ปธ.วิปฝ่ายค้านชงสภาฯใช้ญัตติด่วนถก MOU44 - ปชน.ลุยยื่นซักฟอกสมัยประชุมนี้

ปธ.วิปฝ่ายค้านชงสภาฯใช้ญัตติด่วนถก MOU44 - ปชน.ลุยยื่นซักฟอกสมัยประชุมนี้

ประธานวิปฝ่ายค้าน เสนอใช้ญัตติด่วนคุย MOU44 ในสภาฯ ด้าน ปชน.เตรียมยื่นตาม ม.151 อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในสมัยประชุมนี้

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2567 นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เพื่อหารือกรณี ข้อพิพาทเขตแดนทางทะเลไทย-กัมพูชา และกรณีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชาเมื่อปี 2544 หรือ “MOU44” ว่า เดิมทีพรรคร่วมฝ่ายค้านได้มีการเตรียมการเสนอญัตติตามมาตรา 152 ในสมัยประชุมที่จะถึงนี้อยู่แล้ว ซึ่งญัตติที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอนั้นจะมีเนื้อหาสาระที่กว้างขวาง ครอบคลุมหลายประเด็นที่เป็นที่สนใจของสังคมในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ตามบทบาทของฝ่ายค้านที่ต้องตรวจสอบ ตั้งคำถาม และให้ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็น MOU44 ซึ่งเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศที่สำคัญ ไม่จำเป็นต้องใช้ญัตติตามมาตรา 152 แต่อย่างใด เพราะหากพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว ญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 และญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 คือการให้อำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลกับเสียงข้างน้อยหรือพรรคร่วมฝ่ายค้าน ให้สามารถเข้าชื่อเสนอญัตติได้โดยที่ฝ่ายเสียงข้างมากไม่มีสิทธิคัดค้าน และยังจำกัดไว้ไม่ให้ถูกใช้จนเกินพอดีคือเพียงปีละหนึ่งครั้งต่อญัตติเท่านั้น เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากสามารถคว่ำทุกวาระที่ฝ่ายค้านเสนอได้อยู่แล้ว และในทางกลับกัน หากฝ่ายรัฐบาลต้องการพิจารณาญัตติใดก็สามารถใช้เสียงข้างมากในสภาฯ เสนอได้ทุกครั้งเช่นกัน 

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวด้วยว่า ดังนั้นหากทางฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญและเร่งด่วน รัฐบาลก็สามารถเสนอเรื่องนี้เข้ามาเป็น “ญัตติด่วน” ได้ หรือหากมีความกังวลว่าญัตติทั่วไปที่พิจารณาในสภาเป็นการคุยกันเฉพาะ สส. ไม่มีรัฐมนตรีมาตอบ ตนก็ต้องยืนยันว่าเรื่องนี้สามารถทำได้ เพราะตามข้อบังคับการประชุมสภาข้อ 30 ระบุว่า

“ถ้านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีขอแถลงหรือชี้แจงเรื่องใดต่อที่ประชุม ให้ประธานพิจารณาอนุญาต”

ประธานวิปฝ่ายค้าน เสนอว่า รัฐบาลควรเสนอเรื่องนี้เข้ามาเป็นญัตติด่วน หารือกันระหว่างวิป 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และคณะรัฐมนตรี ตกลงกันถึงวันที่เหมาะสมที่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาชี้แจงต่อสภาฯ ได้ โดยใช้เวลาหนึ่งวันเต็มหรือมากกว่านั้นในการพิจารณาเรื่องนี้อย่างเดียว วิธีนี้จะช่วยให้สามารถพิจารณาเรื่องนี้ได้อย่างรวดเร็ว และไม่ผิดเจตนารมณ์ของมาตรา 152 ที่มุ่งหมายให้เป็นช่องทางการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลโดยฝ่ายค้านในระบบรัฐสภา 

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวทิ้งท้ายว่า พรรคประชาชนกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญในสมัยประชุมที่กำลังจะมาถึง จึงขอถือโอกาสนี้เชิญชวนพี่น้องประชาชน ข้าราชการ ผู้ประกอบการ และผู้ที่มีข้อมูลการทุจริตประพฤติมิชอบต่างๆ สามารถส่งเรื่องมายังช่องทางติดต่อของพรรคประชาชนได้