เบรกม็อบ ‘ไทย-กัมพูชา’ ยื้อตั้งเจทีซี เลี่ยงฝึก‘เกาะกูด’

เบรกม็อบ ‘ไทย-กัมพูชา’  ยื้อตั้งเจทีซี เลี่ยงฝึก‘เกาะกูด’

ผบ.ทร. ยืนยันว่า การเปลี่ยนพื้นที่การฝึกจากเกาะกูดไปพื้นที่อื่น ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ ถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีใบสั่งการเมืองหรือไม่ เพราะปกติกองทัพเรือมีการฝึกตามวงรอบทุกปีอยู่แล้ว

KEY

POINTS

  • แม้รัฐบาลยังไม่ได้ตั้งคณะกรรมการ JTC เดินหน้าแบ่งผลประโยชน์พื้นอที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนไทยกัมพูชา แต่กระแสต่อต้านถูกจุดต่อเนื่อง
  • รัฐบาลกัมพูชา กำลังเผชิญแรงกดดันทางการเมือง หลังจากกลุ่มฝ่ายค้านรัฐบาลกัมพูชา ปลุกม็อบทวงคืนเกาะกูดจากไทย 
  • ภูมิธรรม เรียก พล.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผบ.ทร. เข้าทำเนียบรัฐบาลสองวันติด หารือการฝึกซ้อมของกองเรือยุทธการ ประจำปี 2568

 

“กองทัพเรือ” ถือเป็นกลไกหนึ่งของรัฐบาลที่ต้องสนับสนุน และรักษาสภาพแวดล้อม ให้เอื้ออำนวยต่อการแบ่งผลประโยชน์พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ซึ่งถูกบรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อไทย มาตั้งแต่ยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จนถึงยุครัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร หวังแสวงหาความมั่นคงด้านพลังงาน

แม้ปัจจุบันรัฐบาลเพื่อไทยยังไม่นำวาระการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค(JTC) ที่มี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม นั่งเป็นประธาน บรรจุเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อเดินหน้าเจรจากัมพูชา ภายใต้กรอบ MOU44

ทว่า กระแสต่อต้านถูกจุดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กลุ่มหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี พร้อมกลุ่มคนคลั่งชาติ นำรายชื่อประชาชนกว่าแสนรายชื่อยื่นถึงนายกฯ เรียกร้องให้ยกเลิก MOU44

พรรคพลังประชารัฐ “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สั่งการ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานด้านวิชาการพรรค และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ทีมเศรษฐกิจ ที่เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เดินหน้าคัดค้านเต็มที่ เพราะเห็นว่า MOU44 เป็นสนธิสัญญานำไปสู่การเสียดินแดน

ส่วน สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ เคยสั่นคลอนเก้าอี้ 3 อดีตนายกฯ ทั้ง ทักษิณ ชินวัตร สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เตรียมทางไปทำเนียบรัฐบาล 9 ธ.ค.นี้ เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกฯ ให้ยกเลิก MOU44 หลังประเดิมขึ้นเวที “ความจริง มีเพียงหนึ่งเดียว เพื่อชาติ” ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสังคมที่เกี่ยวข้องกับชาติบ้านเมืองใน “รัฐบาลแพทองธาร” หนึ่งในนั้นคือ การสูญเสียอธิปไตยของชาติ รวมถึง MOU44

ขณะที่เพื่อนบ้านฝั่งตรงข้ามเกาะกูด จ.ตราด ของไทย คือกัมพูชา คู่เจรจาของรัฐบาลไทย ก็กำลังเผชิญแรงกดดันทางการเมืองไม่น้อยเช่นกัน หลังจากกลุ่มฝ่ายค้านรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยต่อต้านการสืบทอดอำนาจตระกูลฮุนเซน-เตีย บัญ ใช้โซเชียลมีเดีย ปลุกม็อบทวงคืนเกาะกูดจากไทย ด้วยการเดินหน้าฟ้องศาลโลก

ทางด้านรัฐบาลเพื่อไทย “ภูมิธรรม” เรียก “พล.อ.จิรพล ว่องวิทย์” ผบ.ทร. เข้าทำเนียบรัฐบาลสองวันติด เมื่อวันที่ 25-26 พ.ย.2567 หารือในหลายประเด็น รวมทั้งปัญหาเรือดำน้ำ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC)

โดยเฉพาะการฝึกซ้อมของกองเรือยุทธการ ประจำปี 2568 เป็นการฝึกองค์บุคคล และยุทธวิธี ในพื้นที่อ่าวไทยระหว่างวันที่ 10-12 ธ.ค.2567 โดยจัดหมู่เรือเดินทางจากพื้นที่อำเภอสัตหีบ ไปยังอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด มีเรือหลวงจักรีนฤเบศร เป็นเรือบัญชาการ

ในระหว่างทางจะมีการฝึกการใช้กำลัง และหัวข้อต่างๆ โดยเรือจะทอดสมอบริเวณเกาะกูด แล้ววันที่ 11 ธ.ค.จะมีการปฏิบัติการด้าน CSR กับชุมชน โรงพยาบาลบนเกาะกูด พร้อมเชิญสื่อมวลชนร่วมบันทึกภาพ และทำข่าว

ในที่สุด หลังการหารือระหว่าง รมว.กลาโหม กับ ผบ.ทร. จึงเป็นที่มาของการยกเลิกแผนการฝึกดังกล่าว ให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการฝึกใหม่ ไม่ให้ใช้พื้นที่เกาะกูด และไม่เชิญสื่อมวลชนบันทึกภาพและทำข่าวแต่อย่างใด

แม้ ผบ.ทร. จะยืนยันว่า การเปลี่ยนพื้นที่การฝึกจากเกาะกูดไปพื้นที่อื่น ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ ถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีใบสั่งการเมืองหรือไม่ เพราะปกติกองทัพเรือมีการฝึกตามวงรอบ เป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว พื้นที่การฝึกจะปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม

สำหรับการฝึกกองทัพเรือ ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ เป็น “การฝึกองค์บุคคล องค์ยุทธวิธีของแต่ละกองเรือ” ปัจจุบันกองทัพเรือจัดการฝึกในลักษณะประเภทตามเรือ

ไตรมาสที่ 2 เป็นการฝึกบูรณาการร่วมกันในชื่อ “การฝึกกองทัพเรือ” การฝึกบูรณาการร่วมกันของกองเรือต่างๆ ตามประเภทกองเรือที่ได้ฝึกไปแล้วในไตรมาสที่ 1 พร้อมบูรณาการฝึกร่วมหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพ(นย.) หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง(สอรฝ.)หน่วยที่เกี่ยวข้อง

การฝึกซ้อมของกองเรือยุทธการ ประจำปี 2568 เป็นการฝึกองค์บุคคล และยุทธวิธี ที่กำลังเป็นประเด็นกันอยู่นั้น นับเป็นการฝึกวงรอบตามปกติ 

ไตรมาสที่ 1 เป็นการฝึกลักษณะกองเรือ เรือภูมิพล สังกัดกองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ เป็นการฝึกองค์บุคคลกองเรือยุทธวิธีของกองเรือยุทธการ มีการสมมุติการฝึก 

เดิมที่หมู่เรือเข้าไปจอดบริเวณอ่าวไทยใกล้เกาะกูด จะมีการปฏิบัติการด้าน CSR กับประชาชนบนเกาะกูด ด้วยการสมมุติสถานการณ์ 

อีกทั้งพื้นที่เกาะกูดด้านในทั้งหมด ถือเป็นพื้นที่อาณาเขตทั้งหมดของประเทศไทย มีอำนาจเต็ม เป็นอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์

เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลเพื่อไทย หวั่นไหวกับการเมืองในประเทศไม่น้อย เลือกที่จะทอดเวลาจัดตั้งคณะกรรมการ JTC ออกไปก่อน เพื่อลดเงื่อนไขก่อม็อบ ไม่อยากให้เกิดในรัฐบาลแพทองธาร

ขณะเดียวกัน ยังสั่งกองทัพเรือเปลี่ยนพื้นที่การฝึกห่างไกลจากเกาะกูด จ.ตราด พื้นที่อ่อนไหวความมั่นคง ผ่อนคลายการเมืองในกัมพูชา

การเจรจาแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยาก หากรัฐบาลเพื่อไทยทำด้วยความโปร่งใส ยึดประโยชน์ชาติสูงสุดเป็นที่ตั้ง มากกว่าผลประโยชน์พวกพ้อง จะส่งผลให้ “แพทองธาร” นั่งเก้าอี้นายกฯ ไปยาวๆ