าผลที่ได้รับจากการประชุมในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติในการสนับสนุนวาระความมั่นคงด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายและงบประมาณ เพื่อพร้อมรับมือและป้องกันภัยคุกคามจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ รวมถึงภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคต รัฐสภาไทยพร้อมให้การสนับสนุนฝ่ายบริหาร ที่ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสาธารณสุข การพัฒนาระบบสุขภาพของไทยให้ได้มาตรฐานระหว่างประเทศและตอบสนองความต้องการของประชาชนในศตวรรษที่ 21

นายโอชิษฐ์ กล่าวต่อว่า ฐานะที่รัฐสภาไทยมีบทบาทหลักในการเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายเพื่อสนับสนุนนโยบายด้านสาธารณสุขของไทย โดยในอนาคตจะมีร่างกฎหมายสำคัญด้านสุขภาพ ทั้งที่กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา เช่น ร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ที่คาดว่าจะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในช่วงต้นปีหน้า และร่างกฎหมายที่คาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภาหลายฉบับ ร่าง พ.ร.บ. โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ร่าง พ.ร.บ. อสม.  และ ร่าง พ.ร.บ. สุขภาพจิต ที่กำลังจะเสนอเข้าสู่ ครม.   ขณะที่การจัดทำงบประมาณให้หน่วยงานและโครงการที่ขับเคลื่อนวาระความมั่นคงด้านสุขภาพ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ งบบัตรทอง คณะกรรมาธิการวิสามัญ พ.ร.บ. งบประมาณฯ จะปรับลดงบประมาณในหมวดรายการอื่นที่ไม่จำเป็น และโยกผันงบดังกล่าวมาเพิ่มเติมให้กับงบประมาณด้านสาธารณสุขและสุขภาพเป็นอันดับแรก