'สุรพงษ์' ชี้ 'ไทย' อยู่ในยุคเศรษฐกิจการเมือง เตือนนักลงทุนจับตา 'รัฐบาล'
"ทูตสุรพงษ์" ชี้ “ไทย” ยังอยู่ในยุคเศรษฐกิจการเมือง แนะนักลงทุน จับตา-ช่วยติง “ฝ่ายการเมือง” หากพาประเทศไปในทิศทางไม่ดี-กระทบเสถียรภาพในภูมิภาค
ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา จัดสัมมนาเรื่อง จับชีพจรเศรษฐกิจโลก พลิกตำราฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทย 2568 World Economic Pulse to Turnaround Thailand Economic Crise 2025
โดยนายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูต กล่าวในช่วงสเปเชียลทอล์ก จับชีพจรเศรษฐกิจโลก 2568 ตอนหนึ่งว่า การทำนโยบายต่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีผลโดยตรงต่อการรักษาผลประโยชน์ของประเทศในทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย ทั้งนี้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นมีบริบทแค่ว่าประเทศไหนได้เปรียบหรือเสียเปรียบ สิ่งที่ชี้วัดได้คือ ปัจจัยเรื่องผลประโยชน์ โดยไม่มีเรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนกับการเมืองภายในประเทศ
“ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและความร่วมมือ โดยมีปัจจัยผลประโยชน์กำหนดชี้ขาดเรื่องนโยบาย ทั้งนี้หากมองว่าธุรกิจ หรือ การลงทุนใดไม่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลนั้นไม่จริง เพราะนโยบายต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจ หากนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล ไม่ว่าพรรคไหน หากไม่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาอำนาจใด จะมีผลกระทบ” นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เป้าหมายของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้ง 193 ประเทศในโลก คือ เพื่อให้เกิดการหารือและรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี แต่เป้าหมายสูงสุด คือ ความอยู่รอดและความปลอดภัยของประเทศเป็นจุดสูงสุด ไม่ใช่เศรษฐกิจดี แต่ส่วนอื่นไม่ช่วยให้ดีขึ้น ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ที่ผ่านมา 35-40 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในยุคของเศรษฐกิจการเมือง จึงต้องคำนึงให้ดี ทั้งนี้สิ่งที่เป็นตัดกำหนดนโยบายนั้นไม่ใช่อุดมการณ์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่คือ ผลประโยชน์เป็นตัวกำหนด อย่างไรก็ดีการกำหนดและวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศต้องยึดถึงสัจจะนิยม หรือ จริงนิยม ไม่หลงใหลในสิ่งจินตนาการขึ้นมาเอง และต้องคำนึงถึงที่ตั้งของภูมิรัฐศาสตร์ด้วย
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่านโยบายเรื่องการต่างประเทศไม่ดูจากคำพูดของผู้นำ หรือของรัฐบาล แต่ต้องดูจากพฤติกรรมและความสามารถในด้านต่างๆ ของรัฐบาลในแต่ละสถานการณ์ รวมถึงผลประโยชน์ที่แอบแฝง อย่างไรก็ดีต้องพิจารณาความจริงในข้อเท็จจริงที่ปรากฎในถ้อยแถลงของแต่ละประเทศ ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด
“ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อตั้งคณะรัฐมนตรีแล้วเสร็จ เช่นมีนโยบายว่าต้องถือการปราบปรามคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเป็นข้อเท็จจรริง แต่จะเป็นความจริงหรือไม่ ทั้งนี้บางเรื่องเป็นสามัญสำคัญ แต่ที่ผ่านมาถูกคนมองข้ามไป”นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การมีสองขั้วของมหาอำนาจ ตนมองว่าเป็นผลีต่อเสถียรภาพความมั่นคงของโลกได้ เพราะมีการถ่วงดุล อีกทั้งแต่ละประเทศต้องอยู่ในกรอบกติกาของขั้วที่ยึดถือ ซึ่งในช่วงยุคสงครามเย็นตนมองว่ามีเสถียรภาพมากกว่าปัจจุบัน ส่วนปัจจัยในภูมิรัฐศาสตร์ ตนไม่มั่นใจว่านักการเมืองนั้นเข้าใจจริงหรือไม่ ว่า 99% การตัดสินใจเรื่องนโยบายการต่างประเทศของทุกประเทศมีปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์เกี่ยวข้อง เพราะมีความสำคัญสูงสุดกับความอยู่รอดและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งไทยควรให้ความสำคัญกับ 10 ประเทศอาเซียน รวมถึงมหาอำนาจ ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา
“อิทธิพลปัจจัยอุดมการณ์ เป็นเครื่องมือของนโยบายต่างประเทศและเป็นปัจจัยสร้างความร่วมมือและความขัดแย้งระหว่างประเทศได้ แปลว่าประเทศที่อุดมการณ์เหมือนกันไม่ใช่มีผลประโยชน์ที่ร่วมกันได้ นักการเมืองของทุกประเทศทั่วโลก คือ นักโกหกมืออาชีพต้องพิจารณาเอาเองว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้บริบทของสถานการณ์ต่างๆ จะมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งไม่มีเรื่องดีหรือชั่ว เพราะขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ อย่างไรก็ดีนักลงทุน หากเห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันพาประเทศไปสู่ทิศทางไม่เป็นผลดีต่อเสถียรภาพในภูมิภาคต้องมีความเห็นได้” นายสุรพงษ์ กล่าว.