'รัศม์'ข้องใจม็อบเมินค้านMOU44 ยุคประยุทธ์ ย้ำผลเจรจาต้องเข้ารัฐสภา
“รัศม์” ย้อนถามแกนนำม็อบใครกันแน่ทำลายชาติ ข้องใจก่อนหน้านี้ไม่เคลื่อนไหวประท้วงค้าน MOU44 ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันรัฐบาลปัจจุบันดำเนินการไม่ต่างจากรัฐบาลในอดีต ย้ำผลเจรจาต้องให้รัฐสภาเห็นชอบก่อน
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2567 นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่มีอดีตแกนนำมวลชน ออกมาคัดค้าน และเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 (MOU44) ในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย และกัมพูชาว่า หากวันนี้จะประท้วง MOU44 กลุ่มดังกล่าวไปอยู่ที่ไหนมาถึงไม่ประท้วงก่อนหน้า โดยเฉพาะ 10 ปีที่ผ่านมาในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่แต่งตั้งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานคณะกรรมการเทคนิคร่วมฯ หรือ ประธานคณะเจรจา JTC และหากไม่ท้วงก่อนหน้า ย่อมแสดงว่า ในอดีตเคยยอมรับ แต่มาทำตอนนี้ก็ต้องถามว่า หลักการ ความน่าเชื่อถือ หรือเจตนาบริสุทธิ์อยู่ที่ใด
"หากใครบอกว่าไม่มีพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศอยู่จริง มีแต่เพียงเส้นอ้างสิทธิของฝ่ายไทยเท่านั้น เหตุใดในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ในฐานะอดีตหัวหน้า คสช.ที่มีอำนาจมหาศาล มีรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ในมือ สามารถสั่งได้ทุกอย่างจึงไม่รีบไปขุดก๊าซขึ้นมาสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติ ซึ่งนั่นก็เพราะว่า มันทำไม่ได้จริงหากไม่มีการเจรจาตกลงกับอีกประเทศก่อนนั่นเอง"
นายรัศม์ ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า หากการแบ่งผลประโยชน์ในไหล่ทวีป เพื่อนำก๊าซธรรมชาติใต้ทะเลมาใช้ สามารถสร้างความเจริญกินดีอยู่ดีให้ประชาชน ดังเช่นที่ไทยเคยทำกับมาเลเซีย การขัดขวางการเจรจากับกัมพูชาเพื่อนำก๊าซในทะเลมาใช้ได้นั้น ย่อมเท่ากับเป็นการขัดขวางการสร้างความเจริญ และทำลายโอกาสของประเทศชาติใช่หรือไม่ และในเมื่อในประกาศพระบรมราชโองการ 2516 ระบุไว้ชัดเจนว่า จะต้องเป็นไปตามที่จะได้ตกลงกัน ซึ่งย่อมหมายถึงจะต้องมีการเจรจา ดังนั้น ระหว่างผู้ที่ดำเนินการให้มีการเจรจา กับผู้ขัดขวางการเจรจา ใครกันแน่คือผู้ที่ไม่ทำตามเจตนารมณ์ของพระบรมราชโองการ และใครกันแน่ทำลายชาติ
นายรัศม์ ยังย้ำว่า MOU44 ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วัน แต่เป็นผลสืบเนื่องจากการเจรจาอย่างต่อเนื่องกับฝ่ายกัมพูชา ตั้งแต่ปี 2513 หรือกว่า 50 ปี หรือครึ่งทศวรรษมาแล้ว แต่ที่ยืดเยื้อนานมากเพราะปัญหาความไม่สงบ และการเมืองภายในของทั้งสองประเทศ ซึ่งนับตั้งแต่การเจรจา จนมีการลงนามทำ MOU ฉบับนี้ในปี 2544 เป็นต้นมา ทุกรัฐบาลก็ถือตามบันทึกความเข้าใจนี้มาโดยตลอด ไม่เคยมีรัฐบาลใดขอเจรจาเพื่อยกเลิกอย่างเป็นทางการ รวมถึงในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ดำเนินการตามนี้ พร้อมยังแต่งตั้งพล.อ.ประวิตร เป็นประธานคณะกรรมการเทคนิคร่วมฯ หรือ JTC ทำหน้าที่หัวหน้าการเจรจา ดังนั้นจึงยืนยันว่า การดำเนินการของรัฐบาลปัจจุบัน จึงไม่ได้แตกต่างไปจากทุกรัฐบาลในอดีตแต่อย่างใด อีกทัั้งแนวทางนี้ได้มีการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญโดยตรงมาแล้วอย่างละเอียดถี่ถ้วน เป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการปกป้องและเสริมสร้างผลประโยชน์ของประเทศชาติ
นายรัศม์ ยังย้ำอีกว่า การดำเนินการตาม MOU 44 ถือเป็นการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของประกาศพระบรมราชโองการการประกาศเขตไหล่ทวีปของไทยในปี 2516 ทุกประการ เพราะในพระบรมราชโองการมีข้อความระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “…เส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปนั้นจะเป็นไปตามที่จะได้ตกลงกัน...” ดังนั้นการเจรจาเพื่อนำไปสู่ความตกลงกัน จึงเป็นไปตามที่พระบรมราชโองการระบุไว้
ส่วนผลของการเจรจาตาม MOU 44 นั้น นายรัศม์ ย้ำว่า จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยรัฐสภาก่อน จึงจะมีผลตามกฎหมายได้ โดยที่รัฐบาลหรือบุคคลใดก็ตาม ไม่สามารถไปเจรจาตกลงเองตามลำพังได้ เพราะท้ายที่สุด ประชาชนไทยต้องเป็นผู้ให้ความเห็นชอบผ่านตัวแทน และกลไกของรัฐสภาอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ตามระบอบประชาธิปไตย และเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกับประเทศอื่นนั้น ไทยเราก็ได้เจรจาเช่นนี้สำเร็จมาแล้วกับมาเลเซีย รวมทั้งเจรจาเรื่องเขตทางทะเลกับเวียดนาม เรื่องเหล่านี้ จึงเคยมีการดำเนินการมาแล้วทั้งสิ้น และสามารถสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติในการนำพลังงานก๊าซธรรมชาติมาใช้ ดังในยุคโชติช่วงชัชวาลที่ไทยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก