ถอดรหัส 200 เสียง ฉบับ 'สามก๊ก' - 'ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ' จำได้ทุกรอยเท้า
"สุภาพบุรุษไพร่" ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประเมินสถานการณ์การเคลื่อนไหวของมวลชนม็อบนอกสภา ผ่านเอ็มโอยู 44 พร้อมทั้งถอดรหัสสมการ "พรรคเพื่อไทย" 200 เสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า เขายังคงเชื่อว่าการเมืองไทยยังหนีไม่พ้น "สามก๊ก"
KEY
POINTS
- "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" เผยตอบรับที่ปรึกษาของนายกฯ ต้องการมาช่วยงานนายกฯ แพทองธาร เพราะเขาเคยผูกพันมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง เคยผ่านการยืนเวทีปราศรัยมาแล้ว 4 นายกฯ
- "ณัฐวุฒิ" ประเมินเวลานี้ยังไม่มีสัญญาณ "ม็อบใหญ่" ภายใต้การปลุกกระแสของ "สนธิ ลิ้มทองกุล" ผ่านปมเอ็มโอยู 44
- อดีตผู้นำคนเสื้อแดง ยึดคติไม่เคียดแค้นชิงชังการเมือง ย้ำ "ก็เห็นทุกตีน จำได้ทุกรอยที่เหยียบมา"
- ภูมิทัศน์การเมืองหลังเลือกตั้งปี 2570 "ณัฐวุฒิ" ชี้เป็นการเมือง "สามก๊ก" คือ "ก๊กเพื่อไทย - ก๊กพรรคประชาชน - ก๊กฝ่ายอนุรักษนิยม"
- ตั้งเป้าพรรคเพื่อไทย 200 สส.ของ "ทักษิณ" ทำให้ "ณัฐวุฒิ" อ่านสัญญาณนี้ว่า บริบทเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการจับมือกันของ สองก๊ก ส่วนอีกก๊กตกเป็นฝ่ายค้าน
- กระแสเสื้อแดงยังไม่ลดน้อย ไม่มีขบวนการทางการเมืองไหนที่เป็นการรวมตัวของประชาชนแล้วจะเป็นหนึ่งเดียว สัจจะนิรันดร์ตลอดกาล
“ถ้าช่วงเวลานี้จะเป็นอีกช่วงที่จะต้องเผชิญคลื่นลม ผมไม่ได้วิตกกังวล แล้วก็เห็นทุกตีน จำได้ทุกรอยที่เหยียบมา แต่ไม่เคยคิดเอาไปโกรธแค้นชิงชัง ถ้าผมตัดสินใจเดิน ผมก็จะเดินแบบเปิดเผย แบบที่ผมเคยทำมา”
“เต้น” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำคนเสื้อแดง ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงการกลับลำผิดคำพูดหรือไม่หลังเคยประกาศยุติบทบาทกับ “พรรคเพื่อไทย” ชั่วคราวเมื่อครั้งที่พรรคเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเมื่อเดือนส.ค.2566
“ณัฐวุฒิ” ตอบรับเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี หลัง “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้งเมื่อวันที่ 4 ต.ค.2567 ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเขาเคยตกปากรับคำจะมารับตำแหน่งนี้ในยุคที่ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เผอิญ “นายกฯ เศรษฐา” ต้องเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองเสียก่อน
"ท่าน (เศรษฐา) เห็นว่ามีภารกิจหลายๆ เรื่องที่อยากมีผมไปช่วยคิดช่วยเดิน ไปพูดคุยกับท่านที่ จ.ภูเก็ต รอบสุดท้ายก่อนท่านพ้นตำแหน่ง ก็เดินคุยริมชายหาดกัน 2 คน เดินมาพักใหญ่ ท่านบอกว่า ผมรู้ว่า ถ้าผมขอให้คุณกลับมา คุณก็ปฏิเสธผมไม่ได้ เพราะวันนั้นคุณบอกให้ผมมา หมายถึงวันที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ผมก็มาจนถึงวันนี้"
“ณัฐวุฒิ” เล่าว่า “ตอนที่ยุติ ก็ยุติจริงๆ ไม่ได้เข้ามามีส่วนการทำงานของรัฐบาล หรือของพรรคเพื่อไทย และพรรคอื่นๆ เลย”
“ณัฐวุฒิ” บอกว่าช่วงปลายรัฐบาลเศรษฐา เขาเคยเดินคุยกับนายกฯ เศรษฐา 2 คนที่ริมชายหาด จ.ภูเก็ต จนเมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ เขามานั่งคิด กระทั่งให้คำตอบกับนายกฯ เศรษฐา ว่า “เดี๋ยวผมจะกลับมาช่วยพี่เอง”
ที่ปรึกษาของนายกฯ ผู้มีจิตวิญญาณของคนเสื้อแดง มีภารกิจปลายทางคือ การทำให้กระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวกับความขัดแย้งที่ผ่านมาได้รับความเป็นธรรม และพิสูจน์ทราบในความจริง
"ตลอดเวลาที่ผมขึ้นมาอยู่บนเวทีทางการเมือง ไม่มีช่วงเวลาไหนเลยที่ไม่มีเสียงต่อว่า ก่นด่า หรือกระทั่งประณาม ตอนเป็นเสื้อแดงก็แบบหนึ่ง ตอนเป็น นปก.ก็แบบหนึ่ง มาวันนี้จะเป็นอีกแบบก็ไม่เป็นไร"
"ตลอดเส้นทางที่ผ่านมา ผมก็เดินอย่างเปิดเผย แล้วพร้อมจะให้กาลเวลา และตัวตนพิสูจน์ความรับรู้ และความเข้าใจของประชาชนตลอดอยู่แล้ว"
“ผมผูกพันกับนายกฯ เศรษฐา นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร เพราะเราเดินด้วยกันในสนามเลือกตั้งมาตลอด ทั้งสองท่านเป็นบุคลากรใหม่ในการเมือง เข้ามาเสนอตัวต่อประชาชนเป็นนายกฯ ในขณะที่ผมยืนอยู่ตรงนั้นกับนายกฯ สมัคร สุนทรเวช นายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ จนถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รู้มือรู้ใจกัน เมื่อถึงสถานการณ์ที่นายกฯ แพทองธาร ต้องเข้ามารับหน้าที่อย่างฉุกเฉินกะทันหัน ท่านก็อยากให้มีคนไปช่วยกัน ผมก็ตอบรับ”
“ถ้าผมจะมาจะไม่หลบ แต่จะเปิดเผยกับประชาชน และให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์”
ถามว่า การรับบทบาทที่ปรึกษาของนายกฯ และใช้ช่องทางสื่อโซเชียลฯ เพื่อเป็นองครักษ์พิทักษ์นายกฯ หรือไม่ "ณัฐวุฒิ" ปฏิเสธ ก่อนตอบว่า "ท่านเป็นนายกฯ ไม่ได้เป็น จ.นครนายก ถ้าเป็น จ.นครนายก ก็จะมีอำเภอองครักษ์ แต่เป็นนายกฯ ไม่ต้อง แต่ว่าที่ผมแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องปกติที่ผมทำตลอดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอยูู่ตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ก็ตาม"
ขณะเดียวกัน "ณัฐวุฒิ" ยังตอบถึงการมาช่วยอุดช่องโหว่การสื่อสารของรัฐบาลหรือไม่ว่า "ผมคิดว่างานทุกด้านของรัฐบาลต้องพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง มันต้องมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา อะไรที่ดีอยู่แล้วต้องทำให้ดีขึ้นไปอีก ต่อให้รัฐบาลคิดว่ารัฐบาลทำดีที่สุด ก็ปิดกั้นข้อวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนไม่ได้อยู่แล้ว แต่ให้คนส่วนใหญ่ได้สัมผัสให้ตัวความจริง เนื้องานเป็นบทพิสูจน์ดีกว่า"
"ณัฐวุฒิ" กล่าวถึงการสื่อสารทางการเมืองของ "นายกฯ แพทองธาร" ในประเด็นดราม่าเรื่องสามีเป็นคนใต้ไม่ได้เป็นจุดเปราะบางจนทำให้รัฐบาลต้องสั่นคลอน
"ผมเห็นจุดเปราะบางในสังคมว่า มันมาถึงจุดที่ถ้าไม่ใช่ฝ่ายที่ตัวเองนิยม เรื่องเล็กจะถูกขยายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องใหม่อาจถูกอธิบายเป็นเรื่องเก่า เรื่องดีอาจจะเป็นเรื่องที่ชี้ภาพเป็นเรื่องร้าย"
กรณีนายกฯ มีครอบครัวเป็นคนภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ยาว ท่านพูดถึงมาตรการการแก้ไขปัญหา พูดถึงสาเหตุต้องจัดประชุม ครม.สัญจร ที่ภาคเหนือ แล้วมีบางตอนพยายามเชื่อมโยงตัวเองกับพี่น้องชาวใต้ ให้เกิดความรู้สึกไม่ได้ห่างไกลกันเท่านั้นเอง สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนว่า การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสังคมไทย มันยังเป็นไปอย่างเข้มข้น และรัฐบาลก็ต้องเผชิญคลื่นลมกันแบบนี้ไปตลอดทาง ดังนั้นเป็นเรื่องที่ ก็ต้องอดทน
ชี้ไร้สัญญาณม็อบใหญ่กดดัน
สถานการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่ม “สนธิ ลิ้มทองกุล” ที่จะมายื่นหนังสือในวันที่ 9 ธ.ค. 2567 ถึงนายกรัฐมนตรีให้ชี้แจง “เอ็มโอยู 44” เกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชานั้น “ณัฐวุฒิ” อ่านเกมของอดีตผู้นำม็อบเสื้อเหลืองว่า ยังไม่เห็นสัญญาณของม็อบใหญ่ เพราะการชุมนุมขนาดใหญ่ได้จะต้องมีองค์ประกอบอยู่ 3 ประการ ข้อแรกต้องมีพรรคการเมืองอย่างน้อย 1พรรคร่วมขบวนด้วย ข้อสอง มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนต่างๆ มาผนึกกำลังกัน
ข้อสาม จะต้องมีความเคลื่อนไหวของคนการเมือง หรือคนที่มีเครือข่ายมีพลังทางการเมือง นั่งพูดคุยปรึกษาวางแผนเตรียมการ มีถึงขั้นติดต่อเครื่องเสียง ติดต่อเวที จัดเตรียมระบบเทคนิคขยายผลการชุมนุมออกไปสู่สาธารณะ
“ผมถึงบอกว่ายังไม่มีสัญญาณ จะเกิดม็อบใหญ่ แต่มันคนละความหมายกับการไปพูดจาด้อยค่า วิถีของนักต่อสู้ เราจะให้เกียรติกัน แม้จะยืนกันคนละฝ่าย จะไม่ปรามาสท้าทายกัน ดังนั้น ผมเห็นว่าคุณสนธิ มีศักยภาพมีความสามารถในการเคลื่อนไหวของท่าน”
"ณัฐวุฒิ” ระบุว่า ประเด็นชาตินิยม มวลชนฝ่ายอนุรักษนิยมมักนำมาใช้กดดัน โจมตีหรือขับไล่รัฐบาล ซึ่งเคยใช้ได้ผลมาแล้วอย่างเช่น กรณีเขาพระวิหาร ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ทั้งนี้ ประเด็นเอ็มโอยู 44 ไม่ได้นำไปสู่การเสียดินแดนแต่อย่างใด
ที่ปรึกษาของนายกฯ ยกตัวอย่างกรณีไทยกับมาเลเซีย เคยพิพาทกันพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลตั้งแต่ปี 2515 เจรจาเรื่อยมาจนปี 2522 จนได้ข้อยุติให้เรียกพื้นที่ดังกล่าวว่าเป็น “พื้นที่พัฒนาร่วม” และจัดตั้งองค์กรร่วมกันสองประเทศ กระทั่งนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้เมื่อปี 2548 ใช้เวลา 33 ปีถึงยุติด้วยการหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ
เช่นเดียวกัน “ณัฐวุฒิ” มองพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา สามารถหาข้อยุติที่ยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย แล้วนำทรัพยากรปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ร่วมกัน ซึ่งพื้นที่ทับซ้อนมีทรัพยากรปิโตรเลียมมููลค่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านล้านบาท
ถามถึงการได้สัมผัสใกล้ชิดกับ “นายกฯ แพทองธาร” ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งจนมาเป็นนายกฯ จะเป็นหุ่นเชิดของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ “ณัฐวุฒิ” ยืนยันว่า “ผมเชื่อ 100% ว่าท่านนายกฯ แพทองธาร เป็นตัวของตัวเอง และเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริง ณ เวลาปัจจุบัน”
“คนเป็นผู้นำประเทศจะไม่ฟังใครเลยก็ไม่ใช่ คนแบบทักษิณ ชินวัตร มีมากนักเหรอในประเทศไทย ผมเชื่อว่านายกฯ ทักษิณเป็นคนระดับโลก แล้วคนแบบนี้ ถ้าหากรัฐบาลดึงศักยภาพบางประการมาใช้ เป็นประโยชน์กับประชาชน”
มั่นใจกระแสเสื้อแดงไม่ลดลง
ส่วนกระแสคนเสื้อแดงในปัจจุบันยังอยู่กับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ “ณัฐวุฒิ” ย้ำว่า “ผมว่าไม่น้อยนะ มันไม่มีขบวนการทางการเมืองไหนที่เป็นการรวมตัวของประชาชนแล้วจะเป็นหนึ่งเดียว สัจจะนิรันดร์ตลอดกาล เพราะว่าการเมืองเป็นพลวัต มีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา คนเสื้อแดงไม่ได้อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์นี้ ส่วนจะไปอยู่พรรคไหนเท่าไรอย่างไร รอบทพิสูจน์ที่เป็นรูปธรรม เช่น การเลือกตั้ง หรือวาระที่ประชาชนจะได้แสดงการตัดสินใจในระบบประชาธิปไตย”
“คนเสื้อแดง วันนี้ยังใส่เสื้อแดงอยู่ก็เป็นไปได้ ถอดเสื้อแดงไปใส่เสื้อสีอื่นก็เป็นไปได้ หรือวันหนึ่งอาจจะกลับมาเป็นคนเสื้อแดง สนับสนุนพรรคเพื่อไทยอีกทีหนึ่ง ผมก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลก” ณัฐวุฒิ ตอบถึงคนเสื้อแดงบางส่วนเปลี่ยนใจไปสวมเสื้อสีส้ม
ชำแหละการเมืองสามก๊ก
ส่วนการปราศรัยของ "ทักษิณ" ที่ จ.อุดรธานี ประกาศชัด "พรรคเพื่อไทย" ต้องการ สส. 200 ที่นั่ง แสดงว่ามีพันธมิตรทางการเมืองแล้วหรือไม่ "ณัฐวุฒิ" ระบุว่า ภูมิทัศน์ทางการเมือง วันนี้ มันเปลี่ยน เหมือนสิ่งที่ผมอธิบายว่าเป็นการเมืองแบบสามก๊ก ที่เป็นการอธิบายรูปการณ์ของมวลชน"
การเมือง “สามก๊ก” ฉบับ “สุภาพบุรุษไพร่” ก๊กหนึ่ง เป็นของพรรคเพื่อไทย ก๊กหนึ่งเป็นพลังของพรรคประชาชน และอีกก๊ก เรียกว่าพลังฝ่ายอนุรักษนิยม ที่ยังไม่ปรากฏพรรคการเมืองใดเป็นตัวแทนอย่างชัดเจน ซึ่งพรรคเพื่อไทยไม่ใช่ตัวแทนพลังของฝ่ายอนุรักษนิยม
“พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่พยายามจะปฏิรูปประเทศตามแนวทางของตัวเอง ฝ่ายอนุรักษนิยมก็มีวิถีของเขา และเห็นอยู่ว่าเขาก็ปฏิเสธการนำของพรรคเพื่อไทย อย่างชัดเจนเปิดเผยในรูปการณ์การเคลื่อนไหวมวลชน”
“ผลสำรวจสำนักโพล คะแนนนิยมทางการเมืองของประชาชน มักจะมีชื่อคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ติดโผอยู่เสมอ ผมว่าก้อนนั้น คือก้อนของก๊กอนุรักษนิยม แม้ว่าไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เลือก แต่เขาก็ถือว่าพรรคการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ สังกัด ณ เวลานั้น คือตัวแทนพวกเขา แต่พอถึงการเลือกตั้งรอบหน้า เราก็ไม่แน่ใจว่า จะเกิดพรรคการเมืองไหน ชักธงนี้ขึ้นมา เพราะว่าพรรคการเมืองอื่นๆ เขาก็มองเห็นโอกาสและพื้นที่ว่างตรงนี้เช่นเดียวกัน”
“สามก๊กแบบนี้ ปฏิสัมพันธ์ก็มีทั้งเผชิญหน้าและประสานประโยชน์ ประสานพลังกัน บางเรื่อง ก๊กหนึ่งเคลื่อนไหวเผชิญหน้ากับอีกก๊ก กลายเป็นโอกาสของก๊กที่เหลือ บางเรื่อง ก๊กหนึ่ง ขยับตัว อีกก๊กหนึ่งเขาไปสมทบด้วยเพราะเห็นประโยชน์ทางการเมืองร่วมกันในวาระนั้นๆ และมันจะเข้าสู่สภาพเช่นนี้ไปถึงการเลือกตั้งรอบต่อไป”
ไม่ฟันธง “เพื่อไทย” 200 เสียง
“ณัฐวุฒิ” ถอดรหัสตัวเลข 200 เสียงของ “พรรคเพื่อไทย” ว่า การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2570 ผลเลือกตั้งครั้งหน้าจะเกิดรัฐบาลที่นำโดยก๊กหนึ่งต้องจับมืออีกก๊กหนึ่ง ส่วนอีกก๊กจะเป็นฝ่ายค้าน ไม่มีก๊กใดเป็นรัฐบาลเด็ดขาดเพียงลำพัง ภายใต้เงื่อนไขบริบททางการเมือง ณ ปัจจุบัน
“ผมก็ว่าวันนี้ก๊กพรรคเพื่อไทยกับก๊กอนุรักษนิยม เขาตอบง่ายอย่างน้อยจะตอบว่า ต้องรอฟังเสียงประชาชนก่อน และคงจะเริ่มนับหนึ่งจากพรรคที่ร่วมรัฐบาลกันอยู่ เขาจำเป็นต้องตอบแบบนี้ เพราะถ้าไปตอบแบบอื่น รัฐบาลแตกครับ”
คำว่า “อำมาตย์” กับ “ประชาธิปไตย” เวลานี้ยังคงมีอยู่ในแง่ของขบวนการ ซึ่ง “ณัฐวุฒิ” ยังเชื่อว่า อำนาจอิทธิพลที่ส่งผลกระทบทางการเมือง มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วน “การเมืองสามก๊ก” จะสามารถนิยามเป็นเฉดสีทางการเมือง “แดง-ส้ม-น้ำเงิน” ได้หรือไม่ “ณัฐวุฒิ” บอกว่าแล้วแต่คนจะอธิบาย
“พรรคภูมิใจไทย” สามารถขึ้นมาชิงการนำในก๊กอนุรักษนิยมนี้ได้หรือยัง “ณัฐวุฒิ” ระบุว่า “ผมยังเห็นไม่ชัด ผมว่าหลายๆ พรรคก็คงพยายามจะแสดงตรงนั้นอยู่ พรรคประชาธิปัตย์ก็มีสิทธิคิด เพราะนั่นคือที่เดิมของเขา นั่นคือบทบาทเดิมของเขาตั้งแต่ก่อตั้งพรรค เขายืนอยู่ตรงนั้น ถามว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ มีสิทธิคิดไหม ก็มี เพราะวันนี้อย่าลืมเขาคือพรรคการเมืองที่ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์มากที่สุดในฝั่งอนุรักษนิยมเดิม”
“ภูมิใจไทยมีสิทธิคิด เพราะภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ผมเชื่อว่าเดินไปเรื่อยๆ จะยิ่งชัด ว่ามันเป็นลักษณะสามก๊ก รูปการณ์ทางมวลชนที่ผมพูด”
อดีตแกนนำคนเสื้อแดงผู้นี้ผ่านการต่อสู้นอกสภาฯ เคยติดคุก ผ่านการเป็นเสนาบดี ผ่านนาทีเห็นการรัฐประหารโดยตรง “ณัฐวุฒิ” ขอเก็บความทรงจำระหว่างการต่อสู้ในอดีต
“ขึ้นชื่อมิตรภาพ กับเพื่อนมิตร กับพี่น้อง ผมไม่เคยขัดแย้ง ไปราวีกับใคร ถ้าคนเคยร่วมสู้ ร่วมเป็นร่วมตายกันมา แล้ววันหนึ่งจะเห็นไม่ตรงกัน ผมคิดว่าเราเลือกจะเก็บวันเวลา ที่ได้เคยเคียงข้างกัน เคยต่อสู้ด้วยกันเอาไว้ ดีกว่าจะทำให้เกิด วันเวลาใหม่ที่เผชิญหน้าหรือฟาดฟันกัน”
“ณัฐวุฒิ” พูดถึงเพื่อนร่วมรบมิตรเคยรักบนถนนการต่อสู้ของม็อบเสื้อแดงว่า “ผมเชื่อว่ามิตรภาพไม่มีเส้นแบ่งเรื่องพรรคการเมือง เรื่องฝ่ายหรือเรื่องสีเสื้อ”
"เยี่ยมใต้" ขายข้าวไม่ขายเพื่อน
"ณัฐวุฒิ" ใช้เวลาช่วงยุติบทบาทการเมืองก่อนหน้านี้ เปิดร้านอาหารเยี่ยมใต้ ที่ จ.นนทบุรี และขณะนี้มี 2 สาขา (สาขาปากเกร็ด จ.นนทบุรี และสาขา เดอะคริสตัลชัยพฤกษ์) กำลังหาพื้นที่ทำสาขาที่ 3 ซึ่งเขาบอกว่า อยากได้ทำเลในใจกลางเมืองหลวง ทั้งซอยอารีย์ ย่านทองหล่อ หรือสาทร แต่จนถึงนาทีนี้ก็ยังคงใช้ความพยายามในการหาทำเลแห่งใหม่อยู่
ถามว่า ร้านเยี่ยมใต้ไม่ปิดกั้นขั้วการเมืองใช่หรือไม่ "ณัฐวุฒิ" ตอบว่า "ไม่เคยอยู่แล้ว ตั้งแต่วันแรกที่เปิดร้าน ถ้าใครติดตามร้านเยี่ยมใต้ก็จะพบว่ามีบุคคลการเมืองจากทุกขั้วทุกสายทุกพรรค เป็นลูกค้า แล้วผมก็ต้อนรับทุกคนด้วยอัธยาศัยไมตรี เพราะว่า ผมทำหน้าที่ให้บริการ แล้วลูกค้าที่ร้านเป็นหน้าที่ ที่ผมต้องให้เกียรติเขา ผมเดินเข้าร้าน ผมไหว้ลูกค้าทุกโต๊ะ ไม่ว่าจะมาในสถานะใด ถ้าคนเยอะก็จะเก็บจานเอง เช็ดโต๊ะเอง เก็บแก้วเอง นี่เป็นเรื่องปกติ"
"ถ้าหากเป็นคนการเมืองไม่ว่าจะขั้วไหน พรรคไหนมา ผมก็นั่งพูดคุยกับเขาได้ เคยมีกรณีที่พูดกันไปมา คนที่มาด้วยกันเริ่มกะพริบตาถี่ๆ ใส่คนที่กำลังพูด แปลความภาษากายว่าอย่าพูดเยอะ ไอ้เต้นนั่งอยู่ คนละพวกกันทำนองนี้ ผมก็เลยบอกว่า นี่ท่าน สส.อย่ากังวล ที่นี่ ท่านจะพูดอะไรกัน ปรึกษากันพูดเลย"
"ผมบอกว่า ผมขายข้าว ผมไม่เคยขายเพื่อน เพราะฉะนั้น ท่านพูดอะไรไปไม่มีทางออกจากปากผม ไม่มีทางออกไปจากร้านนี้ เพราะว่าเป็นหน้าที่ที่ผมต้องดูแลลูกค้าของผม" นี่คือสัจจะของสุภาพบุรุษไพร่
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์