ทางตัน '3 ร่างกม.ต้านรัฐประหาร' ลุ้นจัดระเบียบกองทัพ ไปไม่ถึงสุดซอย

ทางตัน '3 ร่างกม.ต้านรัฐประหาร' ลุ้นจัดระเบียบกองทัพ ไปไม่ถึงสุดซอย

ร่าง กม.จัดระเบียบราชการกลาโหม จุดเริ่มมาจากความต้องการปฏิรูปกองทัพ ทว่าการแปรความของเนื้อหา กลับกลายเป็น จงใจริบอำนาจทหาร ต้องติดตามว่า "สภา" จะกล้าเดินสุดซอยหรือไม่

KEY

POINTS

KeyPoint :

  • แนวคิดปฏิรูปกองทัพ ถูกแปรเป็นการ ยกร่างกฎหมาย เพื่อแก้ไข จัดระเบียบราชการกลาโหม
  • นำร่อง คือ พรรคประชาชน ที่เสนอร่างกฎหมายและสภาฯ พิจารณาแล้ว ช่วงส.ค.67 แต่ถูก สกัด โดย "รัฐบาล" ขอรับไปพิจารณาก่อน
  • ล่าสุด ครม. ส่งกลับมาและบอกขอให้ชะลอพิจารณาไว้ก่อน เพื่อรอ ร่างแก้ไขที่มีเนื้อหาเดียวกัน ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำโดย "กองทัพ"
  • ขณะที่ "เพื่อไทย" ชงร่างกม.จัดระเบียบกองทัพ แบบสุดซอย เหมือนชิมลางแรงต้าน
  • เท่ากับว่า ร่างกม.จัดระเบียบราชการกลาโหม มี3 ฉบับ แต่ต้องลุ้นว่า จะเข็นไปสุดซอย หรือ ถูกคุมกำเนิด

ประเด็นการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ…. ที่ล่าสุด สส.พรรคเพื่อไทย โดย “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” พร้อมคณะเพื่อนสส.พรรคเดียวกัน รวม 19 รายชื่อ ยื่นเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อสภาฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เพิ่งกลายเป็นเรื่องร้อน

ก่อนหน้านี้ ใกล้ปลายปี 2566 “พรรคประชาชน” เมื่อครั้งยังเป็นพรรคก้าวไกล ได้ยื่นเสนอร่างพ.ร.บ.นี้ต่อสภาฯ มาแล้ว

ตามข้อมูลในระบบสารสนเทศด้านนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ระบุว่า พรรคก้าวไกล โดย ร.อ.ท.ธนเดช เพ็งสุข พร้อมสส.ของพรรครวม 115 คน ยื่นเสนอ เมื่อ 21 ก.ค. 2566 ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็น และบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ เมื่อ 1 ม.ค.2567 และสภาฯ ได้พิจารณาวาระแรก เมื่อ 28 ส.ค.2567

ทางตัน \'3 ร่างกม.ต้านรัฐประหาร\' ลุ้นจัดระเบียบกองทัพ ไปไม่ถึงสุดซอย

ทว่า ก่อนที่สภาฯ จะลงมติว่ารับหลักการหรือไม่คณะรัฐมนตรีได้ขอรับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไปพิจารณาก่อน จากนั้นได้มีหนังสือตอบกลับมายังสภาฯ เมื่อ 25 ต.ค.2567 พร้อมกับแจ้งความเห็นของ ครม.ด้วยว่า 

ขอให้ชะลอการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ที่เสนอโดย สส.ไว้ก่อน เพื่อรอร่างกฎหมายของ ครม.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาไปพร้อมกัน

เท่ากับว่า “ครม.” เห็นด้วยในที ต่อร่างกฎหมายของ “พรรคประชาชน” ที่เขียนเนื้อหาปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการของกระทรวงกลาโหม และองค์ประกอบของสภากลาโหมในเชิงหลักการ

แต่บทสรุปของเรื่องอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะจากการรับฟังเสียงของ “หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” ทั้งกองทัพ สภาความมั่นคง กลับตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่รับหลักการ”

ดังนั้นต้องวัดใจ “สส.ฝ่ายรัฐบาล”ในสภาฯ ว่าจะเดินหน้าไปสุดซอย หรือทำทีเป็นเดินเข้าผิดซอย

ขณะเดียวกันนั้น กระทรวงกลาโหม ได้ยกร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ฉบับกองทัพ และขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น เช่นเดียวกับ ร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหม ฉบับสุดซอยของ สส.เพื่อไทย ที่ยังอยู่ในชั้นของการรับฟังความเห็น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 เช่นกัน

สำหรับสาระของร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหมทั้ง 3 ฉบับ หากพิจารณาเนื้อหาและสาระ พบว่า “ฉบับกองทัพ” กับ “ฉบับ(สส.)พรรคเพื่อไทย -พรรคประชาชน” มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในแง่ของ “อำนาจ”

 

โดยฉบับ พรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย ได้ลดบทบาทของ “กองทัพ” ที่จะเข้ามาจัดโผทหาร การแต่งตั้ง รวมถึงการสั่งการ อนุญาต อนุมัติ การปฏิบัติหน้าที่ และโยกให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของ “ฝ่ายการเมือง”

พรรคประชาชน เขียนให้เป็นสิทธิของ “รมว.กลาโหม” แต่ของพรรคเพื่อไทย เขียนให้เป็นสิทธิขาดของ “นายกรัฐมนตรี”

ทางตัน \'3 ร่างกม.ต้านรัฐประหาร\' ลุ้นจัดระเบียบกองทัพ ไปไม่ถึงสุดซอย

โดยเหตุผลที่พรรคเพื่อไทย เขียนไว้ในหลักการของการนำเสนอร่างกฎหมาย เพื่อ ต้องการ ขจัดเส้นสายของบรรดา “บิ๊กทหาร” ที่มักจะพบว่า สืบสายเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพจากคนก่อนหน้า ซึ่งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับนายทหารที่มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่ใช่พวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพ

ทั้งนี้ พรรคประชาชนยังเติมความในร่างกฎหมาย ให้การแต่งตั้ง “นายพล” ยึดระบบคุณธรรม และผู้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานกำหนด ทว่าไม่ได้ระบุรายละเอียดของมาตรฐานที่ว่าไว้

ตรงข้ามกับฉบับพรรคเพื่อไทย ที่เขียน “คุณสมบัตินายพล” ไว้ชัดเจน คือ

1.ไม่เคยมีพฤติกรรม เป็นผู้อิทธิพลหรือพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม 

ทางตัน \'3 ร่างกม.ต้านรัฐประหาร\' ลุ้นจัดระเบียบกองทัพ ไปไม่ถึงสุดซอย

2.ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม หรือประกอบธุรกิจหรือกิจการอันเกี่ยวข้องกับราชการกระทรวงกลาโหม 

3.ไม่อยู่ระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยหรือถูกดำเนินคดีอาญา เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หมิ่นประมาท หรือ ลหุโทษ

นอกจากนั้นแล้ว ยังควบคุมกองทัพให้สุดซอย ฉบับพรรคเพื่อไทย จึงเสนอแก้ไขประเด็นที่เป็นหัวใจในการใช้กำลังทหาร ขีดกรอบ “ห้ามทำ” ได้แก่

1.ยึดหรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาลหรือเพื่อก่อการกบฏ

2.ห้ามขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ราชการส่วนราชการต่างๆ

3.ห้ามใช้เพื่อธุรกิจหรือกิจการอันเป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา

และ 4.กระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายอื่นๆ

ทั้งนี้ ได้กำหนดด้วยว่า ข้าราชการทหารที่ได้รับคำสั่งให้ทำ ย่อมมีสิทธิไม่ปฏิบัติตาม และไม่ถือว่าผิดวินัยทหารหรือกฎหมายอาญาทหาร พร้อมกับได้เติมเนื้อหาใหม่ เพื่อตรวจสอบ “นายทหาร” ใช้สั่งให้ใช้กำลังทหาร ตามข้อห้าม โดยยกอำนาจให้ “นายกฯ” ตามความเห็นชอบของ “ครม.” สั่งให้นายทหารผู้นั้น หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ชั่วคราว เพื่อสอบสวนโดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการพักราชการตามที่กฎหมายกำหนด

ทางตัน \'3 ร่างกม.ต้านรัฐประหาร\' ลุ้นจัดระเบียบกองทัพ ไปไม่ถึงสุดซอย

ทั้งนี้ในสาระสำคัญของมาตรา 35 ที่เสนอแก้ไขนั้น ย้ำความสำคัญคือ เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารได้ใช้อำนาจในทางที่ผิดและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ขณะที่พรรคประชาชน แม้จะแสดงท่าทีเป็น “ขั้วตรงข้าม” ทหาร กลับไม่กล้าเสนอเนื้อหาที่ฮาร์ดคอร์ เท่ากับพรรคเพื่อไทย ที่เขียนกฎหมาย “ริบอำนาจกองทัพ” ที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดี ในแง่การริบอำนาจนั้น พรรคประชาชนได้เขียนไว้เฉพาะการ “จัดซื้ออาวุธ” แต่ไม่ได้ริบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ เพราะเพียงแค่ขีดกรอบให้จัดซื้อได้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นยิ่งยวด ประหยัด มาตรฐานขีดความสามารถการรบ พร้อมกำกับให้ดำเนินการโดยสุจริต โปร่งใส เปิดเผย ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน

ทางตัน \'3 ร่างกม.ต้านรัฐประหาร\' ลุ้นจัดระเบียบกองทัพ ไปไม่ถึงสุดซอย

ขณะที่มาตรการกำกับการใช้งานกองทัพ พรรคประชาชนระบุว่า ต้องเป็นไปตามมติ “ครม.” แทน “ความเห็นชอบของสภากลาโหม” ส่วนของสภากลาโหมนั้น โดยคงให้ “ผบ.ทุกเหล่าทัพ” ร่วมเป็นสภากลาโหม ร่วมกับ รมว.กลาโหม ที่เป็นประธานสภากลาโหม และมีรมช.กลาโหมร่วมด้วย 

นอกจากนั้น เพิ่ม สมาชิกสภากลาโหมจากบุคคลภายนอก 5 คน ตามมติของ ครม.และให้มีเลขานุการที่มาจากการแต่งตั้งของ “รมว.กลาโหม” เท่ากับว่า สัดส่วนของสภากลาโหมนั้น จะมาจากฝ่ายการเมือง ที่มาโดยตำแหน่งและแต่งตั้ง 8 คน ขณะที่จากทหาร มี 5 คน

ขณะที่เนื้อหาของพรรคเพื่อไทย กำหนดบทเปลี่ยนแปลงสภากลาโหม โดยให้ “ฝ่ายการเมือง” คือ “นายกฯ” เป็นประธานสภากลาโหม พ่วงด้วย รมว.กลาโหม ขณะที่สัดส่วนนายทหาร แม้จะมีมากกว่า แต่อำนาจตัดสินใจสุดท้าย “ฝ่ายการเมือง” ยังคงรวบไว้ที่ตนเอง ทั้งการแต่งตั้งนายพล การใช้กำลังทหาร ในเชิงปราบจลาจล-งานการเมือง

ทางตัน \'3 ร่างกม.ต้านรัฐประหาร\' ลุ้นจัดระเบียบกองทัพ ไปไม่ถึงสุดซอย

สำหรับร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ฉบับกองทัพ ได้เขียนเพื่อกระชับอำนาจให้หน่วยงานของตนเอง ทั้งนี้ในแง่การใช้กำลังทหารเพื่อปราบปรามจลาจลนั้น ได้เพิ่มเติมเนื้อหาใหม่ คือ

การป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามความผิดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือการก่อการร้าย ที่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารเพื่อระงับเหตุโดยเร็ว เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของชาติ ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกระทรวงกลาโหม พร้อมกับเขียนให้มี “ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์” ให้กับข้าราชการกระทรวงกลาโหมที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อความมั่นคงของประเทศ

รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณของกองทัพ ได้เขียน ให้ต้องผ่านมติของสภากลาโหม แทนการพิจารณาโดยตรงของรมว.กลาโหม

นอกจากนั้น ยังกำหนดให้มี “คณะผู้บัญชาการทหาร” หรือ “บอร์ดทหาร” เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา รมว.กลาโหม ในเรื่องเตรียมกำลัง สั่งการใช้กำลัง หรือเคลื่อนกำลังทหาร รวมถึงควบคุมอำนวยการยุทธ์ในภาพรวม ควบคุมบัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจ ที่ตั้งขึ้นกรณีมีสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อย

ประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำหน้าที่ประธาน มี ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และเสนาธิการทหาร

มาถึงจุดนี้ เมื่อจับอาการของฝ่ายการเมืองที่เห็นต่าง โดยเฉพาะระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่เพื่อไทยก็ยังมีอาการกั๊กๆ เกรงๆ เมื่อ สส.ประยุทธ์ ชี้แจงล่าสุดว่า จะถอนร่างออกไปเพื่อปรับเนื้อหาสาระ ก่อนส่งกลับเข้ามาใหม่แน่นอน ส่วน “นายใหญ่” ก็เล่นบท “พี่สอนน้อง” ไม่อยากประดาบกับกองทัพ 

ดังนั้น จึงต้องรอลุ้นกันว่า ร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ทั้ง 3 ฉบับที่อยู่ระหว่างดำเนินการนั้น จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ได้หรือไม่ และเมื่อใด และเมื่อผ่านการพิจารณาแล้ว จะตอบโจทย์สังคมที่ต้องการให้ปฏิรูปกองทัพอย่างแท้จริงหรือไม่.